เมื่อ “อาสาสมัคร” กำลังร่วมต่อสู้ รัฐจะเสริมพลังให้สู้ต่อได้อย่างไร ?

‘อาสาสมัคร’ ชี้ ภาวะสงครามโรคระบาด ต้องปลดล็อกระเบียบมาตรฐานทางการแพทย์ ‘สภากาชาดไทย’ กระโดดช่วยส่งต่อทรัพยากร หวังเป็นตัวกลางประสานรัฐ

เส้นด้าย – Zendai เราต้องรอด เป็ดไทยสู้ภัย หมอแล็บแพนด้า Let’s be heroes foundation ฯลฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่เพื่อจุดมุ่งหมายหลัก คือ “ช่วยชีวิตคน” ซึ่งการทำงานล้วนต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้ง คนและงบประมาณ แต่ที่ผ่านมา กลับขาดการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มอาสาสมัครอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตนี้

Active Talk คุยกับ คุยกับ ‘นพ.พิชิต ศิริวรรณ’ รอง ผอ.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และ ‘พณชิต กิตติปัญญางาม’ หัวหน้าทีมกลุ่มอาสาเป็ดไทยสู้ภัย เพื่อร่วมกันคลี่ปัญหาคอขวด กฎระเบียบ ข้อจำกัดการตรวจ รอผล รับเข้าระบบ รวมไปถึงการจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร ที่ยังรอการปลดล็อก

ช่วยหนุนเสริมทีมอาสาที่ทุ่มเทอยู่แล้ว ให้มีแรงใจ และทำต่อไปได้ยาว ๆ โดยที่ไม่หมดแรงเสียก่อน

นพ.พิชิต ศิริวรรณ ด้วยบทบาท รอง ผอ.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ถือเป็นหนึ่งหัวเรือใหญ่ นำสู่การพูดคุยและหาทางออกระหว่างกลุ่มอาสาสมัคร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ปัญหาหน้างานได้รับการแก้ไข และผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที

ก่อนหน้านี้สภากาชาดไทยในส่วนของสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ก็ถือว่าทำงานด่านหน้าเหมือนอาสาสมัครอื่น ๆ ตั้งแต่การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้กักตัว ส่งต่อถุงยังชีพ และสิ่งที่จำเป็นให้แก่ผู้เดือดร้อนทั่วประเทศ รวมถึงการร่วมระดมอาสาสมัครพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนกับกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) อย่างเต็มที่

แต่สถานการณ์ที่มีความเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น สภากาชาดไทยจึงสำรวจปัญหาและการทำงาน ทำให้พบว่า มีกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานดูแลผู้ป่วยอย่างหนักเป็นเวลานานตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่กลับต้องลงทุนไปกับเรื่องทรัพยากรจำนวนมาก ต้องคอยหาอุปกรณ์ช่วยเหลือ ระดมทุนหาเงินด้วยตนเอง ซึ่งช่องว่างตรงนี้ หากสามารถนำทรัพยากรของภาครัฐที่มีอยู่แล้วมาช่วยเหลือได้ จะสามารถทำให้การทำงานเดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“สภากาชาดไทยปวารณาตัวเองว่าในสถานการณ์นี้ เราจะมาช่วยหนุนเสริมทีมอาสาสมัครที่ทุ่มเทอยู่แล้ว ให้มีแรงใจ และทำต่อไปได้ยาว ๆ โดยที่ไม่หมดแรงไปเสียก่อน ไม่ใช่ให้เขาทำจนเหนื่อย เครียด กดดัน แล้วยังต้องควักเงินเองอีก จะทำอย่างไรจะดึงทรัพยากรมาให้เขา…”

นพ.พิชิต ศิริวรรณ

แนวทาง Home Isolation หรือการรักษาตัวที่บ้าน เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นตัวกลาง เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้มีการขึ้นทะเบียน สภากาชาดไทย ให้เป็นหน่วยบริการ ที่สามารถรับทรัพยากรจาก สปสช. มาจัดการส่งต่อให้กับอาสาสมัครหน้างานได้ ซึ่งงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านจำนวน 1,000 บาท/คน/วัน รวมถึงอาหาร 3 มื้อ ยารักษาโรคทั้งฟาวิพิราเวียร์หรือยาฟ้าทะลายโจรนี้ ไม่สามารถจ่ายให้กับกลุ่มอาสาสมัครได้โดยตรง และก่อนหน้านี้ หน่วยบริการ เช่น สถานพยาบาลต่าง ๆ ต้องทำการรักษาผู้ป่วยอยู่แล้ว การไปให้บริการผู้ป่วยที่บ้านอีก จึงเป็นสิ่งที่ล้นเกินศักยภาพ

