นายกฯตกใจ เผาอ้อยช้าไป? แก้ปัญหาไม่ทัน

นักวิชาการชี้ หากสั่งการเร็วกว่านี้ 2 เดือน คาดอ้อยเผาลดลงกว่านี้ เสนอนายกฯ จี้ กระทวงทรัพยฯ -อุตสาหกรรม  เอาจริงแก้ปัญหาฝุ่นpm2.5 หนุนเกษตรกรตัดอ้อยสด ลดโควต้าน้ำตาลโรงงานยอดอ้อยเผาสูง

วันนี้ ( 24 ก.พ.2567 )  เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ( Think Forward Center )  ในฐานะนักนโยบายและนักวิชาการที่ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 กล่าวถึงกรณีนักเรียนและครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี วิ่งหนีฝุ่นควันจากการเผาป่าลามไร่อ้อยออกมานอกโรงเรียน และกลายเป็นไวรัล จนสังคมตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากฝุ่นควันการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งในวันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ออกมาโพสต์ข้อความใน X ว่า ได้รับรายงานว่า จังหวัดสุพรรณบุรี และลพบุรี มีอ้อยที่เผาก่อนตัดส่งโรงงาน เกือบ 2 ล้านตัน เห็นตัวเลขแล้วตกใจ  ตนเห็นว่า นายกฯรัฐมนตรีตกใจช้าไป เพราะโรงงานใกล้ปิดหีบ ควรจะตกใจก่อนหน้านี้ซัก 2 เดือน น่าจะป้องกันแก้ไขปัญหาปริมาณอ้อยไฟไหม้ไม่ให้พุ่งสูง บานปลายหรือมีปริมาณมากขนาดนี้ 

อ.เดชรัต วิเคราะห์ว่า กรณีที่เกิดขึ้น พบข้อเท็จจริง 2-3 ข้อสำคัญ ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย 2 จังหวัด คือ ลพบุรีและสุพรรณบุรี ที่นายกฯพูดถึง มีโรงงานอยู่ 5 โรงงาน ซึ่ง 5 โรงงานนี้ มีปริมาณอ้อยที่เข้าสู่การหีบน้ำตาลประมาณ4.6 ล้านตัน เป็นอ้อยไฟไหม้ 1.8 ล้านตัน เลยเป็นที่มาของตัวเลขที่นายกฯใช้คำว่า 2 ล้านตัน ก็น่าจะใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณ 200,000 ไร่ และเมื่อเอาตัวเลข 1.8 ล้านตัน ไปดูว่า คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณอ้อยที่เข้าสู่โรงงานทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นตัวเลข 39.4% หรือประมาณ 40 % แปลว่าปีนี้ในเขตนี้ ตัวเลขอ้อยไฟไหม้ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

“  กลายเป็น 40% สำหรับพื้นที่เขตนี้ ซึ่งในแต่ละโรงงานมีปริมาณอ้อยสด อ้อยไฟไหม้ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง โรงงานรีไฟน์ชัยมงคล มีอ้อยสด 81% อ้อยไฟไหม้ประมาณ 20% ตรงข้ามโรงงานทีเอ็น ลพบุรี มีอ้อยสดประมาณ 30% อ้อยไฟไหม้ 70%  เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าแต่ละโรงงานมีการจัดการที่ต่างกัน และถ้าหากว่า เราดูของทั้งประเทศ บางโรงงานจะมีอ้อยสดเข้าสู่โรงงานได้มากกว่า 95%  เพราะฉะนั้นการที่จะเอาจริงเอาจังกับผู้ประกอบการแต่ละโรงงาน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ว่าไม่ได้ทำ “”

เดชรัต กล่าว

ที่น่าผิดหวัง ถ้าย้อนไปดูตั้งแต่ปี 2561-2562 เป้าหมายของการลดอ้อยไฟไหม้ เคยมีการกำหนดไว้ว่าอ้อยไฟไหม้ต้องเหลือประมาณ 10% ภายในปี 2564-2565  หลังจากนั้นให้ลดลงเหลือ 5% ในปี 2565-2566 และให้เหลือ 0% ในปี 2566-2567  เพราะฉะนั้นเป้าหมายเดิมกำหนดไว้อยู่แล้วว่าปีนี้ต้องไม่มีอ้อยไฟไหม้ แต่อยู่ๆเหมือนมีกระบวนการที่ทำให้เกิดการลืม และก็พูดว่าลดลง 10% ซึ่งจริงๆแล้วถ้าย้อนไปดูเป้าหมาย เป้าหมายมันควรต้องหมดไปแล้ว 

“ แล้วเราทำไม่ได้ตามเป้าหมายตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบคือว่า ถ้าย้อนไปปี 2561-2562 ตอนนั้นมีอ้อยไฟไหม้อยู่ราวๆ 60% และก็ลดลงมาได้ 30% แต่หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2564-2565 , 2566-2567  ลดไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นตรงนี้ มันเป็น 3 ปีที่มีปัญหา ทำให้เราไม่สามารถเข้าสู่เป้าหมายเดิม และไม่มีการทบทวนแผนของเป้าหมายเดิมอย่างเป็นรูปธรรม” 

เดชรัต กล่าว

“ แนะรัฐปรับมาตรการลดอ้อยไฟไหม้ จี้นายกฯสั่งการ ทส. กระทรวงอุตฯ เอาจริงแก้ปัญหา”

อ.เดชรัต ชวนย้อนไปทบทวนในช่วงแรกของการใช้แรงจูงใจ ซึ่งในการตัดอ้อยสดจะได้เงินเพิ่มอีก 120 บาทต่อตัน แต่ถ้าอ้อยไฟไหม้จะปรับอีก 30 บาทต่อตัน  ซึ่งช่วงแรกใช้ได้ผลดี แต่พอถึงจุดที่เราบอกว่าลดลงเหลือประมาณ 30% ก็คงที่ไม่ลดลง แต่จริงๆแล้วการทบทวนแรงจูงใจนี้จำเป็นจะต้องทบทวน คืออาจมีการกำหนดหักเงินอ้อยไฟไหม้มากกว่า 30 % และเพิ่มเงินสนับสนุนอ้อยสดขึ้นอีก 

แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ ที่จ่ายเงินให้กับชาวไร่อ้อยล่าช้า เลยกลายเป็นผลที่ทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการที่จะลดการเผาอ้อยก็ลดน้อยลงด้วย ขณะเดียวกันการสนับสนุนเรื่องการใช้เครื่องจักรเพื่อมาเก็บเกี่ยวอ้อย ที่เคยดำเนินการเข้มข้นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนหลังๆก็อาจจะมีความเข้มข้นน้อยลง ไม่มีใครพูดถึงเป้าหมายอีก ก็เลยทำให้ไม่ได้มีการตรวจสอบว่า จริงๆแล้วหลุดจากเป้าหมายไปเยอะมาก แล้วก็ไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นด้วย 

“ โดยนัยยะมันแปลว่าจริงๆทำได้ ไม่ใช่โรงสองโรง มีเป็นสิบโรงที่ทำจนแทบไม่มีอ้อยไฟไหม้ได้ แต่เราไม่ได้ทบทวนบทเรียนนั้นอย่างจริงจัง ผมเองก็ตกใจต่อการโพสเรื่องนี้ทางโซเชียลของนายกฯ ประเด็นแรกที่ตกใจรคือทุกคนลืมเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้แล้ว รวมถึงนายกฯที่ควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ อีกหนึ่งเรื่องที่ตกใจ คือจริงๆแล้วอ้อยไฟไหม้เขารายงานมาเป็นประจำทุกวัน และเพิ่งมาพูดถึงในวันนี้ ซึ่งมันช้าไปแล้ว ที่นายกฯบอกจะไปทำความเข้าใจกับโรงงาน ซึ่ง 2 ใน 5 โรงงานที่พูดไว้ตั้งแต่ตอนต้น โรงงานหนึ่งปิดหีบไปเมื่อวานนี้และอีกโรงงานกำลังจะปิดหีบวันพรุ่งนี้ “ 

เดชรัต กล่าว

ดังนั้นต้องทบทวนให้ชัดเจน 3 ระดับ ระดับแรก คือ เป้าหมายโดยรวมทั้งประเทศ ในเมื่อไม่ถึงเป้า ก็ต้องมาทบทวนกันว่าเป้ามันสูงเกินไปรึเปล่า หรือว่าจริงๆมันยังมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้เอง 

สอง ต้องทำเป้าเป็นรายโรงงาน เพราะแต่ละโรงงานมีความพร้อมต่างกัน ทั้งความพร้อมทางการเงิน หรือความพร้อมในสภาพพื้นที่ก็ต้องคุยกับโรงงานทีละโรงงาน และกำหนดเป้าทีละโรงงาน และแรงจูงใจที่จะมีนั้น คือเป็นแรงจูงใจสำหรับเกษตร ที่จำเป็นจะต้องขยายให้ห่างขึ้น คือตอนนี้หนุนอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ส่วนอ้อยไฟไหม้ หัก 30 บาทต่อตัน ก็จำเป็นต้องขยายให้ห่างมากขึ้น ไปพร้อมกับการสร้างแรงจูงใจ กับโรงงานที่ไม่สามารถลดอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ โรงงานก็จะต้องมีการถูกปรับลดโควตาน้ำตาลเป็นต้น 

และสามในส่วนของกลไกที่ขาดไปสำหรับเรื่องฝุ่น PM 2.5 คือกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นสังกัดของกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่นายกควรตกใจ คือบทบาท ของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ไม่ค่อยชัดเจน ทั้งที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองนายกฯ และเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตรงจุดนี้น่าจะเป็นจุดสำคัญของบทบาทในการแก้ไขปัญหา 

อีกกลไกหนึ่ง คืออำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะมาดูแลกำกับอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ควรจะรายงานท่านนายกฯให้ทราบหรือให้ตกใจก่อนหน้านี้ซัก 2-3 เดือน จะได้ทบทวนแก้ไขปัญหาต่างๆได้ทัน ไม่เกิดผลกระทบตามที่เป็นข่าวเช่นนี้

ที่สำคัญนายกฯ ต้องสแกนดูอย่างที่บอกว่า รายงานปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่มีอยู่ ก็มีรายงานมาทุกวัน ทุกโรงงานด้วย นายกฯก็อาจจะต้องดูว่าในโรงงานที่ยังไม่ปิดหีบ มีโรงงานไหนที่มีอ้อยไฟไหม้เข้ามาเยอะ ก็เข้าไปแก้ไข และต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ในระยะสั้นอาจแก้ไขได้ไม่มากนัก เพราะว่าถ้าจะต้องเก็บเกี่ยวอ้อยโดยใช้รถตัด จำเป็นจะต้องมีการออกแบบวางแผนแปลง ออกแบบการเข้าพื้นที่ของรถตัดอ้อยไว้ล่วงหน้าด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active