‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ขอ รมต.พาณิชย์ เปิดทาง ตรวจสอบข้าว 10 ปี

อาสาฟอร์มทีมตรวจข้าวเก่า ในโกดัง โรงสีทั่วประเทศ ยึดหลักเกณฑ์สินค้าส่งออก ชี้หากพบไม่ได้คุณภาพ เจอสารตกค้าง สารก่อมะเร็ง รัฐต้องยุติประมูลทันที

วันนี้ (14 พ.ค. 67) สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายฯ ออกแถลงการณ์ “สภาผู้บริโภค พร้อมเป็นตัวแทนผู้บริโภค ตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร 10 ปี” จากกรณี องค์การคลังสินค้าเตรียมเปิดประมูลข้าวสารหอมมะลิล็อตสุดท้าย จำนวน 15,000 ตัน จากโครงการจำนำข้าว ปี 2557 จนเกิดการตั้งคำถามถึงความปลอดภัย

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลจาก รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เปิดเผยผลการตรวจสอบข้าวด้วยชุดทดสอบ 3 ครั้ง โดย 1 ใน 3 ครั้ง พบสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

ทั้งนี้ทาง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้เป็นตัวแทนประชาชนตรวจสอบกรณีดังกล่าวใน 5 ประเด็น ได้แก่

  1. ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าวในมาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และประกาศผลให้สาธารณชนรับทราบ

  2. ขอให้ยับยั้งการประมูลข้าวเก่า 10 ปีนี้ของรัฐให้แก่ทั้งภาคเอกชน หรือกองทัพ ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคหรือการเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนการจำหน่ายถ่ายเทจากโกดังไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตามจนกว่าจะได้ผลการยืนยันจากห้องทดลอง

  3. หากผลทดสอบพบว่าเป็นข้าวคุณภาพดี อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นตัวแทนร่วมกับรัฐในการหาแนวทางการประมูล โดยบริษัททำการประมูลต้องมีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะนำข้าวไปขายอย่างไร และตรวจสอบประวัติของผู้เข้าร่วมประมูลอย่างเข้มงวดว่ามีศักยภาพเพียงพอในการบริหารจัดการได้หรือไม่ และต้องมีการระบุรายละเอียดของข้าวในบรรจุภัณฑ์ว่าเป็นข้าวจากโครงการจำนำข้าว พร้อมระบุวันหมดอายุ และวิธีการหุงรับประทานที่เหมาะสม

  4. หากพบว่าข้าวเสื่อมสภาพ ขอคัดค้านการประมูลไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคหรือเพื่อเป็นอาหารสัตว์ก็ตาม แต่หากสามารถนำมาแปรรูปได้ ขอให้ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นตัวแทนประชาชนร่วมกับรัฐในการวางแผน และติดตามผลการดำเนินการต่อไป

  5. หากพบว่าข้าวไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ หรือหากทำได้แต่ไม่มีผู้ประมูล ขอให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนประชาชนร่วมกับรัฐในการกำจัดข้าวทั้งหมดเพื่อความโปรงใสและต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ตอบรับคำเรียกร้องและทำหนังสือด่วนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ขอเข้าเก็บตัวอย่างข้าวสารจากโรงสี และโกดังทุกแห่งเพื่อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรอง ISO 17025 ตามมารตฐานการส่งออก

  2. หากได้ผลการทดสอบแล้ว ขอเชิญกระทรวงพาณิชย์มาแถลงข่าวร่วมกัน

  3. หากผลการตรวจสอบยืนยันว่ามีสารเคมีตกค้าง ขอให้ยุติการจำหน่ายไม่ว่าจะในประเทศหรือนอกประเทศ เพราะความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

  4. หากรัฐจะนำข้าวไปแปรรูปที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคหรือส่งผลกระทบต่อวงจรอาหารและสิ่งแวดล้อมก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลทดสอบ

สารี ยังระบุด้วยว่า ได้ประสานกับห้องปฏิบัติการไว้แล้ว หากมีตัวอย่างสำหรับทดสอบก็จะทราบผลได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าถึงการเก็บตัวอย่างข้าวจากทุกแหล่งทั้งโกดัง และโรงสี เพื่อมอบความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย

ขณะที่ ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ระบุว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ครบถ้วนก่อนบริโภค กรณีข้าวเก่าเก็บนาน 10 ปี ย่อมมีคุณภาพลดลง และการเก็บรักษาต้องมีกระบวนการการกำจัดเชื้อราและความชื้นด้วยสารเคมีที่อาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

สารที่อาจตกค้าง เช่น เมทธิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าส่งผลกระทบต่อระบบพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตและสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง รวมถึงสาร อลูมิเนียมฟอสไฟด์ (Aluminium phosphide) หรือ ฟอสฟีน (Phosphine) สำหรับการกำจัดรามอดด้วย

รวมถึงหากมีการใช้สารรมยาที่ไม่ทั่วถึง เพราะกระสอบข้าวที่วางเรียงซ้อนกัน อาจเสี่ยงทำให้เกิดเชื้อราที่ผลิตสาร อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) อันเป็นสาเหตุของมะเร็งตับและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

โดยความคืบหน้าตอนนี้ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังไม่ได้รับการตอบรับข้อเรียกร้องจากกระทรวงพาณิชย์ จึงยังไม่สามารถนำข้าวดังกล่าวมาตรวจสอบได้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐ เพราะนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคที่จะต้องมีหลักประกันความปลอดภัยทางสุขภาพด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active