แต่หากอาสาสมัครเหล่านี้มีความใกล้ชิดและสามารถนำอุปกรณ์ให้กับผู้ป่วยได้โดยตรง สภากาชาดไทย จึงเข้ามาเป็นตัวกลางเบิกเงินจาก สปสช. และสนับสนุนให้กลุ่มอาสาสมัครทำงานได้ต่อไป

กลุ่ม Home Isolation เพราะภาวะจำยอม น่าเป็นห่วง

พณชิต กิตติปัญญางาม หัวหน้าทีมเป็ดไทยสู้ภัย ซึ่งเป็นอาสาสมัครหลังบ้าน ที่วางระบบการดูแลผู้ป่วย ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างอาสาสมัครและหน่วยงานของรัฐ เล่าให้ฟังถึงการทำงานว่า เป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ “การรักษาชีวิต” ว่าจะสามารถทำได้อย่างไรได้บ้าง ในขณะที่เวลานี้กลุ่มผู้ป่วยที่อาสาสมัครให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ “กลุ่มสีแดง” ที่มีอาการรุนแรงและต้องได้รับเตียงอย่างเร่งด่วน รองลงมา คือ “กลุ่มสีเหลืองเข้ม” และ “สีเหลือง” ที่ต้องพยายามหาเตียงรักษาเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงไปมากกว่านี้ แต่ตนยอมรับว่าข้อจำกัดสำคัญของกลุ่มนี้ คือ เตียงและบุคลากรเต็มขีดความสารถแล้ว

กลุ่มอาสาสมัครแต่ละกลุ่มจะมีทีมแพทย์คอยคัดกรองผู้ป่วยเป็นของตนเอง และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมการแพทย์และศูนย์เอราวัณ ให้การช่วยเหลือผู้ป่วย คือ การหาเตียง ส่งรถไปรับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด

แต่ปัญหาสำคัญตอนนี้ คือ ข้อมูลผู้ป่วยกลายเป็นคอขวด “ไหลเข้ามาเยอะมาก” แต่ “หาทางออกไม่ได้” เนื่องจากผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่เตียงและบุคลากรมีจำกัด

“ตอนนี้ระบบของเราไปต่อไม่ได้ เพราะเตียงเต็มแล้ว ตอนแรกเราออกแบบระบบให้ข้อมูลผู้ป่วยสามารถไหลเข้ามาได้เยอะ ๆ แต่ตอนนี้ข้อมูลหาทางออกไม่ได้ เพราะเตียงสีเหลืองและสีแดงเต็มแล้ว เราจึงเข้าไปคุยกับกรมการแพทย์ โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือ ต้องมาดูแลสีเขียวเข้ม ซึ่งเป็นกลุ่ม Home Isolation ภาวะจำยอม เพราะไม่มีที่ไหนรับ ทำอย่างไรที่จะดูแลกลุ่มนี้… “

พณชิต กิตติปัญญางาม

พณชิต เล่าอีกว่า ผู้ป่วย 100 คน จะไม่มีอาการหรืออาการน้อย 80 คน คือเป็น “สีเขียว” และ “สีเขียวเข้ม” ณ ตอนนี้กลุ่มอาสาของเราไม่ได้ดูแลสีเขียวเลย เพราะมองว่ามีหน่วยงานของรัฐที่คอยดูแลอยู่แล้ว แต่กลุ่มสีเขียวเข้ม ที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่นอายุเกิน 60 หรือมีโรคประจำตัว กลุ่มนี้จะหาที่รักษายาก นอกจากโรงพยาบาลสนามบุษราคัม จึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่าในขณะที่เขาไม่มีเตียงรักษา จะประคองอาการไม่ให้หนักกว่านี้ได้อย่างไร

Home Isolation ต้องรวดเร็ว ไร้รอยต่อ เพื่อลดอัตราการครองเตียง

นพ.พิชิต เล่าย้อนถึงปัญหาการตรวจเชื้อก่อนจะเข้ารับการรักษาว่า เมื่อผู้ป่วยตรวจพบเชื้อแล้วมีสถานที่ตรวจจำนวนมาก “ไม่ส่งข้อมูลเข้าระบบ” ทำให้ไม่ได้รับข้อมูล และไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ ผู้ป่วยบางรายต้องรอ 5 – 6 วันกว่าจะได้รับข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งเตือนไปยังสถานที่รับตรวจว่ามีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย ซึ่งในอนาคต อาจกำหนดมาตรการที่เข้มข้นต่อไป

จากนั้น เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว ก็มีปัญหาอีกว่า “ไม่มีหน่วยบริการรับไปดูแล” ขาดเจ้าภาพดูแลผู้ป่วย เพราะทุกที่ก็งานล้นมือ ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่บ้านโดยไม่ได้รับการรักษา เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนหลายพันคน ทางออกของเรื่องนี้ คือ ต้องระดมอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จังหวัดใด ต้องสามารถให้การรักษาทางไกล หรือ Telemedicine ได้ และยังเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเห็นว่าผู้ป่วยสีเขียวแม้ไม่มีอาการมาก ก็ควรได้รับยาไวที่สุด และส่วนที่จะช่วยได้ดีที่สุดก็คือ อาสาสมัคร ซึ่งในตอนนี้สภากาชาดไทย ก็เป็นหน่วยบริการที่มียาอยู่ในการดูแลแล้ว จึงพร้อมให้การสนับสนุนเมื่อมีการติดต่อเข้ามา

พณชิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ ปัจจุบันนี้ กรมการแพทย์ และ สปสช. ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ระบบ Home Isolation โดยใช้ผลตรวจจาก Antigen Test Kit หรือชุดตรวจอย่างง่ายได้แล้ว ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือการให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วย ซึ่งกรมการแพทย์ก็มีหลักเกณฑ์ดูแลที่ทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยง่ายขึ้น แม้ไม่มีอาการรุนแรง หรือปอดอักเสบ และฝากถึงผู้ป่วยว่าหากใครที่มีปัจจัยเสี่ยงควรขอยาฟาวิพิราเวียร์ไว้ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเอง

และล่าสุดจากการทำงานร่วมกันของกลุ่มอาสาสมัครและกรมการแพทย์ มีความคืบหน้าสำคัญ คือเราสามารถจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านสายด่วน 1668 ได้แล้ว โดยใชระบบ Co-Link ที่ประเมินอาการของผู้ป่วย และจะมีเจ้าหน้าโทรกลับไปหาผู้ป่วยว่าได้รับยาหรือยัง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครหากผู้ที่มีความเสี่ยงก็สามารถประสานขอความช่วยเหลือได้ทันที ถือเป็นการจัดการผู้ป่วยในระดับสีเขียวเข้มที่ไม่มีเตียงสำหรับการดูแลให้ไม่ให้มีอาการขยับมาเป็นสีเหลืองหรือ สีแดง เพราะเราไม่สามารถขยายเตียง หรือ ICU ได้แล้ว

แก้ปัญหาสายด่วนหลายหน่วยงาน แนะรัฐ เพิ่มจำนวนไม่ช่วยให้ดีขึ้น

นพ.พิชิต เล่าว่า จากการประชุมร่วมกับอาสาสมัครและหน่วยงานของรัฐมองเห็นปัญหาตรงกันว่า สายด่วนที่มีหลายเบอร์นั้นสร้างปัญหาให้แก่การบริหารจัดการและประชาชน เพราะเมื่อผู้ป่วยหรือญาติรู้ว่าติดเชื้อจะเกิดความกังวล และโทรทุกเบอร์ที่มี ทำให้ข้อมูลกระจัดกระจาย ที่ประชุมมีแนวทางที่จะเชิญหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญในด้าน Call Center มาร่วมออกแบบระบบที่เหมาะสม โดยเป็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ แม้จะช้าเกินไป แต่ยังดีกว่าไม่มีการแก้ไข เพื่อในอนาคตอาจเกิดระบบการรับเรื่องร้องเรียนเร่งด่วนเพียงเบอร์เดียวเหมือนกับต่างประเทศ

พณชิต ในฐานะผู้มีประสบการณ์ และวางระบบการรับข้อมูลผ่านเบอร์ 1422 ร่วมกับกรมควบคุมโรคก่อนหน้านี้ มองว่าเป็นสิ่งที่ดีหากจะเปลี่ยนมาใช้เบอร์เดียว และให้คำแนะนำว่าการเพิ่มจำนวนคู่สายและพนักงานรับสาย ไม่ช่วยให้การรับข้อมูลนั้นดีขึ้น สิ่งสำคัญคือภาครัฐ ต้องเข้าใจบริบทหน้างานเสียก่อย สามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้ที่โทรเข้ามาต้องการข้อมูลอะไร และเน้นใช้ระบบอัตโนมัติคัดกรองให้ได้มากที่สุด โดยลดการใช้กำลังคน แต่หากเพิ่มคู่สาย แต่ยังคงใช้เจ้าหน้าที่มารับเองทุกสายย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ยกตัวอย่างในสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องคิดว่าคนตรวจด้วย Antigen Test Kit แล้วผลพบว่าติดเชื้อจะทำอย่างไร อาจจะต้องออกแบบว่า ให้ใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักก่อนหรือไม่ หลังจากนั้นขอข้อมูลด้วยระบบอัตโนมัตินำข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน และให้สถานพยาบาลมารับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อไป

เสนอทลายกฎระเบียบที่ผูกมัด ภาวะสงครามโรคต้องรักษาชีวิตเป็นสำคัญ

พณชิต เล่าว่าจากการรับฟังปัญหาจากอาสาสมัครหน้างาน อุปสรรคที่สำคัญที่สุด คือ การทำหน้าที่ของบุคลากรที่ยึดติดกับระเบียบมาตรฐานทางการแพทย์มากเกินไป จนทำให้บ้างครั้งไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

ยกตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยสีแดง ที่ต้องการเตียง ICU แต่ไม่สามารถหารถมารับได้ เพราะต้องใช้รถสำหรับการขนย้ายผู้ป่วยหนักตามที่ระเบียบกำหนดเท่านั้น ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ควรคำนึงถึงการรักษาชีวิตเป็นสำคัญ

“เราอยู่ในภาวะสงครามที่การตัดสินใจหน้างานเกิดขึ้นตลอดเวลา ข้อจำกัดที่มัดมือแพทย์ให้ต้องทำตามมาตรฐาน จนไม่กล้าช่วย หรือรับผิดชอบผู้ป่วยเพราะกลัวถูกฟ้อง ในภาวะสงครามเราจะคาดหวังวิธีการที่ได้มาตรฐานที่สุดไม่ได้ เราต้องคาดหวังสิ่งที่จะช่วยชีวิตได้ดีที่สุด … ”

พณชิต กิตติปัญญางาม

เช่นเดียวกับ นพ.พิชิต ที่มองเห็นปัญหาในเรื่องดังกล่าวว่าควรมีการพูดคุย และนำไปสู่การแก้ไข เพราะในตอนนี้กลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ล้วนมีแพทย์และพยาบาลของตน ผู้ทำหน้าที่รักษาเหล่านี้ก็กังวลว่าหากรักษาไปแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ใช่สถานพยาบาล ถ้าหากรักษาไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง จะทำให้เกิดความกังวล

แต่ในเบื้องต้นจากการพูดคุยกับทางแพทยสภา และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น พบว่ามีกฎหมายรองรับกรณีที่ต้องให้การรักษาบุคคลซึ่งอยู่ในอันตราย จะไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่อย่างไรก็ตามต้องออกมาเป็นแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

“ทุกฝ่ายมีความตั้งใจดีหมด แต่เมื่อมารวมกันแล้วจะมีพลัง และเมื่อมีคนรับฟังก็จะมองเห็นปัญหาร่วมกันและสามารถแก้ไขได้ เริ่มมองเห็นอนาคตที่ดีขึ้น เพราะการทำงานคนเดียวก็จะหมดพลังได้ง่าย…”

นพ.พิชิต ศิริวรรณ

“ธงกาชาด” ในภาวะสงคราม คือ สัญลักษณ์ของการช่วยชีวิต การดูแลรักษา ในเมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการต่อสู้ในสมรภูมิรบ สภากาชาดไทยกำลังทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ขององค์กร ในการช่วยเหลือกำลังพลด่านหน้าอย่าง “อาสาสมัคร” ให้มีพลังต่อสู้กับสงครามนี้ต่อไปด้วยความร่วมมือ

แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดจากการรับฟังต้องได้รับการแก้ไข จากผู้กำหนดนโยบาย เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ การลดอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 นั่นเอง


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้