ภาคีการศึกษาระดมไอเดีย “แก้โจทย์เรียนมากคุณภาพน้อย” เสนอคำตอบการปฏิรูป

‘ภาคีเพื่อการศึกษาไทย’ ยกขบวนทุกภาคส่วนเปิดวงคุย TEP Forum 2022 หวังเปลี่ยนการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลก ชี้ วิกฤตโควิดสะท้อนชัด “เด็กไทยอยู่ในระบบเรียนรู้แบบผูกขาด” เตรียมเสนอนโยบาย ‘รัฐบาล’ ปฏิรูปการศึกษารองรับความสนใจระดับบุคคล

วันนี้ (19 มี.ค. 2565) ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership หรือ TEP) จัดงานประชุมวิชาการ “TEP Forum 2022 ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยแห่งอนาคต” ระหว่างวันที่ 19–20 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการชั้นนำ เครือข่ายพัฒนาครู โรงเรียน คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชนเข้าร่วมในระบบออนไลน์

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาแล้ว 2 รอบ แต่กลับไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน สาเหตุหลักเกิดจากเน้นปฏิรูปโครงสร้างมากกว่าปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และเป็นการขับเคลื่อนจากบนลงล่าง (Topdown) ด้วยการประกาศนโยบายจากส่วนกลาง ขาดการมีส่วนร่วมของระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการศึกษาในพื้นที่

“เราได้บทเรียนที่สำคัญว่าในอดีตที่ปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ เป็นเพราะการกำหนดนโยบายขาดการมีส่วนร่วม ปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เป็นหน้าที่ของภาครัฐอย่างเดียว นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่เราผนึกพลังในการตั้งโจทย์สร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่สนใจ”

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีบทเรียนที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ได้แก่ การเรียนการสอนแบบท่องจำความรู้ (Passive Learning) ส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนถูกลดทอนลง ความท้าทายจากการระบาดโควิด–19 ที่ซ้ำเติมการศึกษาไทยให้เสียหายอย่างหนัก สะท้อนให้เห็นว่าเกิดจากการรวมศูนย์การเรียนรู้ไว้ที่โรงเรียนเป็นหลักมาอย่างยาวนาน เมื่อโรงเรียนถูกปิดการเรียนรู้ก็ขาดหายไปเกิดเป็นปรากฎการณ์ความรู้ถดถอย เพราะสูญเสียโอกาสจากการที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพได้

“ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เป็นการศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะให้ผู้เรียน ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุกที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ หรือ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ”

จากโจทย์ต่าง ๆ เป็นที่มาของการจัดงาน TEP Forum 2022 ครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยแห่งอนาคต” เพื่อขับเคลื่อนภารกิจปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในทุกมิติ และสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในวงกว้าง

โดยกิจกรรมวันแรก มีการเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “วิกฤตโควิด สร้างโอกาสการศึกษาใหม่” โดย พงศ์ทัศ วนิชานนท์ นักวิจัยอาวุโส กลุ่มงานวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย,  Dr. Aarti saihjee Chief of Education Section UNICEF, นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education และเสวนา “ภูมิทัศน์การศึกษาไทยแห่งอนาคต : เปลี่ยนอย่างไรให้ตอบโจทย์” โดย รศ.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา, มิรา เวฬุภาค CEO mappa และ CEO & Founder, Flock Learning, ศศิธร สุขบท ผู้สื่อข่าวและ Content Creator ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส และ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนราชดำริ กรุงเทพฯ พร้อมกิจกรรมระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย เช่น การพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เป็นฐานสมรรถนะ, ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น

ส่วนวันที่สองมีกิจกรรม TEP Talk กับ 5 แรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนการศึกษาไทย  พร้อมสรุปผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย สำหรับนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกิจกรรมล้อมวงเสวนา “บทบาทของคนรุ่นก่อน และคนรุ่นใหม่ ต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย” โดย อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO & Editor–in–Chief THE STANDARD และ พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee  ปิดท้ายด้วยกิจกรรม Network Meeting ผนึกกำลังเครือข่ายพัฒนาครู, เครือข่ายโรงเรียน, เครือข่ายคนรุ่นใหม่/เด็กและเยาวชน และเครือข่ายปฐมวัย

“TEP Forum ครั้งนี้ ต้องการเน้นย้ำให้การปฏิรูปการศึกษาขยายไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นกระแสหลัก โดยเฉพาะวิกฤตโควิด–19 ยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มสนใจ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นผลสำเร็จเชิงรูปธรรมสู่สาธารณะ คาดหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต มีทัศนคติที่ถูกต้อง และเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวข้ามความล้าหลังด้านการศึกษา พร้อมก้าวสู่สังคมที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายที่สนใจด้านการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ มุ่งมั่นปฏิรูปการศึกษาไทย ด้วยความเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน ทั้งองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม ด้วยการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันและรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งนักเรียน ครู นักการศึกษา พ่อแม่ นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นเสียงสะท้อนความต้องการจากผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้ที่เผชิญกับปัญหาจริงไปยังผู้กำหนดนโยบาย และสังเคราะห์ความคิดเห็นเหล่านี้บนฐานวิชาการเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง – ‘ภาคีเพื่อการศึกษาไทย’ ชวนส่งเสียงทิศทางปฏิรูปการศึกษา เสนอ ‘รมว.ศธ.’

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม