หมดยุค Angry Young Man ! เมื่อรัฐและแหล่งทุนควบคุมขอบฟ้าทางวิชาการสังคมศาสตร์

คณะสังคมวิทยาฯ จัดงานเสวนา “อ่าน ‘จินตนาการทางสังคมวิทยา” ชี้ รัฐและแหล่งทุนควบคุมงานวิจัยทางสังคม เสนอการใช้เครื่องมือเทคนิคต้องควบคู่ไปกับทักษะวิจัยทางสังคมแบบดั้งเดิม พร้อมทำให้มหาวิทยาลัยเป็นชุมชนปลอดภัยผลักดันประเด็นทางสังคม​​

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 67 สำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ร่วมกันจัดงานเสวนา “อ่าน ‘จินตนาการทางสังคมวิทยา’ | ถก ‘คำมั่นสัญญา’ ของนักสังคมศาสตร์” ร่วมถกแนวคิด “จินตนาการทางสังคมวิทยา” และวิพากษ์วงวิชาการสังคมศาสตร์ที่ป่วยไข้ ผ่านหนังสือ  The Sociological Imagination หนังสือคลาสสิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 เขียนโดย ซี. ไรต์ มิลส์ (C. Wright Mills) ศาสตราจารย์สังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ในหนังสือกล่าวว่า ทิศทางของการศึกษาด้านสังคมวิทยาหลุดลอยออกไปจากความเป็นจริงของสังคมเข้าไปทุกที นักสังคมวิทยาเอาแต่ลุ่มหลงกับทฤษฎีที่ดูยิ่งใหญ่ แต่กลับไร้ความหมายหรือจับต้องได้

รวมถึงการศึกษาวิจัยด้วยเครื่องมือเชิงสถิติที่ดูสวยหรู แต่กลับละเลยมิติทางสังคมที่แวดล้อม ขณะที่เส้นทางการเติบโตของผู้คนในแวดวงสังคมศาสตร์ที่ทำงานวิจัยตามแหล่งทุน (ตามใบสั่ง) แต่ไม่ได้ผลิตงานที่ตอบปัญหาที่แท้จริงในสังคม หรือเปิดพื้นที่ขอบฟ้าความรู้ใหม่ ๆ ให้มากไปกว่าที่มีอยู่ได้เลย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของไทย

รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการศึกษาสังคมวิทยาในอเมริกาช่วงปี 1959 ว่า เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับยุค 60s ในเวลานั้นเองที่อเมริกามีความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามเวียดนาม สิทธิสตรี คนผิวสี ฯลฯ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในสังคมที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

แต่ในขณะนั้น นักสังคมศาสตร์เองกลับไม่ตื่นตัว ทำตัวย้อนแย้ง และคิดว่าตัวเองเป็นนักเทคนิคเท่านั้น โดยไม่สนใจบริบทสิ่งแวดล้อม

มิลส์บอกว่า ความรู้ทางสังคมศาสตร์เป็นกลาง บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ และเมื่อเชื่อกันเช่นนี้ ความรู้เหล่านี้เลยถูกนำไปกำหนดนโยบายของรัฐ สิ่งนี่แหละที่เป็นการเมืองโดยตัวมันเองและเป็นอคติที่อันตรายมาก”

รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ด้าน ผศ.จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แปล เสริมว่า ในสังคมไทย สังคมศาสตร์เกิดขึ้นมาพร้อมรัฐราชการที่ยังเป็นอนุรักษนิยมอยู่ แทบไม่มีอิสระในการทำงานเพื่อสังคมหรือสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ เลย

“ทั้ง ๆ ที่การทำงานทางสังคมศาสตร์เป็นงานแบบ ‘ช่างฝีมือ’ แต่แนวคิดแบบเสรีนิยมต่าง ๆ แปลงให้กลายเป็น ‘ผู้ประกอบการใหม่’ เพราะเอาแต่ทำงานเสิร์ฟรัฐ จนไม่รู้ว่านี่เราทำงานเพื่อสาธารณชนจริงไหม หรือทำงานตามใบสั่งกันแน่”

และตอนนี้ ปัญหาทางสังคมวิทยาคือการวางตัวเองเป็น “นักเทคนิค” กล่าวคือ ใช้เครื่องมือเชิงสถิติที่สวยหรูในการทำวิจัย “นักสังคมศาสตร์คิดว่าตัวเองไม่มีเกียรติเหมือนนักวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องมือเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกว่าดูมีเกียรติมากขึ้น” อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบนี้ขาดมิติในเชิงบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับปัญหานั้น ๆ  เพราะการจะเข้าใจมนุษย์ได้นั้น ต้องเข้าใจว่าเขาอยู่ในสังคมแบบไหน ต้องเข้าใจที่มาที่ไปหรือมิติทางประวัติศาสตร์ก่อน 

สอคล้องกับ รศ.ประจักษ์ หยิบยกความคิดเห็นของมิลส์มาเสริมว่า นักสังคมวิทยาลดทอนตัวเองให้กลายเป็นนักเทคนิค การใช้เครื่องมือทางสถิติและความสัมพันธ์ของค่าตัวแปรต่าง ๆ และอภิทฤษฎี (Grand Theory) ทำให้คำอธิบายสังคมซับซ้อนจนเกินจำเป็น

ผศ.จันทนี เจริญศรี
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แปล

“ความลุ่มหลงใน Grand Theory ที่แข็งทื่อตายตัว ที่เชื่อว่ามันอธิบายได้ทุกสิ่งทุกอย่างข้ามกาลเวลา และการใช้สถิติต่าง ๆ ในการศึกษา เป็นการมองมนุษย์ให้เป็นปัจเจกล่องลอยออกจากสังคม

“หากเป็นสายรัฐศาสตร์ อาจารย์โบราณ ๆ ก็จะเขียนตำรา แล้วกลายเป็นหนังสือพื้นฐานที่นักเรียนอ่านเพื่อสอบเข้าแต่อาจารย์ในสาย critical ก็จะไม่ได้เขียนตำรา กลายเป็นว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนก็จะติดอยู่กับสิ่งที่เขียนในตำรา กลายเป็นอุตสาหกรรมทำตำราหรือวิทยานิพนธ์”

และเมื่อมองงานเขียนของมิลส์ เรียกได้ว่าเป็นงานที่ท้าทายและกล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมวิทยาอย่างเผ็ดร้อน ที่อาจนิยามได้ว่าเป็น “angry young man” แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ลักษณะเช่นนี้แทบไม่พบในหนุ่มสาวยุคนี้แล้ว

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปรียบเทียบว่าความเห็นของมิลส์คือการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีพลังและน่าชื่นชม

“มิลส์ก็ไม่ต่างกับ เควนติน แทแรนติโน (ผู้กำกับภาพยนตร์) เขาคือพลังคนหนุ่มที่ทลายจารีตทั้งหมด คนที่กล้าท้าทายความคิดแล้วลุกขึ้นมาเขียนหนังสือตอบโต้ขาใหญ่ในวงการสังคมวิทยา”

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เช่นเดียวกับที่ ผศ.จันทนี ชี้ว่า ลักษณะของมิลส์เช่นนี้ พบได้มากในยุคสมัยหนึ่งอันเป็นผลมาจากบริบททางสังคม แต่กลับแทบหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน

“มิลส์มีคุณลักษณะแบบ ‘angry young man’ ที่พบได้มากในยุค 60s ที่เห็นผ่านทั้งในงานเขียนหรือภาพยนตร์ แต่ปัจจุบัน ยุคสมัยทำให้คนแบบนี้หายไป เราเจอแต่คนหนุ่มสาวที่ burn out อ่อนเปลี้ย เอาแต่วิ่งไล่ตามเทรนด์เพราะกลัวจะไม่ woke ต้องระวังตัวไปหมด ทำให้การวิพากษ์แบบนี้หาได้ยาก”

ด้าน รศ.ประจักษ์ เห็นสอดคล้องว่า เมื่อหนุ่มสาวในลักษณะนี้หายไป การวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาไม่เกิดขึ้น จึงทำให้ขอบฟ้าของความคิดที่จะนำพาสังคมไปข้างหน้าถูกจำกัดลง ไม่เพียงแต่เกิดจากการควบคุมของรัฐหรือสังคมเท่านั้น แต่เกิดจากแหล่งทุนที่ต้องการได้งานวิชาการที่ปลอดภัยและตอบโจทย์ผู้ทำนโยบายด้วย

“นักวิชาการที่สร้างชื่อเสียงมาจุดหนี่งแล้วจะมีเครดิตในการเสนองานวิจัยที่แปลก ๆ ได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องทำตามโจทย์วิจัยเสมอไป แต่นักวิชาการรุ่นใหม่น่าเห็นใจ เพราะในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีเครดิตก็มักต้องทำงานวิจัยในโจทย์ที่ไม่อยากทำ”

“งานบางชิ้น ตีพิมพ์ในต่างประเทศได้ แต่พอมาเผยแพร่ที่ไทยกลับถูกตั้งข้อหา โดนฟ้อง สังคมการเมืองแบบนี้มันจำกัดขอบฟ้าความคิดของคน มันมาตัดสินว่างานแบบไหนคืออาชญากรรม ซึ่งมันคือสังคมที่เถื่อนและล้าหลังมาก

“ระบบนิเวศวงวิชาการในไทยขีดเส้นไว้ว่างานวิชาการที่ผลิตออกมาควรปลอดภัย และตอบโจทย์ผู้ทำนโยบาย ทำให้นักสังคมศาสตร์คิดนอกกรอบไม่ได้ และนี่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย”

“เพราะเรามีการเมืองแบบราชการ ชนชั้นนำมีอิทธิพลมาก ชนชั้นกลางกลายเป็นผู้รับใช้ทุนนิยมและทำงานวิชาการในฐานะผู้เป็นส่วนหนี่งของระบบ และผลิตงานตอบสนองแหล่งทุน และนี่คือ ระบบราชการ (bureaucratize) ที่คืบคลานเข้ามาในวงวิชาการ”

ท้ายที่สุดแล้ว รศ.ประจักษ์ เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะทำลายโอกาสและแรงขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ งานทางสังคมศาสตร์ควรมีทั้งส่วนที่เป็น craft หรือช่างฝีมือผู้มีทักษะ และ methodหรือเครื่องมือทางสถิติต่าง ๆ ร่วมกัน และการสอนให้นักศึกษามีจินตนาการหรือวิธีการศึกษาทางสังคมที่กว้างขวางไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดของแหล่งให้ทุน ไม่ใช่แค่การผลิตงานวิชาการออกมาตามโจทย์

เช่นเดียวกับที่ รศ.สมชาย เห็นว่า การจะทำเช่นนั้นได้ การมีมหาวิทยาลัยที่เป็นชุมชนที่ปลอดภัยมั่นคงสำคัญมาก และการผลักดันประเด็นต่าง ๆ ไม่ควรทำในนามปัจเจกเท่านั้น เพราะการทำให้ทุกคนมองเห็นอารมณ์ ความรู้สึก ความทุกข์ร้อนร่วมกัน จะทำให้ผู้คนมองเห็นถึงปัญหาอื่น ๆ ในสังคม นอกเหนือไปจากตัวเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active