‘นิมิตร์’ แนะทุกฝ่ายคุยแก้ปัญหาให้ชัด หลังงบฯ บัตรทอง กทม. ไม่เพียงพอ

วอนรัฐบาลเป็นคนกลาง อย่าปล่อยให้ คลินิก – สปสช.​ ทะเลาะกันเอง ยอมรับกังวล นโยบายรักษาทุกที่เดินต่อยาก ขณะที่ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ค้าน ‘หมอชลน่าน’ ตั้ง Provider Board  

จากกรณีปัญหาการจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยบัตรทองจนทำให้คลินิก – โรงพยาบาลใน กทม. ติดลบกว่าพันล้านบาท แม้ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดตั้ง Provider Board (คณะกรรมการผู้ให้บริการ) โดยมอบให้ สปสช. ยกร่างให้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ ของ สปสช. เสนอเข้าบอร์ดพิจารณา

แต่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้แสดงจุดยืนขอคัดค้านการจัดตั้งบอร์ดผู้ให้บริการ ที่ไม่ควรจัดตั้งผ่านคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะอาจขัดหลักการและผิดเจตนารมณ์ของระบบสิทธิบัตรทอง และอาจทำให้ระบบการรักษาสุขภาพดังกล่าวถูกภาครัฐกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่มีเสียงของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพ 

ทั้งนี้ หากต้องการเดินหน้าจัดตั้งบอร์ดผู้ให้บริการจะต้องจัดตั้ง บอร์ดผู้รับบริการ หรือ Consumer Board ที่เป็นของภาคประชาชนด้วย โดยจะต้องจัดตั้งผ่านกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมกำกับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพของประเทศไทย 

พร้อมทั้งย้ำชัดถึงหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) จะต้องยึดถือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ คือ ประชาชน ซึ่งสะท้อนได้จากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กำกับคุณภาพและมาตรฐานของบัตรทองในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงท้องถิ่น มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ถึงแม้สัดส่วนประชาชนจะจำกัดและน้อยกว่า แต่ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีในการเฝ้าระวังและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน

ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยกับ The Active ว่า กลุ่มผู้ให้บริการก็อยู่ในกลไกต่อรองในระบบที่คุยกันถึงเรื่องราคา เกณฑ์การจ่ายอยู่แล้ว ก็ใช้กลไกภายในที่มีส่วนร่วมกันทุกฝ่ายมาคุยกันว่า ราคาจ่ายไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในกรุงเทพฯ 

“คลินิกฯ สามารถที่จะเข้ามาปรึกษาหารือหลักเกณฑ์ด้วยกันได้ตามบทบาทหรือการมีส่วนร่วมตามที่คลินิกในฐานะผู้ให้บริการอยู่ในระบบ  ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ควรส่งผลกระทบต่อการให้บริการของประชาชน” 

นิมิตร์ เทียนอุดม

นิมิตร์ ยังบอกอีกว่า ในปีงบประมาณ 2567-2568 ถ้าคลินิกให้บริการไปตามปกติ ก็ไม่ควรจะกระทบกับการให้บริการประชาชน ส่วน ปีงบประมาณ 2566 บอร์ด สปสช. ให้ชะลอการหักลบกลบหนี้กันไปก่อน คลินิกก็ให้บริการไปตามปกติ แล้วก็เบิกจ่ายกันตามปกติ เพราะว่าขึ้นปีงบประมาณใหม่แล้ว 

ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบัตรทองรักษาทุกที่ ของหน่วยบริการเอกชน อื่น ๆ หรือไม่ ก็ยอมรับว่ากังวล ซึ่งตามโครงสร้างแล้ว 3 กลุ่มองค์ประกอบในระบบสุขภาพ ต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ระบบจึงจะเดินไปได้ คือ 

  1. ผู้ให้บริการ คลินิกฯ โรงพยาบาล จะต้องได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ มีกำไรพอสมควร ก็ต้องดูว่าระบบการจ่าย จะจ่ายอย่างไร 

  2. ผู้ซื้อบริการ  สปสช. เป็นคนพัฒนาระบบการจ่ายเงิน จะมีระบบการจ่ายเงินแบบไหน ที่การันตีว่าประชาชนจะได้รับบริการ และเป็นธรรมกับผู้ให้บริการ ซึ่งต้องพึ่งพากัน

  3. ผู้รับบริการ ภาคประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ มีหน่วยบริการเข้ามาในระบบมากเพียงพอต่อความสะดวกในการเข้ารับบริการ แล้วก็ควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน ไม่ถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม 

“3 ส่วนนี้ต้องบาลานซ์กันให้ได้ ถ้าระบบเงินไม่พอ ทั้งสามส่วนนี้ก็ต้องประสานกัน และคุยกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูว่าจัดสรรงบประมาณอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกระบบ” 

นิมิตร์ เทียนอุดม

นิมิตร์ บอกด้วยว่า รัฐบาลควรต้องดูว่าการใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพ ในระบบไหนมากกว่าระบบไหน และระบบไหนจ่ายน้อยจนไม่เกิดความเป็นธรรม ต้องมานั่งคุยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ คลินิก มาทะเลาะ กับ สปสช.​

รัฐบาลก็ต้องลงมาช่วยดูการจัดสรรงบประมาณ ที่จะสนับสนุนระบบอย่างเป็นธรรม และไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันเองภายในระหว่าง คนที่ต้องบริหารจัดการระบบ หรือต้องให้บริการกับประชาชน  

และที่สำคัญบทบาทของ คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด ที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน คงต้องมาดูเรื่องนี้ เพราะถ้าเป็นนโยบายรัฐที่จะใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ก็ต้องเข้ามาดูแล้วว่า จะมีระบบการจัดสรรงบประมาณอย่างไร จะมีการกำหนดเรทราคากันอย่างไร จ่ายแบบไหนที่จะทำให้นโยบายเดินไปได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active