30 ปี มูลนิธิยุวพัฒน์ พิสูจน์ผลลัพธ์ “การให้โอกาส” ช่วยชีวิตเด็กนับหมื่น จับมือภาคเอกชน และภาครัฐ ร่วมแก้ปัญหาการศึกษา ชี้ยังมีเด็กอีกนับล้านที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ซับซ้อน
ท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่มีแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาสทางการศึกษาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กหลายคนยังเสี่ยงที่จะไม่ได้เรียนต่อ หลุดจากระบบการศึกษา ในโอกาสครบ 30 ปี การทำงานของ มูลนิธิยุวพัฒน์ (ก่อตั้ง 25 สิงหาคม 2536 ) ที่มีภารกิจหลัก คือ การมอบทุนการศึกษา และพัฒนาเยาวชนขาดโอกาสในประเทศไทย ปัจจุบนมีนักเรียนได้รับการช่วยเหลือมากกว่า 10,000 คน ได้จับมือกับภาคีการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการศึกษา โดยเห็นว่า การให้เงินทุนเพื่อการศึกษาต่อเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์ ย้ำชัด การทำงานคนเดียวไม่มีพลังเพียงพอจะแก้ปัญหาใหญ่ได้ จำเป็นต้องดึงทรัพยากร และอาศัยความร่วมมือ โรงเรียน ผู้ปกครอง พัฒนามาสู่การช่วยเหลือที่มากกว่าให้ทุนเพียงอย่างเดียว การสนับสนุนทุนก็เป็นเรื่องที่จับต้องได้มากที่สุด การสนับสนุนทุนมนุษย์ และเทคโนโลยี ล้วนแล้วแต่อาศัยภาคี และระบบการจัดการเพื่อบริหารความสัมพันธ์ ความร่วมมืออย่างเป็นระบบ
“การทำงานคนเดียวไม่มีพลังเพียงพอจะแก้ปัญหาใหญ่ได้ จำเป็นต้องดึงทรัพยากร และอาศัยความร่วมมือ พัฒนาสู่การช่วยเหลือ มากกว่าการให้ทุน เพียงอย่างเดียว
ทั้งหมดนี้ล้วนต้องอาศัย ภาคีฯ การบริหารจัดการความสัมพันธ์ และความร่วมมืออย่างเป็นระบบ…”
วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิยุวพัฒน์
จึงเป็นครั้งแรกที่ “มูลนิธิยุวพัฒน์” จัดเสวนารวมพลังภาคีทางการศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชน และ อีก 9 ภาคีการศึกษา อาทิ “ICAP, Food for Good,ปันกัน, Lern Education, Teach for Thailand, Winner English, โรงเรียนคุณธรรม, A-chieve ฯลฯ” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงาน และสานความร่วมมือให้สังคมเดินหน้าได้ด้วยแนวทาง “การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา” โดยในครั้งนี้มีตัวแทนจากภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงแนวทางการช่วยเหลือ
บทบาท “เอกชน” เริ่มต้นช่วยสังคม “มิติการศึกษา”
ในสภาพสังคม และเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสในมิติการศึกษามากขึ้น โดยในงานเสวนา “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส” ครั้งนี้มีตัวแทนจากภาคเอกชนที่เดินหน้าการช่วยเหลือสังคมในมิติการศึกษามาแล้ว เช่น บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน), บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด, และบริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด
ทั้ง 3 องค์กรเพิ่งเริ่มเข้ามาทำงานช่วยเหลือสังคมในมิติการศึกษาไม่นานมากนัก แต่เห็นตรงกันว่า “กำไร” ไม่ใช่ทั้งหมดของภาคธุรกิจ แต่การคืนกำไรเพื่อสร้างสังคม และทุนมนุษย์เป็นภารกิจของเอกชนที่ต้องทำเช่นเดียวกัน
วุฒิ วิพันธ์พงษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารความยั่งยืนทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด ระบุว่า เพิ่ง เพิ่งเริ่มต้นร่วมมือกับภาคีการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชนขาดโอกาส ต้นปี 2565 ผ่านการร่วมทุนกับ “ปันกัน” โดยภาคธุรกิจมองว่า เอกชนก็ต้องใช้ทรัพยากรจากเด็กจบใหม่ การเริ่มต้นสร้างเด็กโดยใช้ความสุข ความดี นำความเก่ง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มสร้าง การที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมคิด ออกแบบโครงการ จึงเป็นโจทย์ที่ภาคเอกชนต้องการเช่นกัน
“เอกชนต้องใช้ทรัพยากรจากเด็กจบใหม่ การเริ่มต้นสร้างเด็กโดยใช้ความสุข ความดี นำความเก่ง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มสร้าง
การที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมคิด ออกแบบโครงการจึงเป็นโจทย์ที่เอกชนต้องการเช่นกัน…
โจทย์ยากจึงไม่ได้เกี่ยวกับกำไร เพราะเด็กรุ่นต่อไปต้องรับผิดชอบ ในสิ่งที่พวกเราทำวันนี้ จึงต้องคิดต่อว่า ธุรกิจจะสร้างสังคมให้รอดไปด้วยกันได้อย่างไร ?”
วุฒิ วิพันธ์พงษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารความยั่งยืนทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด
สุจารี ตามครองชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและเทคโนโลยี บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ระบุ ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งมิติสิ่งแวดล้อม-สังคม ซึ่งจะดูแลทั้งฝั่งลูกค้า และสังคมโดยรวม เริ่มต้นจากการร่วมมือกับ “Food for Good” ที่เน้นการสร้างโภชนาการที่เหมาะสมกับเด็กขาดโอกาส ขณะที่ ลูกค้าของบริษัทที่ใช้บัตรเครดิตก็สามารถนำเงินบางส่วนจากการใช้จ่ายแบ่งปันให้เด็กที่ขาดโอกาส ซึ่งพบว่า ผลตอบรับของผู้บริโภคที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนติดอันดับ 1 ของบริษัทในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงเห็นผลลัพธ์ว่าลูกค้า และธุรกิจก็ไม่ได้หวังผลกำไร แต่มีความสุขใจที่เป็นผู้ให้เช่นกัน
ล่าสุดยังได้ร่วมทำแพลตฟอร์ม สร้างนวัตกรรมให้คุณครูในพื้นที่ขาดโอกาส ได้สำรวจเด็กและเยาวชนด้านโภชนาการ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการต่อยอดพัฒนามิติโภชนาการร่วมกับภาคการศึกษา “Food for Good” ต่อไป
แคมเปญในลักษณะการแบ่งปันให้เด็กขาดโอกาส ด้านโภชนาที่กำลังทำ ได้รับความสนใจอันดับ 1 ของบริษัท สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความสุขใจที่ได้แบ่งปัน…
มันไม่ใช่แค่เรื่องการได้ยอดขาย หรือได้อะไรจากลูกค้า แต่สิ่งสำคัญคือ การได้แบ่งปันองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กร เพื่อสร้างสังคมให้ดีขึ้น สุดท้ายเด็กที่เราช่วย วันหนึ่งเขาก็อาจจะกลับมาเป็น ลูกค้าเราก็ได้ เพราะสุดท้ายเขาก็จะเติบโตมาช่วยพัฒนาประเทศต่อไป…
สุจารี ตามครองชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและเทคโนโลยี บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
อีกคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ และมีชื่อเสียงในหมู่วัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ก็คือ แม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มต้นจากแคมเปญขนมเนยสด ที่ดัดแปลงคำมาเป็น “เนยโสด” สินค้าลิมิเตตที่สร้างขึ้นเพื่อนำเงินบางส่วนมาช่วยเหลือมิติการศึกษา และผลลัพธ์คือ ยอดขายถล่มทลาย โดยคุณแม่ทัพ ย้ำว่าลูกค้าคนไทยของเขานั้นมีตั้งแต่สมัยจีบกัน จนลูกโตเป็นหนุ่ม การช่วยเหลือสังคมด้วยมิติแบบนี้ไม่เคยสะเทือนบริษัท แต่ภาพใหญ่คือจะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมได้ โดยเน้นย้ำว่าการทำงานเพื่อความยั่งยืน สุดท้ายแล้วอย่าทำงานคนเดียว ต้องช่วยกันเป็นทีม
ภาครัฐ ชี้ปัญหาเด็กไทยหลุดระบบ เรื่องเร่งด่วนต้องเชื่อมโยงภาคีอื่นช่วยแก้ปัญหาร่วม
ภายในงานครั้งนี้ยังมีภาครัฐ มาร่วมรับฟัง โดยมีตัวแทนจากสภาการศึกษา และ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มาช่วยสะท้อนความวิกฤตในแวดวงการศึกษา และเห็นตรงกันว่าปัญหาการศึกษาจำเป็นต้องดึงหลากหลายภาคีเข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย
สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา มองว่า รัฐให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา เช่น การช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครอบครัวยากจน 2,000 บาท ในช่วงโควิด-19 , นอกจากนี้ยังมีโครงการเรียนสายอาชีวศึกษา ให้คนกลุ่มนี้ได้ทำงาน มีอาชีพ และรายได้ระหว่างเรียน, โครงการเด็ก 1 คน 1 ชุมชนดูแล ให้คนที่มีศักยภาพในชุมชน มีความพร้อมที่จะพัฒนาการศึกษาต่อไปในอนาคต ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กขาดโอกาสที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างความร่วมมือให้ภาคส่วนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งประชาสังคม และภาคธุรกิจจึงมีความสำคัญ
สอดคล้องกับ พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุดูแลเด็กทั่วประเทศอยู่ในความดูแลของ สพฐ. 6 ล้านคน 30,000 โรงเรียน ขณะที่เด็กไทย ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา และตกหล่นราว 7 หมื่นคน วันนี้ภาครัฐเห็นทางออกการแก้ปัญหาการศึกษาว่าจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีความพร้อมอยู่แล้ว
มูลนิธิยุวพัฒน์ จึงเดินหน้าทำงานต่อภายใต้ความเชื่อมั่นการมุ่งสร้างสังคมแบ่งปัน, ลดความเหลื่อมล้ำ, และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก และเยาวชน ผ่านมา 30 ปี โดยมีตัวชี้วัดของการแก้ปัญหาเด็กเยาวชนที่หลุดระบบการศึกษาหลายมิติ
วันนี้ มูลนิธิยุวพัฒน์ ทำงานภายใต้ร่มโครงการ ร้อยพลังการศึกษา (TCFE) โดยใช้ความหลากหลายของเครื่องมือที่มากกว่าแค่ทุนการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสผ่าน แพคเกจการแก้ปัญหา 3 โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา, การพัฒนาคุณภาพชีวิต, การพัฒนาทักษะชีวิต ฯลฯ เกิดจากความตั้งใจของภาคีการศึกษา ที่มีความเชื่อเดียวกันว่า “การให้การศึกษา = การให้ชีวิต” ประกอบด้วยความร่วมมือจาก 9 ภาคีการศึกษา “ICAP, Food for Good,ปันกัน, Lern Education, Teach for Thailand, Winner English, โรงเรียนคุณธรรม, A-chieve”
ภาพรวมในปี 2564 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 102 โรงเรียน 30 จังหวัด นักเรียน 40,000 คน และยังคงเตรียมขยายผลเครื่องมือทางการศึกษาเพื่อช่วยเด็กขาดโอกาส เปลี่ยนชีวิตทางการศึกษาต่อเนื่องโดยยึดหลักการสำคัญคือ การดึงภาคส่วนต่างๆ ทำงานตามความถนัดเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญของสังคม