ล้มเหลวและเรียนรู้: บทเรียนวิชาหัวใจที่หายไปในการศึกษา

“สุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น คือหนึ่งในประเด็นด้านสุขภาพ

ที่ถูกละเลยมากที่สุด”

UNICEF

ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า ร้อยละ 10-20 ของเด็กและวัยรุ่นทั่วโลกเคยประสบกับภาวะสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ โดยสาเหตุโรคทางจิตเวชกว่าครึ่ง มีอาการเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่งบประมาณด้านสุขภาพจิตของรัฐบาลทั่วโลกยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งหมด ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนถึงร้อยละ 7 ของภาระโรคทั้งหมด

ขณะที่ประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญของเด็กและเยาวชน รายงานภาระโรคในระดับโลกประจำปี 2562 (Global Burden of Disease Study 2019) ประมาณการว่า ความผิดปกติทางจิตและการทำร้ายตัวเองมีสัดส่วนร้อยละ 15 ของภาระโรคทั้งหมดของเด็กและวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี โดยการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับสามของการเสียชีวิตของวัยรุ่นในช่วง 15-19 ปี นอกจากนี้ 1 ใน 14 ของเด็กเล็ก (5-9 ขวบ) ยังมีความผิดปกติทางจิตรวมถึงมีการมีพัฒนาการที่ผิดปกติอีกด้วย 

จากการสัมภาษณ์เยาวชนโดยเครือข่ายความร่วมมือที่นำโดย UNICEF พบว่า การศึกษาเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอยู่ในภาวะเครียด ด้านผู้ปกครองมักคาดหวังบุตรหลานให้มีผลการเรียนที่ดี ในขณะที่เยาวชนยังมีภาระที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตลอดจนการเรียนออนไลน์ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้เยาวชนส่วนมากต้องโดดเดี่ยว

หลังเปิดโฉมศักราชรัฐบาลใหม่ น่าสนใจที่ในแถลงการณ์นโยบายต่อรัฐสภามีการระบุชัดถึงการยกระดับคุณภาพ ‘ครูแนะแนว’ เพื่อช่วยแนะนำเส้นทางอนาคต ตลอดจนช่วยดูแลสุขภาพใจของนักเรียน เท่ากับว่ารัฐบาลเองก็มองปัญหาด้านสุขภาพจิตเด็กไทยต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทาง The Active จึงขอชวนผู้อ่านสำรวจปัญหาทางใจของนักเรียนในระบบและครูแนะแนว 

การศึกษาเพื่อความ ‘เป็นเลิศ’ ไม่สอนให้เด็กไทยรับมือความ ‘ล้มเหลว’

‘บริการแนะแนว’ ในสถานศึกษาเป็นภารกิจสำคัญ มุ่งสร้างตัวตนให้ผู้เรียนพร้อมพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งในด้านการศึกษาและอาชีพ โดยใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มาประยุกต์ใช้ โดยมี ‘ครูแนะแนว’ เป็นผู้ชี้นำให้เกิดกระบวนการพัฒนาตัวตน กล่าวคือ ครูแนะแนวในโรงเรียน ไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว หากแต่มีไว้มอบวิชาชีวิตให้กับผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กมีทัศนคติที่ยืดหยุ่น มีพลังใจที่ดี พร้อมปรับตัวได้ตามยุคสมัย

ท่ามสถานการณ์ของสุขภาพจิตใจเยาวชนที่รุนแรงมากขึ้น ทางครูฟาร์-พิชญาพร สมจันทร์ ครูแนะแนว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดเผยว่า หลังจากที่นักเรียนได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทางโรงเรียนได้รับสัญญาณจากสถาบันอุดมศึกษาถึงสภาวะสุขภาพจิตที่น่าเป็นกังวล โดยเฉพาะนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ จึงร่วมมือกับจิตแพทย์และอาจารย์ด้านโรคทางจิตเวช ริเริ่มโครงการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตกับครูในโรงเรียน ให้สามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นกับนักเรียนได้ และสามารถคัดกรองนักเรียนที่มีแนวโน้มสุ่มเสี่ยงต่อภาวะเครียดหรือซึมเศร้าตั้งแต่ยังอยู่ในโรงเรียน เพื่อหาทางเยียวยาและส่งต่อให้ถึงมีแพทย์ได้ทันท่วงที ก่อนที่ปัญหาจะเลวร้ายมากขึ้นหลังจากเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ริเริ่มมาเป็นเวลาร่วม 5 ปี สามารถช่วยเหลือเด็กนักเรียนไปพร้อมกับติดปีกให้ครูสามารถเป็นผู้สนับสนุนนักเรียนได้ ครูฟาร์ เผยว่า ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เด็กในยุคสมัยนี้จะมีความอ่อนไหวกว่าเด็กรุ่นก่อน ๆ ที่ผ่านมา โจทย์ปัญหาชีวิตพวกเขามีความซับซ้อนขึ้น ในขณะที่หลักสูตรและโรงเรียนอาจไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้พวกเขาแข็งแรงมากพอจะรับมือได้ทุกเรื่อง มิหนำซ้ำ ระบบการศึกษาแบบคัดเกรดนักเรียนยิ่งสร้างแรงกดดันให้นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองต้องแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา

“การศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกเครียด ความกดดันจากการแข่งขัน ความคาดหวัง เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเครียด แล้วก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง เด็กถูกสอนมาตั้งแต่เล็กว่าต้องสมบูรณ์แบบ ให้ได้เป็นที่หนึ่ง …แต่จริง ๆ แล้วเมื่อวันหนึ่งที่เขาพลาด เขาจะยอมรับกับความผิดพลาดตรงนั้นไม่ได้”

ครูฟาร์-พิชญาพร สมจันทร์
ครูฟาร์-พิชญาพร สมจันทร์ ครูแนะแนว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

การสำรวจสถานการณ์ภาวะสุขภาพนักเรียนในประเทศไทย พ.ศ. 2564 โดยกรมอนามัย เผยว่า 1 ใน 5 ของเยาวชนมีความคิดจริงจังในการพยายามฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนถึงร้อยละ 65 ไม่ได้รับการสอนในชั้นเรียนเกี่ยวกับการจัดการเมื่อพบว่าเพื่อนคิดฆ่าตัวตาย ส่วนอีกเกือบครึ่งไม่ได้รับการสอนเกี่ยวกับวิธีจัดการความเครียด สอดคล้องกับการรายงานล่าสุดของ UNICEF เมื่อปี 2565 เผยว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของเยาวชนไทย

จากสถิติข้างต้นพบว่า ห้องเรียนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ที่เท่าทันปัญหาสุขภาวะทางจิตเท่าที่ควร ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขความเครียดและอัตราฆ่าตัวตายของเยาวชนไทย ด้าน ทรงธรรม นนท์ภัทรสกุล ผู้จัดการโครงการก่อการครู ได้เห็นถึงสภาวะปัญหาสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในกลุ่มเยาวชนไทย ชี้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนในห้องเรียนทำให้เด็กเครียดและกดดัน ต้องแข่งขันเพื่อโอกาสทางการศึกษา 

ทรงธรรม ระบุว่าห้องเรียนไทยไม่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่เปิดพื้นที่ให้เด็กไทยได้อ่อนแอบ้าง บรรยากาศที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้รับมือกับความเครียดไม่เป็น เมื่อเจอปัญหา จึงไม่กล้าที่จะเปิดเผยปมภายในใจให้ครูหรือเพื่อนรอบข้างได้รู้ เพราะหวาดกลัวห้องเรียนที่มุ่งเฟ้นหาแต่ความเป็นเลิศ 

“เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วห้องเรียนควรเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้กับความเป็นไปได้ทุกอย่าง แล้วเด็กแต่ละคนสามารถที่จะบอกได้เต็มปากว่า เขาเป็นคนอย่างไร เขาอยากเป็นอย่างไร โดยที่มีครูเป็นคนนำทาง แล้วบอกเขาตลอดว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ผิดพลาดได้ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟค 100%”

ทรงธรรม นนท์ภัทรสกุล
ทรงธรรม นนท์ภัทรสกุล ผู้จัดการโครงการก่อการครู

สอนให้รู้ทันหัวใจตัวเองตอนเป็นผู้ใหญ่ อาจไม่ทันการ

อ้างอิงข้อมูลตัวชี้วัดในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 พบว่า เด็กไทยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของอารมณ์ที่มีผลต่อสุขภาพอย่างเร็วที่สุดตอน ป.4 และจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต อารมณ์ และความเครียดเมื่ออยู่ชั้น ม.2 และไม่ได้มีการเน้นตัวชี้วัดดังกล่าวอีกเลยหลังจากเรียนในชั้นที่สูงขึ้น นอกจากนี้เด็กไทยยังได้รับการสอนเกี่ยวกับการรับมือต่อปัญหาสุขภาพจิตอย่างไม่ทั่วถึงตามข้อมูลอินโฟกราฟิกด้านล่าง

ข้อมูลจากกลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียน สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย

สำหรับ เซีย-นรินรัตน์ อินทะสะมะกุล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มองว่า การเสริมสร้างให้เด็กมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง มีพลังใจ ยืดหยุ่นต่อปัญหา ควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก พอนำมาสอนในชั้นที่สูงขึ้น ครูก็ต้องเร่งสอนให้ทัน เพราะมีเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ที่ต้องเน้นย้ำด้วยเช่นกัน ทำให้เรื่องสำคัญอย่างวิธีการสื่อสารกับเพื่อนที่มีภาวะเครียด การช่วยเหลือเพื่อนที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ตลอดจนวิธีการจัดการกับตัวเองเมื่อเผชิญหน้ากับความวิตกกังวล ไม่ได้ถูกเน้นย้ำและนำไปปฏิบัติใช้นักในชั้นเรียน 

