เปิด “public space” กลางแปลง กลางเมือง

กลุ่มสนับสนุนศิลปะ เชียงราย เปิด “public space” หวังเป็นพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงผู้คนกับชุมชน สร้างการถกเถียง แลกเปลี่ยน เห็นปัญหาเห็นทางแก้ คาดนำสิ่งที่ได้จากการคุย ไปต่อยอดในการทำงานศิลปะหรือในการแก้ปัญหาทางสังคม เชื่อ ต่างจังหวัดทำได้แต่ขาดการสนับสนุน

5 มี.ค. 2566 กลุ่มศิลปินและกลุ่มสนับสนุนศิลปะ จ.เชียงราย จัดกิจกรรมฉายหนังกลางแปลง ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะชัย จ.เชียงราย หวังสร้างพื้นที่พูดคุย ด้วยการจัดกิจกรรมฉายหนังสารคดีเรื่อง “ติดถ้ำ” The caved life ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดเชียงรายโดยตรง โดยเนื้อหาถูกขยายต่อจากกรณีของ 13 หมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำ ขณะที่ภารกิจได้เสร็จสิ้นลงทุกคนออกจากถ้ำโดยปลอดภัย แต่หลังจากนั้น ผู้คน ชุมชน เป็นอย่างไร

ซึ่งภาพยนตร์ฉายให้เห็นว่าหลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจประวัติศาตร์ ชีวิตผู้คนที่นั่นยังคงติดอยู่กับปัญหาเดิมที่ยังหาทางออกไม่ได้ เสมือนว่าติดอยู่ในถ้ำที่โปร่งแสง

หลังจากหนังสารคดีจบ มีเสวนาถอดรหัสศิลปะ และ ประเด็นทางสังคมที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์สารคดีติดถ้ำเพื่อที่จะได้ มีการแลกเปลี่ยนพูดคุย เห็นปัญหาเห็นทางแก้และ เกิดการเรียนรู้ความหลากหลาย เพื่อนำสิ่งที่ได้จากวงพูดคุยไปต่อยอดในการทำงานศิลปะหรือในการแก้ปัญหาทางสังคม

โดยมี ผศ.อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ อาจารย์กลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำกับเรื่อง “น้ำวน” ในภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ – The Caved Life, ธนพล เลิศธนาผล โปรดิวเซอร์ชำนาญการอาวุโส ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมพูดคุย และ ดำเนินรายการโดย รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย

กรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ร่วมชมภาพยนตร์ กล่าวว่า การมีพื้นที่เพื่อเปิดให้คนในชุมชนและคนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการดูหรือแลกเปลี่ยนการสนทนาเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากสร้างการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นฐานของการเป็นประชาธิปไตย

“ การมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยการที่เขาเข้ามามีบทบาทในการแลกเปลี่ยนพูดคุยสะท้อน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมต่อไปถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเสวนาจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาอนาคต”


อีกทั้งยังสะท้อนว่านี่เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น หรือในส่วนของชาวบ้าน มองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับเขา แนะต้องใช้การสื่อสารในภาษาที่ง่าย สร้างการตระหนักรู้ว่าเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาเพื่อที่จะให้เกิดสังคมและการแลกเปลี่ยนที่กว้างขึ้น

ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า แม้ว่าสารคดีเรื่องนี้จะถูกสื่อสารไปแล้วบนโซเชียลและเกิดการสนทนาในโซเชียลอยู่บ้าง แต่การเปิดพื้นที่พูดคุยแบบวงเสวนายังไม่มีให้เห็นมากนักจึงเห็นว่าการเลือกภาพยนตร์เรื่องนี้มาใช้ในพื้นที่ที่มีประสบการณ์ร่วมเป็นเรื่องที่น่ายินดี

“แม้กระทั้งคนเชียงรายก็ยังไม่รู้ อย่างเมื่อกี้มีคนดูหนึ่งคนที่ไม่รู้ว่ามีการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้อยู่  ฉะนั้นการตัดสินใจเอาหนังมาฉายมันคือการที่ค่อย ๆ เผยแพร่ แม้จะมีแค่ 1 ในพันคนที่เข้าใจ และเอาไปใช้ประโยชน์ ผลักดันในบางเรื่องที่สื่อสารในภาพยนตร์  ก็ถือว่าโอเคแล้ว”

ขณะที่ ขวัญ อัตถาวุธ คนรุ่นใหม่ จ.เชียงราย กล่าวว่า พื้นที่แบบนี้เป็นที่ต้องการของชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน และซึมซับวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อความหลากหลาย ของวัฒนธรรมและความเห็นผู้คน 

“ศิลปะไม่ต้องอยู่สูงศิลปะต้องเข้าถึงผู้คนทุกแขนง ประชาชนต้องเดินเข้ามาชมศิลปะ หรือทำกิจกรรม กับพื้นที่ ที่เขารู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมได้  เขาอยากจะฟังเพลงพังค์ อยากร้องฮิปฮอบก็ได้ ลักษณะของพื้นที่เป็นแบบไหนก็ได้ขอเพียงว่าเจ้าของพื้นที่เปิดใจที่จะรับศิลปะและศิลปินได้”

ประธานมูลนิธิมดชนะภัย มองศักยภาพพื้นที่ต่างจังหวัดว่าสามารถทำ กิจกรรมเปิดพื้นที่เช่นนี้ง่ายกว่า กทม.   เนื่องจากมีพื้นที่ แต่อุปสรรคของต่างจังหวัดคือหาทุนในการจัดกิจกรรมยาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active