‘ตาล’ นักฟุตบอลหมายเลข 0 เตรียมทำบัตรประชาชน

กรมการปกครองเผย เข้าสู่กระบวนการรับรองสัญชาติไทย และได้รับการอนุมัติเลข 13 หลักแล้ว ‘ตาล ปัน’ บอกเล่าปัญหาหลังชม “ติดถ้ำ” รอบสุดท้าย

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ในการฉายภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ – The Caved Life” รอบสุดท้าย ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ คอนเน็คท์ “ไทยพีบีเอส” ด้วยความร่วมมือของ บางกอกคลินิก นิติธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนา “ความฝัน ความหวัง ของเด็กไร้สัญชาติ : นักฟุตบอลหมายเลขศูนย์ จะออกจากถ้ำที่โปร่งแสงอย่างไร?” โดยมี ‘ตาล ปัน’ นักฟุตบอลไร้สัญชาติอายุ 17 ปี จากภาพยนตร์สารคดีติดถ้ำ พร้อมเพื่อนนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี ผู้กำกับ นักวิชาการด้านกฎหมาย และตัวแทนจากกรมการปกครอง ร่วมสนทนาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้เด็กไร้สัญชาติ ได้ออกมาจากถ้ำที่โปร่งแสง

ตาล ปัน เล่าถึงความรู้สึกหลังดูภาพยนตร์จบว่า รู้สึกดีใจที่เรื่องราวของตนไปปรากฏในภาพยนตร์ และอยากให้นำไปจัดฉายที่ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นบ้านเกิด เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในพื้นที่หลายคน ลุกขึ้นมาเดินตามความฝัน แม้จะยังไม่ได้รับรองสัญชาติก็ตาม ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ออกฉาย ก็ได้รับความช่วยเหลือด้านกฏหมายจากบางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ คอยให้คำแนะนำ ล่าสุด ทาง อ.แม่สาย แจ้งว่าเอกสารทุกอย่างผ่านแล้ว และเตรียมที่จะถ่ายบัตรประชาชนในสัปดาห์หน้า

“หลังจากนี้ผมจะตั้งใจฝึกซ้อม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสัญชาติอีกต่อไป แต่แอบเสียใจที่พ่อไม่ได้อยู่รอดูความสำเร็จ ซึ่งผมรับปากท่านว่า จะเป็นนักเตะอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบคครัวต่อไป”

พัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ “นักฟุตบอลหมายเลข 0” กล่าวว่า ตาล แม้ไม่ได้ติดอยู่ในถ้ำหลวง ร่วมกับเพื่อน ๆ 13 หมูป่า แต่ก็เหมือนติดอยู่ในถ้ำโปร่งแสง ที่มีคนเห็นเขา แต่ยังไม่มีใครช่วยออกมา จากการเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งการไร้สัญชาติทำให้ถึงแม้เด็กคนหนึ่งจะมีศักยภาพ แต่ก็ติดขัดในช่วงที่อาจไปในไกลกว่านั้น ทั้งการเข้าร่วมเป็นนักฟุตบอลในรูปแบบสโมสรที่ระบุต้องมีสัญชาติไทย หรือการขอออกนอกพื้นที่ ซึ่งเจ้าของสโมสรอาจเข้าใจว่ามีความยุ่งยากในการเดินทางแต่ละครั้ง แม้จะมีโควต้าสำหรับคนต่างด้าวแต่ก็เป็นแบบจำกัด จึงมีการแข่งขันสูง

ขณะที่ รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า กรณีของตาลที่มีหลักฐานการเกิดบนแผ่นดินไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถือว่าเป็นคนไทยโดยกำเนิด เพียงแต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งต่อที่ว่าการอำเภอ จึงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรับรองสัญชาติ ซึ่งความจริงสามารถแจ้งย้อนหลังได้ เพียงแต่พ่อแม่หลายคนไม่มีความรู้เรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารผ่านสื่อ หรือภาพยนตร์ ซึ่งกรณีของตาล คุณแม่มาทราบภายหลังเหตุการณ์ถ้ำหลวง และด้วยความช่วยเหลือของบางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ และยืนยันโดยหลักฐานการเกิดในประเทศไทย และมีพ่อแม่ อาศัยในประเทศไทยเกิน 15 ปี

ด้าน พิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร ผอ.ส่วนสัญชาติและการทะเบียนและบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย กรมการปกครอง ชี้แจงว่า กรณีของตาลและน้องชาย ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติเลข 13 หลัก ถือเป็นขั้นตอนปกติ ตาม ม. 7 ทวิ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 คือ เด็กที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งในรอบการพิจารณาของตาล มีจำนวนกว่า 100 คน ซึ่งเป็นบุตรหลานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยุ่ในไทยเกิน 15 ปี ซึ่งตามกฏหมายระบุ ขั้นตอนดำเนินการไม่เกิน 60 วัน แต่ยอมรับว่า นอกจากในพื้นที่ อ.แม่สาย กว่า 27,000 คน ซึ่งต้องเสร็จสิ้นตั้งแต่ ธ.ค. 2559 แต่ทั้งประเทศ มีมากกว่า 480,000 คน ยากที่จะเสร็จสิ้นวันเดียว ซึ่งนอกจากกลไกทางราชการ ภาคีเครือข่ายที่ช่วยกระจายความรู้ จะช่วยให้กระบวนการเร่งได้เร็วขึ้น รวมถึงองค์ความรู้ งานวิจัย คลินิกกฎหมาย ที่ช่วยส่งเสริมภารกิจของหน่วยงานราชการ

นอกจากการขจัดการไร้รัฐ ไร้สัญชาติแล้ว ในวงเสวนายังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น เยาวชนกะเหรี่ยง อ.สวนผึ้ง และเยาวชนมอญ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ที่ร่วมสนทนาเพื่อให้เด็กไร้สัญชาติ ได้ออกมาจากถ้ำที่โปร่งแสง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์