เซีย กล่าวต่อไปว่า การจะสร้างให้เด็กมีจิตใจที่เข้มแข็งได้นั้น ห้องเรียนต้องเริ่มต้นจากการเปิดพื้นที่ให้เด็กนักเรียนรู้จักตัวตนของตัวเองให้ได้ก่อน เพราะทุกวันนี้เด็กไทยมีสภาวะเครียด ก็เพราะการไม่รู้จักตัวตน การไม่รู้ว่าตัวเองถนัดสิ่งใดกันแน่ แค่ต้องขวนขวายทางวิชาการ เรียนให้ทันหลักสูตร เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็หนักมากแล้ว ยังต้องตามหาความชอบ ความเก่งของตัวเองอีก จากประเด็นนี้ เซียมองว่าการศึกษาไทยผลักภาระให้เด็กมากเกินไป

“เรื่องของสุขภาพจิตและความเครียดส่วนใหญ่มันจะมาเรียนในช่วงที่โตขึ้นมาหน่อยแล้ว แต่สำหรับหนู ช่วงที่เครียดที่สุดในชีวิตเรียนคือการค้นหาตัวเองว่าเราชอบอะไรกันแน่ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วค่ะ ในขณะที่หนูอยู่ในสังคมที่ทุกคนเก่งกันหมด เราก็เหมือนกดดันว่าเราต้องค้นหาตัวเองให้เจอเพื่อให้สังคมยอมรับ”

เซีย-นรินรัตน์ อินทะสะมะกุล

เซีย ย้ำทิ้งท้ายว่า สิ่งที่การศึกษาไทยควรทำ ไม่ใช่การที่ผลักให้เด็กทุกคนเป็นที่หนึ่ง แต่คือการที่ทำให้เด็กทุกคนได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการ 

ทาง ครูฟาร์ เองก็เห็นพ้องว่า การสอนให้เด็กเริ่มมาค้นหาตัวเองและสร้างพลังใจที่ดีในช่วงวัยที่เขาเติบโตแล้วนั้นอาจไม่ทันการ เพราะการบ่มเพาะต้องใช้ระยะเวลา และต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีสุขภาพจิตที่ดี สภาพแวดล้อมในสังคมต้องปลอดภัย เด็กต้องมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา และที่สำคัญต้องมีผู้ใหญ่ที่พร้อมสนับสนุนในทุกสิ่งที่เขาอยากเป็น ซึ่งครูเองก็เป็นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดในบริบทของสถานศึกษา จำเป็นต้องสร้างห้องเรียนให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา

นอกจากนี้ หลักสูตรในระบบการศึกษายังถูกผูกขาดไว้ที่ส่วนกลางมากจนเกินไป ครูฟาร์ เผยว่า การที่ทุกคนต้องเรียนเหมือน ๆ กันทำให้เด็กไม่สามารถค้นหาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าที่ตนสังเกต นักเรียนหลายคนชื่นชอบที่จะได้เรียนรู้กับสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข เช่น กิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมชมรม งานอดิเรกส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้พวกเขาค้นหาตัวเองเจอได้ง่ายขึ้น ในขณะที่วิชาแกนกลาง เขาก็อาจจะชอบเนื้อหาบางบทในวิชานั้น แต่ไม่ได้ชอบทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเรื่องของความถนัดและความชอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าที่หลักสูตรแกนกลางจะตอบโจทย์เด็กทุกคนได้ และครูเองก็มีส่วนทำให้เขาชอบหรือไม่ชอบวิชานั้นด้วยเหมือนกัน

“เดี๋ยวนี้ครูไม่ใช่คนที่มายืนสอนอยู่หน้าห้องแล้วแต่ครูต้องเป็นผู้สนับสนุน (Facilitator) หรือเป็นโค้ชให้เด็กในทุกแง่มุมของชีวิต เพราะบางทีเด็กอาจเจ็บปวดจากสิ่งรอบตัว และอยากให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา ปลอดภัยที่หมายถึง เขามาโรงเรียนและสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากเป็น

ครูฟาร์-พิชญาพร สมจันทร์
ภาพส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘แจกันมนุษย์’ ภายในงาน Soul Connect Fest 2023; แจกันแต่ละใบแทนความรู้สึกที่แตกต่างกัน โดยผู้เข้าร่วมจะนำดอกไม้มาปักใส่แจกันที่แทนความรู้สึกตัวเอง ณ ตอนนั้น

ครูไม่ใช่จิตแพทย์ สุขภาพจิตเด็กที่ดี จะเป็นไปได้ต้องมีคนช่วยครูอีกแรง

ย้อนดูสถิติในปี 2562 พบว่ามีเด็กและเยาวชนโทรมาขอคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พุ่งสูงถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยเรื่องที่ปรึกษามากที่สุดคือเรื่องเครียด (51.93%) ต่อมาเมื่อต้นปี 2563 อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เผยว่าทาง สพฐ. จะเตรียมทบทวนบทบาทครูแนะแนว ปรับทัศนคติใหม่ ให้มีความเป็น “เพื่อนคู่คิด” ใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกไว้วางใจในการขอคำปรึกษาจากครูแนะแนว

แม้ทางโรงเรียนจะมีเจตนาที่ดีในการติดปีกให้ครูสามารถมีทักษะการให้คำปรึกษาเบื้องต้น เช่นเดียวกับคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่หวังสร้างระบบเยียวยาสุขภาพจิตให้เกิดขึ้นได้ผ่านกลไกอย่าง ‘ครูแนะแนว’ แต่สุดท้ายแล้ว ครูก็ไม่ใช่จิตแพทย์ และโรงเรียนก็ไม่ใช่คลินิก ครูฟาร์เผยว่า ครูแนะแนวในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีทั้งหมด 6 คน ขณะที่มีนักเรียนถึง 4,000 กว่าคน เท่ากับว่าครู 1 คนต้องดูแลเด็กกว่า 600 ชีวิต และแต่ละคนก็มีปัญหาซับซ้อน ต้องการวิธีการช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป 

แม้ทางภาครัฐจะมีนโยบายจัดหานักจิตวิทยา 1 คน ต่อ 1 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งทาง ครูฟาร์ เองก็มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ภาระของครูแนะแนวในแต่ละโรงเรียนยังคงมีมากเกินกว่าจะดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง และยังมีปัจจัยของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงมากขึ้น จึงย้ำว่า ถ้าจะทำให้ครูแนะแนวสามารถผลักดันเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพควรจัดหาให้มีนักจิตวิทยา 1 คน ต่อ 1 สถานศึกษา โดยอาจจะเริ่มต้นจากโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนที่สำรวจแล้วพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตในระดับที่น่ากังวล เป็นต้น

“ถ้าเราทำให้เด็กสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาได้มากขึ้น เด็กก็จะมีที่พึ่งคอยบรรเทาเขาได้ แต่ถ้าเกิดว่ามันไม่มีจริง ๆ จากข้อจำกัดหลายอย่าง นอกจากส่งเด็กมายังห้องแนะแนวแล้ว เราก็อาจจะต้องปรับให้ครูแต่ละคนมีทักษะดูแลจิตใจเด็กได้เบื้องต้น เป็นเพื่อนคุยกับเด็กได้เมื่อมีปัญหา และจะเป็นระบบคัดกรองก่อนส่งมายังห้องแนะแนว”

ครูฟาร์-พิชญาพร สมจันทร์
ครูฟาร์-พิชญาพร สมจันทร์ ครูแนะแนว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

นอกจากการจัดการเรียนการสอนในคาบวิชาแนะแนวแล้ว ครูแนะแนวยังต้องมีบทบาทบริการแนะแนวอีก 5 ด้าน ตามแผนยุทธศาสตร์การแนะแนวระดับชาติขั้นพื้นฐาน ฉบับที่ 11 ดังนี้

  • บริการศึกษารวบรวมข้อมูล เก็บข้อมูลของนักเรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตัวเองมากขึ้น
  • บริการสารสนเทศ จัดทำข้อมูลเผยแพร่ช่วยผู้เรียนเข้าใจแนวทางพัฒนาตนเองในอนาคต
  • บริการให้การปรึกษา ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาการปรึกษาช่วยเหลือผู้เรียนโดยตรง
  • บริการจัดวางตัวบุคคล จัดหาบุคคลทั้งในและนอกโรงเรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รู้จักตัวเองมากขึ้น
  • บริการติดตามผล ประเมินผลกระบวนการแนะแนวข้างต้นว่ามีผลลัพธ์ และข้อควรพัฒนาอย่างไร

ท้ายที่สุด ครูฟาร์ กล่าวเสริมว่า ด้วยภาระงานเอกสาร งานบริการ งานชั้นเรียน และงานให้คำปรึกษาเด็กจำนวนมากทำให้มีเพื่อนครูรอบตัวหลายคนมีภาวะเครียด บ้างก็มีภาวะซึมเศร้าจากการเป็นผู้ให้คำปรึกษา ทั้งนี้ ครูทุกคนหวังให้เด็กได้เติบโตอย่างแข็งแรงและสดใสอยู่แล้ว ตนเชื่อว่าการจะดูแลเด็กให้มีสุขภาพจิตที่ดีพร้อมได้ ตัวผู้ดูแลเองก็ต้องได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอด้วยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง