เสนอแยกกฎหมายสัญชาติ เพื่อผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะ

นักวิชาการ สะท้อนปัญหาการขอสัญชาติของกลุ่มผู้เฒ่าชาติพันธุ์ ใช้เวลานาน บางรายเสียชีวิตไปก่อน ส่งผลให้เสียสิทธิหลายอย่างทั้งเบี้ยยังชีพ การรักษาตามสิทธิบัตรทอง เสนอลดขั้นตอนความซับซ้อน

จากวงเสวนาการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดมีผู้เฒ่าจากหมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้รับสัญชาติแล้ว 14 คน ภายหลังขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี ซึ่งในอดีตการได้รับสัญชาติของผู้เฒ่าชาติพันธุ์กลุ่มนี้ มักติดขัดเงื่อนไขกฎเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อเดือน ต้องพูดภาษาไทยได้ และต้องตรวจประวัติอาชญากร ต่อมาภายหลังทางมูลนิธิฯ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงมีการออกหนังสือเวียนโดยอาศัยดุลพินิจของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ยกเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวกับผู้เฒ่าไร้สัญชาติกลุ่มชาติพันธ์ุ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 นำมาสู่การทำกรณีศึกษาในพื้นที่ 

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาทางจังหวัดเชียงรายได้นำคำร้องผู้เฒ่าจากหมู่บ้านป่าคาสุขใจ 22 คนมาพิจารณาเบื้องต้นได้รับสัญชาติ 15 คน ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.สัญชาติ เสียชีวิตไป 1 คนเหลือ 14 คน จนได้รับพระบรมราชานุญาตให้สัญชาติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ประกาศรายชื่อในราชกิจจาเบกษา และทำบัตรประชาชนไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาดำเนินการตามกรอบ 750 วัน หรือกว่า 2 ปี ซึ่งนับว่าได้รับสัญชาติเร็วที่สุดหลังยื่นเรื่องไป 

จากการถอดบทเรียน กรณีศึกษาผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธ์ุที่ได้รับสัญชาติ 14 คน ยังพบว่า 1. การขอสัญชาติมีความซับซ้อน มีข้อเสนอให้ลดขั้นตอนลง 2. ในกรณีอื่น ๆ กรอบระยะเวลา 2 ปี ตามกรอบ 750 วันควรทำได้เช่นเดียวกัน และ 3. ควรเปิดให้มีการติดตามขั้นตอน ความคืบหน้าผ่านระบบออนไลน์ ขณะที่อีกปัญหาคือกลุ่มจังหวัดที่มีประชากรที่ต้องพัฒนาสถานะทางทะเบียน เช่น จ.เชียงราย ไม่มีสำนักทะเบียนจังหวัด ฝ่ายสัญชาติมีเจ้าหน้าที่ 10 คน รับเรื่อง 2,000 กว่าแห่ง 

ด้าน รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร นักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติเสนอว่าเพื่อการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ของผู้ที่มีสัญชาติไทยในปัจจุบัน ระยะยาวควรแยกกฎหมายการแปลงสัญชาติแก่คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ที่ผ่านมามีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่เสียชีวิตไประหว่างการขอสัญชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้เฒ่าที่ยังมีชีวิตและรอสัญชาติยังต้องเสียสิทธิหลายอย่าง เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การรักษาตามสิทธิบัตรทองที่ครอบคลุมมากกว่าเดิน การได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการใช้สิทธิเลือกตั้ง 

“ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมสมองจากภาคประชาชน และนักวิชาการเพื่อจัดทำร่างกฎหมายสัญชาติเพื่อผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมา หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย หรือ จะทำร่างกฎหมายไปเสนอต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ในร่วมกันผลักดันต่อไป”

ด้าน พิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร ผู้แทนอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการแปลงสัญชาติเพียงฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2551 หากเป็นต่างด้าวทั่วไปเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ก็จะมีกระบวนการตรวจสอบ แต่ข้อเสนอจากวงเสวนาวันนี้ ต้องการจะแยกกฎหมายสัญชาติออกมาเฉพาะ เพราะเรามองว่าอยู่ไทยมานาน ไม่ควรไปปนกับคนที่เพิ่งเข้ามา เช่น ตู้ห่าว 

