สภาผู้บริโภค ขีดเส้น 7 วัน จี้ผู้รับเหมา ถ.พระรามที่ 2 แก้ 3 เรื่องด่วน!

เสนอให้เร่ง สูบน้ำท่วมขังออกจากชุมชน, ยกระดับความปลอดภัยคืนพื้นผิวการจราจรบางส่วน, ติดป้ายผู้รับผิดชอบโครงการ ระบุวันแล้วเสร็จ เล็งเสนอกฎหมาย ควบคุมความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการ ทำประกันชีวิตแก่บุคคลที่ 3 ไม่ต้องให้ชาวบ้านฟ้องเรียกค่าเสียหายหากเกิดผลกระทบ แก่ชีวิต หรือบาดเจ็บ จากการก่อสร้าง 

วันนี้ (30 ก.ย.66) สภาองค์กรของผู้บริโภค ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบบริเวณชุมชนริมถนนพระรามที่ 2 เพื่อรับฟังชาวบ้านสะท้อนปัญหาโครงการก่อสร้างที่ยาวนานไม่มีกำหนดแล้วเสร็จ 

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค บอกว่า การก่อสร้างทางยกระดับถนนพระรามที่ 2 เป็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน รวมถึงมีผู้เดือดร้อนจาก จ.สมุทรสงคราม บางส่วน ชาวบ้านได้สะท้อนปัญหา คือ เกิดน้ำท่วมขังจากก่อสร้าง และชุมชนอยู่ติดกับการก่อสร้างได้รับผลกระทบจากทั้งปัญหาฝุ่นอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่มักมีสิ่งของร่วงลงมา และการจราจรเข้าออกไม่สะดวก ความปลอดภัยของการเดินทางต่าง ๆ ขณะที่โครงการก่อสร้างทั่วไปจะมีป้ายรายละเอียดโครงการระบุชื่อโครงการ วันเริ่มก่อสร้าง และวันก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระรามที่ 2 ไม่มีป้ายดังกล่าว

ภายหลังรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากชาวบ้าน เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ขีดเส้น 7 วันขอให้ผู้รับเหมาเร่งแก้ปัญหา 3 เรื่องซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือ 1. ให้สูบน้ำที่ท่วมขังในชุมชนออก 2. ยกระดับความปลอดภัยการเดินทางของประชาชน เก็บกวาดคืนพื้นที่การจราจรบางส่วน แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และ 3. ติดป้ายรายละเอียดโครงการว่าเป็นของบริษัทใด หากเกิดปัญหาต้องติดต่อใครกำหนดวันส่งมอบงานวันไหน 

“ให้ชาวบ้านช่วยกันจับตาว่าผู้รับเหมาจะแก้ไขปัญหา 3 เรื่องนี้ภายใน 7 วันหรือไม่ หากไม่พบความเปลี่ยนแปลงใดใด ให้แจ้งได้ทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคและ สส., สก. ที่มาลงพื้นที่ในวันนี้ได้เลย”

สารี อ๋องสมหวัง

ส่วนในระยะยาว เสนอว่า การก่อสร้างควรมีแผนจัดการความปลอดภัย ต้องมีกฎหมายมาควบคุมเรื่องนี้โดยเฉพาะ อาจสร้างโครงการไปทีละครึ่ง มีทางเบี่ยงที่ชัดเจน และอยากเห็นความปลอดภัยการเดินทาง โดยเฉพาะโครงการถนนพระรามที่ 2 เกิดอุบัติเหตุปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง แต่ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน จึงเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จ ไม่ยืด ไม่ขยายเวลา หากมีกรณีเสียชีวิต หรือบาดเจ็บ บริษัทควรรับผิดชอบ โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องไปฟ้องคดีเอง ทั้งยังเสนอด้วยว่า โครงการต่อ ๆ ไป ส่วนหนึ่งของสัญญาก่อสร้างให้มีประกันชีวิตแก่บุคคลที่ 3 ไม่ต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายหากเกิดผลกระทบความเดือดร้อน ถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บ

ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร บอกว่า หากมองด้วยตาเปล่าในระดับพื้นดิน จะเห็นได้ว่าผู้รับเหมาวางของเละเทะ กระจัดกระจาย ซึ่งสามารถเก็บของเหล่านี้เพื่อคืนผิวการจราจรได้ ควรเหลือพื้นที่ถนน 2 เลน ซึ่งสามารถทำได้ทันที และหากเงยหน้ามองขึ้นไปด้านบน จะพบว่า การก่อสร้างล้ำมาบนถนน ถ้ามีอะไรหล่นลงมาก็จะไม่ปลอดภัย และเกิดอุบัติเหตุ แม้ว่าจะนำสแลนสีเขียว มาหอหุ้มไว้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ส่วนเครนไม่ควรอยู่นอกไซด์งานก่อสร้าง อีกเรื่องคือมีสายไฟระโยงระยาง ควรเก็บให้เรียบร้อยจะได้ไม่เกิดไฟช็อต โดยสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ทันทีเช่นกัน โดยไม่ต้องเสียงบประมาณ

ขณะที่ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กรุงเทพฯ เขตจอมทอง พรรคก้าวไกล, สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย และ สารัช ม่วงศิริ สก. เขตบางขุนเทียน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลงพื้นที่มาพร้อมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค รับปาก จะนำปัญหาและผลกระทบรวมถึงข้อเสนอทางออกเหล่านี้ ไปหารือขับเคลื่อนในระดับนโยบาย ทั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎร และสภากรุงเทพมหานคร 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active