ปิด รพ.สนามธรรมศาสตร์ ถอดบทเรียน กักตัว-ลดขยะ

วางแผนเดินหน้าขับเคลื่อนปทุมธานีโมเดล ส่งเสริมสุขภาวะคนปทุม รับมือโควิด-19 พร้อมกับกระจายองค์ความรู้ลดการใช้ขยะ

วันนี้ (16 มี.ค. 2564) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกาศปิดให้บริการ หลังจากเปิดรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ในเขตสุขภาพที่ 4 จากการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการปิดทำการในครั้งนี้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สามารถควบคุมได้ และไม่มีผู้ป่วยเข้าใช้บริการแล้ว

นอกจากความร่วมมือในการรักษาพยาบาล ที่นี่ยังเป็นแบบอย่างสำคัญของการลดปริมาณขยะอีกด้วย จึงมีการจัดเวทีเสวนา “บทเรียนโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เรื่อง zero waste และความยั่งยืน ในสถานการณ์ โควิด-19”

ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้จัดหาชุด PPE แบบใช้ซ้ำได้ 20 ครั้งต่อชุด สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย เพื่อลดปริมาณขยะจากอุปกรณ์การแพทย์ จัดให้มีการใช้ปิ่นโตสำหรับใส่อาหารของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ ประกอบกับภาชนะแบบล้าง เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงยังจัดให้มีถังแยกขยะในทุกจุดทิ้งขยะ ส่วนที่รีไซเคิลได้จะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลของมหาวิทยาลัย ส่วนที่เป็นขยะทั่วไปเทศบาลจะมารับไปกำจัด นอกจากนี้ยังมีการแยกเศษอาหารในถังหมักเฉพาะ สำหรับทำน้ำหมักเป็นปุ๋ยรดต้นไม้

ที่ผ่านมาอาจมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าการใช้ภาชนะใช้แล้วทิ้งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทำให้คนมักสั่งซื้ออาหารจากแอปพลิเคชัน แต่ที่จริงแล้วภาชนะใช้ซ้ำอย่างปิ่นโต หากล้างให้สะอาดอาจปลอดภัยกว่าการใช้กล่องโฟมหรือพลาสติกเสียอีก เพราะภาชนะที่ผ่านหลายมือนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงที่มากกว่า

ด้าน ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้จัดการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากนี้วางแผนจะขับเคลื่อนปทุมธานีโมเดล ส่งเสริมสุขภาวะของคนปทุม ให้แข็งแรงรับมือโควิด-19 และกระจายองค์ความรู้ลดการใช้ขยะไปพร้อม ๆ กัน

แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อจำนวนนับแสนคน ตรงกันข้าม ผู้ป่วยโควิด-19 หากไม่มีโรคประจำตัวมีโอกาสรักษาหายมากกว่า จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องรักษาสุขภาพของตัวเอง สร้างความแข็งแรงตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ความเสี่ยงในการป่วยลดลง ด้วยการผลักดัน ปทุมธานีโมเดล ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ประชาชนลดการผลิตขยะด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้