เร่งหารือแนวทางลดขยะพลาสติกดิลิเวอรี 840 ล้านชิ้นต่อปี

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เร่งวางแนวทางลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหารดิลิเวอรี่ ด้านสภาอุตสาหกรรม เตรียมพัฒนาพลาสติกย่อยสลายได้รองรับ พร้อมข้อเสนอให้ผู้บริโภคแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

วันนี้ (27 ธ.ค. 2565) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งหารือภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ครั้งที่ 1/2565 หลังพบว่าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจากความนิยมสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า

ภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทำให้การสั่งอาหารผ่านฟู้ดดิลิเวอรี่ได้รับความนิยมและเติบโตเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562 ที่มีจำนวนราว 35-45 ล้านครั้ง 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า การสั่งอาหารผ่านฟู้ดดิลิเวอรีในแต่ละครั้ง สร้างขยะกว่า 7 ชิ้น ได้แก่ กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด (หรือเท่ากับว่ามีขยะพลาสติกจากธุรกิจรับส่งอาหารกว่า 840 ล้านชิ้นต่อปี)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจบริการส่งอาหาร (Platform) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งมีผลการดำเนินงาน อาทิเช่น โครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) ปัจจุบันมีจุดรับคืนพลาสติก (Drop Point) จำนวน 465 จุด โครงการส่งเสริมการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทร้านกาแฟ (Green coffee shop) ส่งเสริมให้ร้านกาแฟปรับเปลี่ยนแนวคิดเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

“โดยปัจจุบันมีร้านกาแฟเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 30 หน่วยงาน รวม 9,580 สาขา ทั่วประเทศ รวมถึงรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในการช่วยกัน ลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ประกอบกับการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางหลังการบริโภค ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ”

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานครยังพบว่าสัดส่วนขยะพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลได้ลดน้อยลง ในขณะที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ปนเปื้อนเศษอาหารเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีการคัดแยกขยะ ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่จัดเก็บได้เป็นขยะประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อนใส่อาหาร กล่องอาหาร ขวดน้ำ และแก้วน้ำ

ด้าน ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะเลิกใช้พลาสติกในธุรกิจรับส่งอาหารเนื่องจากเป็นมีความสะดวกต่อการใช้งาน เพราะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในปัจจุบันยังไม่สามารถใส่ของร้อนได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นเพราะพลาสติกชีวภาพราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป จึงเสนอว่าควรกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบต่อขยะในมือตัวเอง ด้วยการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น การเข้าร่วมโครงการไม่เทรวมของ กรุงเทพมหานคร ในการแยกขยะเปียกและแห้งออกจากกัน เพื่อนำไปทำปุ๋ยและเชื้อเพลิง เป็นประโยชน์ในอีกทาง

“บรรจุภัณฑ์พลาสติกดิลิเวอรีมีความจำเป็น หนีไม่พ้นด้วยคุณสมบัติ เบาใช้งานได้สะดวก และเรายังหาวัสดุอื่นมาทดแทนค่อนข้างยาก มีข้อจำกัดหลายด้าน อย่างต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่ต้องสร้างความรับผิดชอบของสังคม เช่น เข้าโครงการไม่เทรวม ขยะบรรจุภัณฑ์ที่แยกออกไป ถูกทิ้งให้ถูกต้อง ถูกเผาเป็นพลังงานหรือไฟฟ้า เป็นทางออกหนึ่ง ในอีกทางเราพยายามเร่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติชีวภาพให้สามารถหย่อยสลายได้และทนร้อนได้ด้วย อีกเรื่องคือต้องให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อพลาสติกชีวภาพได้ถูกต้องตามมาตรฐานเพราะทุกวันนี้ของปลอมก็มีเยอะ”

ขณะที่ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 กำหนดว่าแล้วปี 2565 นี้ ต้องลดและเลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้วที่หนาน้อยกว่า 36 ไมครอน และแก้วพลาสิกที่ขนาดน้อยกว่า 100 ไมครอน รวมถึงการพัฒนาระบบนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ circular economy แต่วันนี้ชัดเจนว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active