นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา แก้ปัญหาเมืองด้วย ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’

ความสำเร็จของระบบนี้ คือ ความร่วมมือของประชาชน และ ความตั้งใจจริงของภาครัฐ

ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) คือ ระบบแจ้งเหตุและติดตามปัญหาของเมือง ด้วยเทคโนโลยี Geographical Information System (GIS) เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถแจ้งเหตุรายงานปัญหาที่พบเจอได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ

ใช้งานง่ายๆ ด้วยการแอดไลน์ “เพื่อนชัชชาติ” https://lin.ee/CoxpWSN แล้วคลิกที่หัวข้อ “รายงานปัญหาของเส้นเลือดฝอย” ระบุรายละเอียดของปัญหาที่พบเจอ พร้อมถ่ายภาพ และส่งพิกัดโลเคชัน โดยจะมี chatbot หรือระบบโต้ตอบอัตโนมัติพูดคุยด้วยในเบื้องต้น

ปัญหาที่ประชาชนสามารถแจ้งได้มี 16 ด้านหลัก คือ ไฟฟ้า/แสงสว่าง ประปา จราจร/รถยนต์ ถนน ทางเท้า ระบบสื่อสาร กลิ่น เสียง ความสะอาด ความปลอดภัย ต้นไม้สาธารณะ อาคารชำรุด ห้องประชุม ระบบปรับอากาศ และเรื่องเกี่ยวกับสัตว์

ข้อมูลการแจ้งเหตุจะถูกส่งต่อไปยังฐานข้อมูลของ กทม. ซึ่งจะมีระบบรวบรวมปัญหา จัดทำสถิติ จัดลำดับความสำคัญและส่งต่อไปยังผู้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินการแก้ปัญหา จุดเด่นที่สำคัญคือ ผู้แจ้งเหตุสามารถที่จะติดตามอัปเดตการแก้ปัญหาเหล่านั้นว่าแล้วเสร็จเมื่อไหร่อย่างไร

“เมื่อก่อนใช้ระบบท่อ คือเรื่องมาถึงผู้ว่าฯ ผู้ว่าสั่งรองฯ สั่งต่อไปตามหน่วยงาน แต่ระบบแพลตฟอร์มนี้เหมือนหน้ากระดาน ใครมีอะไรก็โยนเข้ามา ใครอยู่ใกล้ก่อน ใครก็จัดการหยิบไปทำได้เลย ไม่ต้องรอสั่ง ทำให้การแก้ปัญหาของราชการมีประสิทธิภาพขึ้น ไม่ต้องลงทุนเยอะก็ทำได้

หัวใจของความสำเร็จของระบบนี้ คือ ความร่วมมือของประชาชน ความตั้งใจจริงของภาครัฐในการแก้ปัญหา การพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้เพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีของเราทุกคน”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทำงาน ยังไง ดำเนินการถึงไหนแล้ว?

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 มีผู้แจ้งเรื่องแจ้งเหตุมายังระบบ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” แล้ว 44,168 เรื่อง รอรับเรื่อง 5,622 เรื่อง อยู่ระหว่างการดำเนินงาน 17,565 เรื่อง ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว 6,415 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 14,731 เรื่อง

สำหรับเขตที่รับช่วงต่อในการรับเรื่องแล้วนำไปดำเนินการแก้ไขได้ดี เช่น เขตจตุจักร เขตบางเขน ระบบนี้ทำให้เห็นว่า เขตไหนดำเนินการรวดเร็ว เขตไหนล่าช้า ทำให้ฝ่ายนโยบายสามารถเข้าไปช่วยดูแลเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นอุปสรรคได้ ทั้งนี้อาจมีบางปัญหาที่เป็นการแก้ชั่วคราว เช่น หาบเร่แผงลอย มีการหมุนเวียนเปลี่ยนที่ค้าอยู่บ่อยครั้ง อาจมีการแก้ไขปัญหาแล้วแต่ปัญหาเกิดขึ้นใหม่ซ้ำ ในอนาคตจะเพิ่มเติมฟีเจอร์ ที่ระบุได้ว่าเป็นปัญหาชั่วคราว เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีความผิดพลาดในระบบ

“หลายเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา อยู่เหนืออำนาจ กทม. ในการจัดการ สำนักงานเขตสะท้อนมาก็เลยมีอีกช่องเพิ่มคือ ช่อง ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งเราได้แยกออกจากสิ่งที่ดำเนินการได้ และส่วนที่ต้องส่งต่อ ซึ่งเราก็จะมีลิสต์ว่าส่งต่อไปที่หน่วยงานไหนบ้าง”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

บางเรื่องเช่น ท่อน้ำแตก เป็นเรื่องของการประปา แต่ กทม. จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้จะต้องรับเรื่องและส่งต่อให้หน่วยงานที่รับปิดชอบดำเนินการ เพราะประชาชนไปแจ้งเองเป็นเรื่องยาก

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุว่า ในอนาคตมีแผนที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในระบบ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ของ กทม. ด้วย เช่น การไฟฟ้าฯ เพื่อทำให้ลดอุปสรรคในการดำเนินงานแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานเหล่านั้นทำงานได้สะดวกมากขึ้นด้วย ในลักษณะเดียวกับสำนักงานเขต ที่เห็นปัญหาและหยิบไปแก้ไขได้เลย

พร้อมย้ำว่า “หากทำได้ทั้งประเทศก็จะสุดยอดเลยที่หน่วยงานราชการจะทำงานเองได้ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งการ สิ่งนี้จะปรับปรุงระบบราชการได้ดีมากเลย”

“การทำงานที่ไม่ต้องใช้การลงทุนมาก ทุกคนมาล้วงเอาเรื่องไปแก้ปัญหาได้ ขึ้นอยู่กับความขยันกระตือรือร้นของแต่ละเขต และเราจะเห็นเลยว่าเขตนี้เรื่องค้างกี่เรื่อง เขตนี้สั่งไปที่ฝ่ายแล้ว ฝ่ายค้างกี่งาน ฝ่ายสั่งไปที่คนนี้แล้วคนนี้ทำหรือยัง จะเห็นได้ว่าแต่ละคนมีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าไหร่ และเราจะได้ช่วยเขาให้ทำงานได้เร็วขึ้น”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ขยายผลการใช้งานระบบ Traffy Fondue ไปสู่เทศบาลและ อบต. ทั่วประเทศภายใน 2 ปี

ระบบ Traffy Fondue เปิดใช้งานเมื่อ ปี 2561 นำร่องที่ จ.ปทุมธานี ปัจจุบันมีหน่วยงานที่นำระบบนี้ไปใช้แล้วจำนวนมาก เป็น เทศบาล 357 แห่ง อบต. 350 แห่ง หน่วยงานในสังกัดป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 96 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมอีก 12 แห่ง นอกจากนี้ Traffy Fondue ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2564 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เตรียมขยายผลการใช้งานระบบ Traffy Fondue ไปสู่เทศบาลและ อบต. ทั่วประเทศภายใน 2 ปีข้างหน้า 

นอกจาก นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนระบบร้องเรียนเพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาของคนเมืองสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว อีกประเด็นที่ กทม. ให้ความสำคัญคือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลหรือ Open Data ที่เปิดให้ประชาชนมาร่วมตรวจสอบ เริ่มตั้งแต่เรื่อง งบประมาณประจำปี เพื่อดูว่าแต่ละสำนักถูกจัดสรรไปเท่าไหร่ ใช้งบฯ คุ้มค่าหรือไม่

Open Bangkok Open Data

“เมืองจะฉลาดได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเปิดเผยข้อมูล เพราะว่าประชาชนสามารถตัดสินใจและเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้”

ศานนท์ กล่าวว่า รูปแบบของไฟล์มีความสำคัญที่จะช่วยให้นำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น ไฟล์ประเภท CSV Excel เพื่อให้ประชาชนพิจารณาได้ว่ามีการจัดสรรทรัพยากรของราชการอย่างไร เรื่องสำคัญล่าสุดที่มีการเปิดเผยให้ประชาชนเข้าไปดูได้คือ ร่างงบประมาณกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ซึ่งจะใช้ในเดือนตุลาคม ปี 2565 ได้เผยแพร่สาธารณะแล้ว ประชาชนสามารถดูได้ว่าสำนักไหนได้รับการจัดสรรงบประมาณฯ เท่าไหร่

เช่น สำนักการโยธา ได้รับ 7.9 พันล้านบาท สำนักสิ่งแวดล้อม 5.5 พันล้านบาท สำนักการระบายน้ำ 5.5 พันล้านบาท สำนักการแพทย์ 1.9 พันล้านบาท นอกจากจำนวนเงินยังแสดงให้เห็นประเภทของงบประมาณ เช่น งบลุงทุน งบครุภัณฑ์ ฯลฯ

สามารถติดตามดูข้อมูลร่างงบประมาณประจำปี 2566 ของกรุงเทพมหานคร เว็บไซต์ BMA กรุงเทพมหานคร หรือในรูปแบบวิชวลออกแบบโดย Punch Up ที่ BKK Budget 66

“เรื่องนี้ก็เป็นไปตามนโยบายตอนหาเสียง และต่อไปนี้จะออกเป็นคำสั่งผู้ว่าฯ ว่าต่อไปนี้ข้อมูลทั้งหมดให้เก็บอยู่ในไฟล์ที่อ่านได้ง่ายเป็น machine readable ทำเลียบแบบนโยบายของประธานาธิบดีโอมบาม่า เชื่อว่าสามารถทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพฯ
Image Name

กทม. จับมือ DGA และ ก.พ.ร. เพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้วยระบบดิจิทัล

วันที่ 20 มิ.ย. 65 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ประชุมความร่วมมือด้านบริการดิจิทัล ภาครัฐ ร่วมกับ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) (DGA) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) โดยที่ประชุมพูดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การเพิ่มความโปร่งใส และลดขั้นตอนต่างๆ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการทำกระบวนการต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้การบริการประชาชนดีขึ้น ลดการใช้ดุลยพินิจของบุคคล และพยายามเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้มากขึ้น

เรื่องแรก Open Data เป็นการนำข้อมูลต่างๆ เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ DGA มีเว็บไซต์ที่สามารถลิงค์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้ามาค้นหาข้อมูลได้ วันนี้ กทม.จึงเริ่มวันแรกด้วยการนำข้อมูลงบประมาณประจำปี 2566 เปิดเผยขึ้นเว็บไซต์ กทม.พร้อมลิงค์ไปที่เว็บไซต์ของ DGA เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลงบประมาณว่าใช้เกี่ยวกับอะไร รวมทั้งเรื่อง Open Contract โดยนำสัญญาต่างๆ ที่เปิดเผยได้มาเปิดเผยเพื่อให้เห็นความโปร่งใสและแนวทางว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ก็มีแอพพลิเคชันที่ Consul ที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและโหวตในเรื่องต่างๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความโปร่งใส

เรื่องที่ 2 สิทธิประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถตรวจสอบในเรื่องของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยคนพิการได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งมีการเชื่อมข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ ขณะเดียวกันก็มีระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการขอใบอนุญาตต่างๆ ทางออนไลน์ ซึ่งต่อไปจะรวมถึงเรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้างด้วย สามารถทำให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณาและสามารถขออนุญาตออนไลน์ได้

เรื่องที่ 3 การพัฒนาเอกสารหลักฐานทางการศึกษารูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพทุกแห่ง โดยต่อไปคนที่เรียนจบจะได้รับ Digital Transcript ไปสมัครงาน หรือเรียนต่อ ได้อย่างสะดวกและไม่ถูกปลอมแปลงเอกสาร

เรื่องที่ 4 การสนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรกรุงเทพมหานครด้านดิจิทัล DGA จะร่วมสนับสนุน อาจมีการจัดแคมป์ร่วมกันเพื่อพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ GDA มีแหล่งเรียนรู้สำหรับข้าราชการกรุงเทพมหานครทุกคนที่จะเข้ามาพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง ด้าน ก.พ.ร. ก็มีหลายโครงการที่กทม. เข้าร่วมได้ อาทิ โครงการประกวดประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การจัดการขยะที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการได้ทันที และจะมีการหารือกันทุกเดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ

“ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญที่เป็นการใช้งบประมาณไม่มาก แต่ว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตซึ่งสามารถทำให้เป็น One Stop Service หรือ Super license ที่สามารถขอใบอนุญาตหลายใบในครั้งเดียวโดยไม่ต้องทำหลายกระบวนการ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือผู้ที่อยากจะทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รวมทั้งเป็นการ เพิ่มความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง ขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการโครงการพัฒนาระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือ One Stop Service ให้ประชาชนใช้บริการขอใบอนุญาตออนไลน์ คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนในช่วงปลายปี 65

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้