“กลุ่มชาติพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้มี 4 แสนกว่าคน เกิดในไทย 1 แสนคน ที่เหลืออีก 3 แสนคนย้ายเข้ามา กำลังเข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติ 3 แสนคนคือได้จัดทำทะเบียนเอาไว้ แต่ต้องมาดูกันอีกชั้นหนึ่งว่า จะได้สัญชาติครบทุกคนหรือเปล่า” 

ลูกหลานชาวอาข่า อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้รับสัญชาติไทยกันหมด แต่ปู่ ย่า ตา ยาย ยังไม่เป็นคนไทย

พิธาสรวง กล่าวอีกว่า สำหรับ ตู้ห่าว ขอสัญชาติปี 2554 ได้สัญชาติปี 2556 ในล็อตที่ได้พร้อมกันมี 120 คน กระบวนการของการคัดกรองต้องยอมรับว่าเราทำโดยเสมอภาคไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติเลย เพราะว่ากระบวนการรับคำร้องในเบื้องต้นของคนต่างด้าวทั่วไป ตำรวจสันติบาล จะเป็นคนรับคำร้องกระทรวงมหาดไทยเป็นเพียงผู้นำเข้าคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น 

การแปลงสัญชาติจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่มีพนักงานเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง เป็นทางอำเภอ จังหวัด เป็นผู้รับคำร้องเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลุ่มต่างด้าวทั่วไป เช่น ตู้ห่าว ผู้รับคำร้องจะเป็นตำรวจสันติบาล หรือภูธรจังหวัด แต่กระบวนคล้ายกันเช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การตรวจสอบประวัติคนต่างด้าว ต้องส่งไปตรวจสอบทั้ง สันติบาล  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส.   น่วยข่าวกรอง หมายจับคดีอาญา หมายจับต่างประเทศ​ กระบวนการส่วนนี้อาจเกิดความล่าช้า เพราะหน่วยงานเหล่านั้น จะส่งกลับมาใช้เวลาเป็นเดือน 

ถ้าเราใช้กฎหมายราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ควรจะต้องเชื่อมโยงออนไลน์ถึงกันหมด ไม่ต้องส่งหนังสือ  นอกจากนี้ กระบวนการตรวจสอบประวัติเป็นขั้นตอนของการแปลงสัญชาติต้องใช้เวลานานมาก เพราะกว่าจะตอบกลับมาในแต่ละหน่วยต้องใช้เวลานานซึ่งเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการแปลงสัญชาติ 

วงเสวนาการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ จัดขึ้นที่ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) 

ด้าน วราดิศร อ่อนนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเป็นนโยบายของกรมการปกครองโดยจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ชายแดนมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 20 กลุ่มทำให้ยุ่งยาก ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีทำให้มีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นระยะ ๆ และประชากรกลุ่มเป้าหมายอาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งทำให้ยากในการสำรวจและทำทะเบียนประวัติรวมถึงการสอบสวนข้อมูล 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงรายได้เร่งดำเนินการโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนเร่งด่วนให้ได้รับสิทธิเพื่อประกอบอาชีพสุจริตและทำนิติกรรมต่าง ๆ โดยคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่แปลงสัญชาติตามมาตรา 10 ซึ่งดำเนินการไปได้ 78% และทยอยส่งให้ส่วนกลางในการยืนยันการตรวจสอบ นักวิชาการจึงเสนอแยกกฎหมายสัญชาติ เพื่อผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะ

“การแปลงสัญชาติให้ผู้สูงอายุ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก พชภ. ต้องยอมรับว่าในระบบราชการงานด้านสัญชาติเป็นเรื่องยาก เพราะหากผิดพลาดมีบทลงโทษสูง เมื่อ พชภ.มีเจ้าหน้าที่มาช่วยรวบรวมเอกสารก็เป็นการช่วยให้เร็วขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active