บุกหลังบ้าน VOTE62 ชวนอาสาสังเกตการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

เกาะติดหน่วยเลือกตั้ง 6,000 หน่วย 50 เขต เปลี่ยนประชาธิปไตย 2-3 วินาที สู่การสร้างส่วนร่วมทุกขั้นตอนเลือกตั้ง พร้อมสร้างข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ และ OPEN DATA

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 3 วันก็จะถึงการเลือกตั้ง กทม. เว็บไซต์ VOTE62.com เชิญชวนประชาชนผู้สนใจร่วมเป็น “อาสาสมัคร” รายงานผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมภาคพลเมืองในการนับคะแนนเลือกตั้งแบบคู่ขนาน (parallel vote tabulation) เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และแม่นยำ สามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยที่สนใจวันนี้ได้ที่ VOTE62.com

เก่ง-ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ร่วมก่อตั้งโหวต 62 และบริษัท Opendream บอกว่า ไทยห่างหายจากการเลือกตั้งมานาน ที่ผ่านมารู้สึกได้ถึงการมีส่วนร่วมในระยะสั้น ผ่านการเข้าคูหา กากบาทเลือกตั้ง-เพียงเวลาไม่กี่วินาที หรือเรียกว่าประชาธิปไตย 2-3 วินาที ทีมงานจึงรวมกันคิดต่อว่า ควรจะทำอย่างไรให้มีพิธีกรรมอื่นนอกเหนือจากการเลือกตั้ง และทำให้ประชาชนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมมากกว่าแค่ในคูหาเท่านั้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ยากที่สุด คือการดึงดูดอาสาสมัครธรรมชาติรู้สึกมีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยมากกว่าเดิมได้อย่างไร เพราะกลไกการทำงานแต่ละครั้ง คือการให้อาสาสมัครจากภาคประชาชน และจากพรรคการเมือง หน่วยงานอื่น ๆ ร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่สำหรับปีนี้ VOTE62 จะทำข้อมูลสนับสนุนช่วยให้องค์กรที่เข้ามาช่วยมอนิเตอร์ เรียกว่าเป็นทั้ง พื้นที่เก็บข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ และข้อมูลเปิด (Open Data) ให้หน่วยงานที่ต้องการใช้มูลการเลือกตั้งนำไปต่อยอดได้ง่าย

“ที่ผ่านมารู้สึกได้ถึงการมีส่วนร่วมในระยะสั้น (ประชาธิปไตย 2 วินาที) ช่วงการหย่อนบัตรเข้าคูหา เราต้องการขยายความรู้สึกนี้ออกไปนอกคูหาด้วยการให้ประชาชน ร่วมสังเกตการณ์ช่วงปิดหีบ เพราะมีต้นทุนน้อยที่สุดแล้ว แต่คงยังไม่เพียงพอ การเลือกตั้งระดับชาติ ตั้งใจจะทำให้ การมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-และหลังการเลือกตั้ง…”

เก่ง-ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ร่วมก่อตั้งโหวต 62 และบริษัท Opendream

เก่ง-ปฎิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ร่วมก่อตั้ง VOTE62 เปิดบ้านดูการทำงานของทีมงานบริษัท Opendream

เปลี่ยนประชาธิปไตย 2-3 วินาที เป็นการมีส่วนร่วมผ่าน VOTE62.com

VOTE62.com คือ ระบบการรายงานผลการเลือกตั้งแบบคราวด์ซอร์ส (crowdsourcing) ที่ให้ทุกคนช่วยกันถ่ายรูปผลการนับคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งต่างๆ แล้วอัปโหลดภาพเข้าไปในระบบ เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาที่เว็บไซต์ช่วยกันกรอกคะแนนจากภาพถ่าย ข้อมูลคะแนนเหล่านี้จะถูกนำไปตรวจสอบและเปรียบเทียบผลการนับคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดย VOTE62 เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป นำโดย open dream บริษัทไอทีที่สนใจงานประมวลผลข้อมูลสาธารณะ VOTE62.com เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งมาตั้งแต่ 24 มิ.ย.2562 ใน 4,000 หน่วย จาก 90,000 หน่วยทั่วประเทศ พิสูจน์สมมุติฐานความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน และขยายโมเดลนี้ไปถึงการเลือกตั้งระดับอื่นๆ ที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 มีภาพถูกส่งเข้ามาจากทั่วประเทศทั้งสิ้น 10,288 ภาพ และมีการกรอกข้อมูลไป 18,840 ครั้ง VOTE62 ได้ลองสนามทั้งการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562, การเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อปี 2563 และเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ต่างๆ เช่น สมุทรปราการเขต 5 ลำปางเขต 4 กำแพงเพชรเขต 4 และขอนแก่นเขต 7

ส่วนการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ ที่หน่วยเลือกตั้งกระจายอยู่มากกว่า 6,000 หน่วย มีประชาชนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์แล้วกว่า 1,000 คน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองว่า การเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่วุ่นวายทั้งการนับคะแนน และการรายงานผลคะแนน มีคะแนนขึ้นลงอยู่ตลอดทั้งคืน กว่าที่ กกต.จะรายงานครบก็ใช้เวลานาน กระบวนการนับคะแนนเองก็ยังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาอีกไม่น้อย เพราะการที่ กกต.รายงานผลฝ่ายเดียว แต่ภาคประชาชนไม่สามารถตรวจสอบ หรือ ตั้งคำถามได้นั่นเอง

การมีหลักฐานจึงจำเป็น และสำคัญมาก การมี VOTE 62 จึงเป็นการสร้าง และรายงานผลคะแนนด้วยตัวเองรายงานสดจากหน้าคูหา เขาย้ำว่าประชาธิปไตยไม่ควรต้องรอเฉพาะวันเขาคูหา แต่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้มากกว่าแค่การออกเสียงเลือกตั้ง ในรอบนี้เห็นสื่อหลายสำนัก องค์กรต่างๆ ลุกขึ้นมาสร้างเครื่องมือใหม่ ค้นหาข้อมูลว่าผู้ว่าคนไหนลงสมัครด้วยนโยบายแบบใด ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น การเลือกตั้ง กทม. จึงคล้ายกับการซ้อมใหญ่ เพราะเลือกตั้งทั่วไปที่จะตัดสินอนาคต คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี การมีเครื่องมือใหม่ ๆ ออกมาให้ประชาชนเข้าถึง และมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งได้ ทำให้ ประชาชนใช้สิทธิ์ได้ง่ายขึ้น

ยิ่งชีพ ทิ้งท้าย ภาครัฐ ไม่ต้องทำเอง ภาคประชาชนมีเครื่องมือตรวจสอบอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องสนับสนุนให้ประชาชนใช้ข้อมูลได้อย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมากลับปฏิบัติเหมือนเครื่องมือเหล่านี้ไม่มีอยู่ หากไม่ห้าม หรือขัดขวาง ก็จะยิ่งทำให้ประชาธิปไตยลักษณะเติบโตและไปได้ไกลกว่าเดิมหลายเท่าตัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน