โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ประชุมผู้ปกครองแนวใหม่ ให้เด็กนำประชุม วิเคราะห์ความสำเร็จ-ปัญหา ระหว่างเรียนด้วยตัวเอง ขณะที่ รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ ขอพ่อแม่อย่าใช้กรอบคิดเดิมฉุดรั้งเด็ก แนะเปิดใจ อย่างยัดเยียดความฝัน ให้เด็กเป็นพระเอกของชีวิตเขาเอง
จากกรณี มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โพสต์เล่าถึงบรรยากาศการประชุมผู้ปกครองโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง โดยกลุ่มครูแนะแนวเปิดใจขอให้พ่อแม่ฟังเสียงลูก อย่าเอาความฝันตัวเองยัดเยียดเด็ก เด็กเครียดจัดเพราะไม่อาจทำตามฝันตัวเองได้
โดยครูแนะแนวของโรงเรียน เชื่อว่า นักเรียนโรงเรียนนี้มีความสามารถ ไม่ว่าจะเรียนคณะใด วิชาใด หรือมหาวิทยาลัยใดก็ไม่เป็นปัญหา แต่ความทุกข์ของพวกเขาคือ “ถูกบังคับให้ต้องเรียนหมอเท่านั้น” ทั้งนี้ ครูและโรงเรียนยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนนักเรียนทุกคน ที่อยากต่อยอดทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้วยตัวเขาเอง แต่ขณะนี้ยังมีนักเรียนอีกไม่น้อยที่ไม่อยากสอบเข้าคณะแพทย์ อยากเรียนในสาย STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ซึ่งก็ตรงตามเป้าหมายของโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ แต่พ่อแม่กลับไม่เห็นด้วย จนถึงที่สุด แม้ครูแนะแนวจะออกหน้ามาช่วยพูดแทนนักเรียน แต่การตัดสินใจสุดท้ายคือพ่อแม่ของเด็กอยู่ดี
รื้อรูปแบบประชุมผู้ปกครอง ให้เด็กได้เป็นพระเอกในชีวิตของเขาเอง
พรสันต์ เลิศวิทยาวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เปิดเผยกับ The Active โดยอธิบายว่า สมัยก่อนการศึกษาเป็นไปเพื่อป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรมและโรงงาน การบ่มเพาะในสถานศึกษาจึงเป็นลักษณะ ควบคุม (Controlled) ทุกคนต้องเดินตามระบบแบบแผน แต่ทุกวันนี้ สังคมหวังให้โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมโลกยุคใหม่ สร้างทรัพยากรคนที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ แล้วเหตุใดเราถึงยังใช้ระบบการศึกษา 3.0 ในการบ่มเพาะนักเรียนยุค 4.0 จึงอยากให้ผู้ปกครองไม่ฉุดรั้งนักเรียนด้วยกรอบของโลกใบเดิม
โรงเรียนจึงตั้งใจให้การประชุมผู้ปกครอง ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย และร่วมสร้างความเข้าใจในเป้าหมายชีวิตของนักเรียนมากขึ้น จึงได้ปรับรูปแบบการประชุมจาก ‘Parent-Teacher Conferences’ (ผู้ปกครองคุยประชุมกับครู) เป็นรูปแบบ ‘Student-led Conferences’ (นักเรียนเป็นผู้นำการพูดคุย) ซึ่งจากกรณีการเปิดใจของครูแนะแนวล่าสุด ถือเป็นการประชุมผู้ปกครองในรูปแบบใหม่เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
“สิ่งสำคัญของการประชุมนี้ คือการบอกกับครูและผู้ปกครองว่า ‘พระเอกคือนักเรียน’ พวกเขาจะต้องรู้จักชีวิต และตัดสินใจในชีวิตของพวกเขาเอง”
พรสันต์ เลิศวิทยาวิวัฒน์
รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ บอกอีกว่า เดิมทีในวันประชุมผู้ปกครอง เด็กจะถูกกีดกันอยู่ข้างนอกห้องประชุมด้วยความกังวลว่า ครูจะฟ้องอะไรพ่อแม่หรือเปล่า ? หรือ พ่อแม่จะบ่นถึงตนเองกับครูอย่างไรบ้าง ? ทั้งที่เรื่องที่พูดคุยกันอยู่ก็คือเรื่องของนักเรียนเอง แต่ในรูปแบบใหม่นักเรียนจะต้องเป็นฝ่ายเตรียมเนื้อหาการประชุม สรุปผลการเรียนรู้ วิเคราะห์และประเมินผลการเรียนด้วยตัวเขาเอง เพื่อนำมาเล่าให้ครูและผู้ปกครองได้ทราบ ตลอดจนบอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ในหอพัก ทัศนคติ สภาพจิตใจ สุขภาพร่างกาย ตลอดจนเรื่องของความฝันของเขาเอง ซึ่งทั้งหมดนี้พวกเขาจะรู้ตัวเองดีที่สุด
ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนวิธีประชุม พรสันต์ ได้ติดต่อนัดหมายกับทางผู้ปกครองล่วงหน้า ว่าจะประชุมด้วยแนวทางใหม่ เพื่อให้ผู้ปกครองเองต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ เปิดใจพร้อมรับฟังอย่างมี Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) และหากมีปัญหาใดที่นักเรียนเผชิญหน้า แก้ไขไม่ได้ อาจใช้ประสบการณ์ช่วยแนะเสริมพวกเขาได้ตามบริบท ในช่วงท้ายการประชุม อาจมีคำถามจากผู้ปกครองและครูช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดหาทางไปต่อ หรือต่อยอดความฝันเดิมให้ชัดเจนขึ้น
“โจทย์การชวนคุยของนักเรียนแต่ละระดับชั้นแตกต่างกัน อย่าง ม.4 จะเน้นที่เรื่องความสัมพันธ์ ม.5 คือโครงงานวิชาการ และ ม.6 คือแนวทางการศึกษาต่อ ท้ายการพูดคุยนักเรียนจะมีสกัดบทเรียนและแนวทางการพัฒนาตัวเอง 2 ข้อ รวมถึงครูกับผู้ปกครองจะช่วยแนะเพิ่มเติมให้อีกฝ่ายละ 2 ข้อ แต่สุดท้าย เด็กจะเลือกเดินต่อไปอย่างไรนั้น ก็ให้พวกเขาเป็นคนตัดสินใจเอง”
พรสันต์ เลิศวิทยาวิวัฒน์
รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ยอมรับด้วยว่า การประชุมแบบใหม่ครั้งแรก ยังมีความเคอะเขิน ไม่คุ้นชิน ไม่รู้จะพูดแนะนำอย่างไร แต่ครั้งต่อมาหลายคนคุ้นเคยและรู้แนวทางการพัฒนาให้การประชุมมีประโยชน์มากขึ้น สำหรับนักเรียนบางคน ที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดคุยกับพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมา ก็ได้มีพื้นที่ในการพูดคุยกับพ่อแม่ตัวเอง ขณะที่พ่อแม่เองก็ได้รับฟังลูกของตัวเองมากขึ้น
“หน้าที่ของผู้ปกครองและครู คือฟังเขาอย่างเดียว ในช่วง 5 – 10 นาทีแรก สิ่งที่เราอยากจะฟังเขาก็คือ เทอมที่ผ่านมา เขาได้ประสบความสำเร็จ ภาคภูมิใจในเรื่องใดบ้าง และมีเรื่องไหนที่พวกเขากังวลใจที่สุด จะเป็นครูก็ได้ เพื่อนก็ได้ หอพักก็ได้ ให้เขาได้พูดออกมา เด็กบางคนเขาไม่เคยได้มีโอกาสพูดมาก่อน ก็อยากให้ทั้ง 3 ฝ่ายได้เข้าใจ และรับฟังกันมากขึ้น”
พรสันต์ เลิศวิทยาวิวัฒน์
‘การศึกษา’ ตัวการ ‘ความเครียด’ เด็กไทย!
มีข้อมูลจากการสัมภาษณ์เยาวชนโดยเครือข่ายความร่วมมือที่นำโดย UNICEF พบว่า การศึกษาเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอยู่ในภาวะเครียด โดยผู้ปกครองมักคาดหวังบุตรหลานให้มีผลการเรียนที่ดี ขณะที่เยาวชนยังมีภาระที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย
สอดคล้องกับสถิติ กรมอนามัย พบว่า 1 ใน 5 ของเยาวชนมีความคิดจริงจังในการพยายามฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนถึงร้อยละ 65 ไม่ได้รับการสอนในชั้นเรียนเกี่ยวกับการจัดการเมื่อพบว่าเพื่อนคิดฆ่าตัวตาย ส่วนอีกเกือบครึ่งไม่ได้รับการสอนเกี่ยวกับวิธีจัดการความเครียด
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเคยประกาศชัดถึงการยกระดับคุณภาพ ‘ครูแนะแนว’ เพื่อช่วยแนะนำเส้นทางอนาคต ตลอดจนช่วยดูแลสุขภาพใจของนักเรียน เพราะ ‘บริการแนะแนว’ ในสถานศึกษาเป็นภารกิจสำคัญ มุ่งสร้างตัวตนให้ผู้เรียนพร้อมพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งในด้านการศึกษาและอาชีพ โดยใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา และการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มาประยุกต์ใช้
โดยมี ‘ครูแนะแนว’ เป็นผู้ชี้นำให้เกิดกระบวนการพัฒนาตัวตน กล่าวคือ ครูแนะแนวในโรงเรียน ไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว หากแต่มีไว้มอบวิชาชีวิตให้กับผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กมีทัศนคติที่ยืดหยุ่น มีพลังใจที่ดี พร้อมปรับตัวได้ตามยุคสมัย
The Active ชวนย้อนอ่านรายละเอียดการสำรวจปัญหาทางใจของนักเรียนในระบบ และบทบาทของครูแนะแนว ได้ที่ ล้มเหลวและเรียนรู้ : บทเรียนวิชาหัวใจที่หายไปในการศึกษา