iLaw จัดกิจกรรม “จำลองเลือก สว.” เมื่อ กกต.ห้ามแนะนำตัว

จัดงาน “แคนดิเดตสว.ขอพูด” เปิดพื้นที่ให้ว่าที่ผู้สมัครกว่า 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ ได้มีโอกาสสื่อสารความตั้งใจที่มาสมัคร สว. เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เลือก สว. แบบไม่ลับ หลังกกต.ออกระเบียบการแนะนำตัว

วันนี้ (4 พ.ค. 2567) ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์iLaw จัดงาน “แคนดิเดตสว.ขอพูด” เปิดพื้นที่ให้ผู้เตรียมลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้ง 200 คน ได้สื่อสารกันและได้สื่อสารกับประชาชน เพื่อความเป็นธรรมในการให้พื้นที่แก่ผู้สมัคร โดยมีการจำลองการเลือกผู้ที่จะมีโอกาสขึ้นพูดบนเวทีจะมาจากการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม ของว่าที่ผู้สมัครที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน โดยผู้สมัครแต่ละคนมี 2 คะแนน จะเลือกตัวเองก็ได้และเลือกคนอื่นก็ได้ แต่เลือกคนใดคนหนึ่งสองคะแนนไม่ได้ หากได้ผู้ชนะที่คะแนนเท่ากันให้ตัดสินโดยการจับสลาก

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวว่า เหตุผลที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นมา เนื่องจาก การเลือกสว. เปลี่ยนไปจากเดิม คือ ไม่มีดีเบต ไม่มีการแถลงนโยบาย ไม่ให้แนะนำตัวเองต่อสาธารณชน และที่ผ่านมาในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ผู้สมัครมีโอกาสได้บอกประชาชน ว่าจะเข้าไปทำอะไร และในการเลือกตั้ง สส. iLaw ได้ร้องขอให้ประชาชจับตาการนับคะแนนหน้าคูหา มีประชาชนอาสามาช่วยนับแสนคน แต่การเลือก สว. ไม่มีแบบนั้น ประชาชนไปสังเกตการณ์ ไปจับตา ไปทักท้วงไม่ได้ คนที่จะมีสิทธิ์เดินไปบอกว่ามีข้อผิดพลาดอะไรหรือไม่ คือ “ผู้สมัคร สว.เท่านั้น” 

“การได้เป็นตัวแทนประชาชนที่สมัคร สว.ไม่ได้ครั้งนี้ มีอีกหลายล้านคนอายุไม่ถึง คนที่ถูกตัดสิทธิ์ คนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง คนที่ถือหุ้นสื่อ คนที่เป็นข้าราชการ หลายคนอยากลงสมัครแต่สมัครไม่ได้ แต่ยังเหลือประชากรไทยครึ่งหนึ่งที่ยังมีโอกาส ก็อยากขอฝากทุกท่านด้วย ในวันนี้เรามานั่งอยู่ก่อนพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. เราคาดเดาว่าจะประกาศใช้วันที่ 12 พ.ค. แต่เราก็นั่งอยู่ภายใต้การบังคับกฎหมายหลายฉบับโดยเฉพาะ ระเบียบ กกต. ที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ยิ่งชีพ กล่าวว่า ระเบียบสำคัญของ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัว อาจสร้างความสับสนให้กับหลายคนว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้ โดยเฉพาะ

ข้อ 7 การใช้เอกสารแนะนำตัวของผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารไม่เกินขนาด A4 สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่าย ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในกลุ่มที่สมัครเท่านั้นไม่เกิน 2 หน้า

ข้อ 8 ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครตามข้อ 7 และเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น

และข้อห้ามในการแนะนำตัว ข้อ 11 นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว.มีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลเลือก ห้ามให้ผู้สมัครหรือผู้ช่วยหรือผู้สมัครแนะนำตัว โดย ผู้ประกอบอาชีพสื่อ ใช้ความสามารถในวิชาชีพเพื่อประโยชน์ในการแนะนำตัว, แจกเอกสารการแนะนำตัวด้วยวิธีการวางหรือติดประกาศในที่สาธารณะ, การแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียง การให้สัมภาษณ์

โดย ยิ่งชีพขอตีความว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 บอกว่าอะไรที่ไม่มีกฎหมายห้ามทำได้ อีกทั้งข้อกำหนด กกต. เกี่ยวกับการเลือก สว. ดังกล่าว มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ได้ดำเนินการฟ้องศาลปกครองไปแล้ว และจะมีนัดไต่สวนฉุกเฉิน ในวันที่ 15 พ.ค. นี้ โดยตั้งคำถามว่าการออกแบบในการเลือกครั้งนี้ มีลักษณะให้เกิดการเลือกแบบลับ ๆ หรือไม่ ? ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคน ช่วยกันให้เกิดความโปร่งใส เป็นที่รับรู้ของประชาชนให้ได้มากที่สุด

“เขายิ่งห้ามพูด เราต้องยิ่งพูด รัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดหาเสียง แต่ข้อกำหนดของ กกต. อยู่นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยเราพยายามออกแบบเว็บไซต์  เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่เมื่อมีข้อกำหนดออกมา จึงตัดสินใจเอาลงเพื่อปกป้องว่าที่ผู้สมัคร แต่จะพยายามนำกลับมาแบบไม่ขัดต่อข้อบังคับ ทำให้ข้อมูลผู้สมัครได้เกิดการรับรู้”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ว่าที่ผู้สมัคร สว. กลุ่มอาชีพ ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มองเห็นความสำคัญในการเข้ามาร่วมสมัครเป็นผู้คัดเลือก สว. เพราะต้องการให้การทำงานของ สว. เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากเห็นการทำงานที่ผ่านมาพบว่า สว.หลายท่านเป็นผู้มีคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จริง แต่มองว่ายังขาดเรื่อง “ความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ” จึงหวังเข้ามาขับเคลื่อนปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อน

“ผมอยากเห็น สว.ที่มีวิชาชีพ มีคุณวุฒิ ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศ และมองเห็นปัญหา ในส่วนของกลุ่มอาชีพสิ่งแวดล้อมที่ไทยเราเผชิญอยู่ตอนนี้ ไทยบอกว่าจะผลักดัน Soft Power แต่เจอปัญหาฝุ่น PM2.5 ก่อนเลย ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถ้าเราแก้ จากการลงพื้นที่ คือ ต้องแก้ด้วย 3E คือ Engineering วิศวกรรมศาสตร์ Education การศึกษา และ Enforcement การออกกฎข้อบังคับ อย่างประเทศสิงค์โปร ที่เขามีปัญหาเรื่องฝุ่นมีหมอกควันที่มาจากอินโดนีเซีย เขาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการเข้มข้น เขาสามารถทำได้ดีกว่าเรา”

วสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์

ด้านว่าที่ผู้สมัคร สว. กลุ่มอาชีพลูกจ้าง กล่าวว่า  จริง ๆ ไม่ได้สนใจที่จะลงสมัคร สว.เลย แต่พอมารอบนี้ มองว่ารัฐธรรมนูญที่มาจาก คสช. รู้สึกว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด และอยากให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งการเลือก สว.ครั้งนี้ ประชาชนยังไม่สามารถเข้ามาเลือกตั้งได้แบบ สส. แต่หากจะบอกว่าการเลือก สว.แบบไขว้ครั้งนี้ เป็นการส่งตัวแทนมาจากประชาชนครั้งนี้ ก็คิดว่ายังไม่เป็นธรรมสำหรับคนทุกกลุ่มอาชีพ ดังนั้นเมื่อกติกาเป็นแบบนี้ เลยทำให้ตัดสินใจมาลงสมัครเลือก สว.


“เราต้องการเป็นตัวแทนของลูกจ้าง เข้าไปเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยคือทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง เราอยากได้คนที่ต่อสู้เพื่อชนชั้นตัวเอง เพื่อสิทธิของตัวเอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ไม่เข้ามาเป็นนอมินีใคร อยากให้ทุกคนมีอิสระและตัดสินใจเอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรอุษา พรมอ๊อด

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด