ขยายเวลารับสมัครผู้ร่วมกิจกรรม Hack BKK ถึง 19 ส.ค.นี้

ชัชชาติ ย้ำ วิทยาศาสตร์ไม่มีความลำเอียง ทุกคนมีข้อมูลเดียวกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน มั่นใจวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบให้กับหลาย ๆ ปัญหาของเมืองได้​ พร้อมชวนร่วมกิจกรรม “บางกอกวิทยา” ตลอดเดือนสิงหาคมนี้

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 65 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน NST Fair Science Carnival Bangkok พร้อมเดินชมนิทรรศการต่าง ๆ โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผศ.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเดินชมนิทรรศการ ณ ลานกิจกรรม Indoor Stage และ Outdoor Stage ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรามาอยู่ที่สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “บางกอกวิทยา” เทศกาลประจำเดือนสิงหาคม 2565 ของกรุงเทพมหานคร ที่เราเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ และนำวิทยาศาสตร์มาแสดง ถ้าได้มาเดินดูจะเห็นว่าเป็นงานที่ได้ทั้งความรู้และความสนุก จัดในรูปแบบ Science Carnival โดยร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

“จริง ๆ แล้ว มิติวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสามารถหาคำตอบให้กับปัญหาต่าง ๆ ของสังคมในอนาคตได้มาก ถ้าเราปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็ตาม จะทำให้เราหาคำตอบให้กับปัญหาหลาย ๆ อย่างได้ ข้อดีของวิทยาศาสตร์ คือไม่มีความลำเอียง เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ต้องมีเส้น ทุกคนมีข้อมูลเดียวกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาเราใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง Traffy Fondue เรื่อง Open Data เรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ของเมือง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบให้กับหลาย ๆ ปัญหาของเมืองได้”

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวนพวกเรา ถ้ามีโอกาสก็มาเยี่ยมชมกัน ซึ่งเราก็ได้จัดกิจกรรมหลายแห่ง อาทิ “สามย่านมิตรทาวน์” โดยจัด Science Carnival ระหว่างวันที่ 17-21 ส.ค. 65 มีนิทรรศการหลายอย่าง เช่น maker space ผลิตภัณฑ์ innovation หุ่นยนต์เล่นปิงปอง “ชั้น 6 ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ซึ่งจัดเรื่องหุ่นยนต์และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่หายากมารวมไว้ที่เดียว ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. 65

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังมี วิชานิเวศวิทยา ซึ่งตอนนี้ฮิตมา โดยสามารถโหลดแอปพลิเคชัน iNaturalist เวลาเราเจอสัตว์อะไร เช่น ตัวเงินตัวทอง นก หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัว เราสามารถถ่ายรูป อัปโหลดภาพลงในแอปฯ นี้ AI ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังจะสแกนว่าสิ่งมีชีวิตในภาพคือตัวอะไร อยู่กลุ่มไหน ซึ่งจะสะท้อนว่าเมืองของเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาอย่างไร เหมือนเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยที่ช่วยสะสมความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง แต่หาก AI ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งมีชีวิตในภาพคือตัวอะไร ยังมีเพื่อน ๆ อีกหลายคนทั่วโลก สามารถมาตั้งข้อสังเกต ถกเถียง และสรุปชนิดของสิ่งมีชีวิตร่วมกับเราได้ด้วย ส่วนเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (13 ส.ค. 65) มีงานดูนก Bird Walk ก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างเยอะ ซึ่งกิจกรรมยังมีอีกมากมายหลายแห่ง สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรม HackBKK ​เรามีโจทย์ 13 โจทย์ ซึ่งตอนแรกเราปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 มีคนสมัครมาแล้ว 70 กว่าคน แต่คิดว่าอยากได้ไอเดียเพิ่ม เราจึงขยายไปถึงวันที่ 19 สิงหาคม หากใครมีไอเดียสามารถส่งผลงานเข้ามาได้ อย่างที่ท่านผู้ว่าฯ บอก วิทยาศาสตร์จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเรามา apply กับปัญหาจริง ๆ ซึ่งตอนนี้ กทม. มีหลายปัญหาที่เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยได้ โดยน้อง ๆ ที่มาโชว์ที่นี่ก็มีหลายทีมที่ส่งมาเหมือนกัน

โดยผู้ที่อยากมีส่วนร่วมในการออกแบบนวัตกรรมแก้ปัญหาเมือง กับกิจกรรม HackBKK สามารถลงทะเบียนทางลิงก์ bit.ly/ThaiStartup_Hackbkkform โดยเลือกโจทย์ดังต่อไปนี้ 1. คนไร้บ้านมีสวัสดิการ 2. ตัวเลือกที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2,000 บาท 3. น้ำท่วมไม่เกิน 20 เซนติเมตร 4. ฐานข้อมูลต้นไม้ใน กทม. เรียกดูได้ทุกที่ 5. รับมือฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบ 6. การเดินทางวางแผนได้ 7. ฐานข้อมูลสายไฟและสายสื่อสารที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน 8. เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างสะดวก ถูกต้อง เป็นธรรม 9. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานระดับเขต 10. สร้างแรงจูงใจ คนกรุงเทพฯ รักสุขภาพ 11. นัดหมายแพทย์ทางออนไลน์ ง่าย รวดเร็ว 12. ติดอาวุธเทคโนโลยีให้อาสาสมัครสาธารณสุข และ 13. ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ ระหว่างโรงพยาบาล-กู้ภัย ส่งผลงานได้จนถึงวันที่ 19 ส.ค. 65

ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า เราทุกคนทราบกันว่าเดือนสิงหาคมเป็นเดือนของวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มีการเฉลิมฉลองวิทยาศาสตร์กันทั่วประเทศอยู่แล้ว ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ก็จัดมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปีและได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ปีนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีมากที่เรานำเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาอยู่ในเมืองหลวง อย่างที่ท่านผู้ว่าฯ บอก เราอยากเห็นวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ทั้งการแก้ปัญหาของเมือง แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตของพวกเรา ซึ่งถ้าใครได้มีโอกาสเข้ามาในงานนี้ หรือมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ที่เราจัดที่อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็จะพบได้เลยว่าวิทยาศาสตร์จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่แค่อยู่ในแล็บ หัวฟู ใส่แว่น ใส่เสื้อกาวน์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน วิทยาศาสตร์เปิดโอกาสให้คนทุกคนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง ได้พัฒนาชุมชนของเขา และผมดีใจมากที่ได้เข้ามาร่วมมือกับ กทม. ในเทศกาลบางกอกวิทยา และเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับชุมชนเมืองมากขึ้น และจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เมืองก็พัฒนา ประเทศก็พัฒนา คนก็มีความสุข เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัววิทยาศาสตร์ มาที่นี่ก็จะสนุกสนาน และก็จะรักวิทยาศาสตร์ จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมนี้

“คงไม่ใช่มีแต่เรื่องศิลปะที่เป็นแนวร่วมของพวกเรา อย่างเรามีดนตรีในสวน มีหนังกลางแปลง อันนั้นคือเรา เอาศิลปะเป็นตัวนำพวกเรามาร่วมกัน ทุกคนก็มีความสุขกับศิลปะ แต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่แพ้กัน วิทยาศาสตร์ก็เป็นตัวนำที่สามารถรวมพวกเราเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งได้ เพราะวิทยาศาสตร์คือคำตอบในชีวิต และผมว่าวิทยาศาสตร์สนุกได้ หลาย ๆ อย่างที่เราเดินก็มีความสนุกไม่แพ้เรื่องศิลปะเลย ก็เชิญชวนพวกเรามานะครับ ผมคิดว่ามันจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเมือง ของอนาคต วิทยาศาสตร์ก็เป็นคำตอบต่าง ๆ ทั้งในแง่ เมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การมีชีวิตอยู่ร่วมกัน ก็น่าสนุก เชิญพวกเราร่วมกิจกรรมในหลาย ๆ ที่ ได้จนถึงสิ้นเดือนนี้”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร มีนโยบาย 12 เทศกาล ตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2565 ได้จัดเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อ “บางกอกวิทยา” โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้การสนับสนุน

สำหรับงาน NST Fair Science Carnival Bangkok เป็นส่วนหนึ่งของ “บางกอกวิทยา” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมในรูปแบบ Science Carnival ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน เพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนในชุมชนเมืองสามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ผ่านศิลปะ ดนตรี และการนำเสนอที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ร่วมสนุกกับกิจกรรมที่ท้าทาย ร่วมค้นหาคำตอบ เกิดเป็นแรงบันดาลใจ และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง

กิจกรรมภายในงาน อาทิ Makers Science & Challenges กิจกรรมเวิร์กชอปสำหรับคนชื่นชอบการประดิษฐ์ ร่วมสนุกและส่งเสียงเชียร์กับการแข่งหุ่นยนต์เห่ย (Hebocon) สิ่งประดิษฐ์จากขยะที่จะมาสร้างความสนุกสนานให้กับทุกท่าน เพลิดเพลินไปกับแสงสีของขบวน Electric Parade ในยามค่ำคืน ทำความรู้จักกับอาหารทางเลือก แวะลองลิ้มชิมรสอาหาร superfood ผงโปรตีนธรรมชาติจิ้งหรีดขาว..การันตีรสชาติความอร่อย จากร้าน Bounce Burger by The Bricket และอิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนูอาหารแห่งอนาคต ในลานกิจกรรม Chill & Shop

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ Interactive Art & Science Exhibition ในหัวข้อ SCIENCE ALIVE วิทย์ปลุกชีวิต ซึ่งนำเสนอเรื่องราวผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประสาทสัมผัสพื้นฐานทั้ง 5 ชนิด (ตา หู จมูก ปาก และผิวหนัง) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวเรา เพื่อเติมพลัง สีสัน ความมีชีวิตชีวา ให้กับชีวิตของเรา

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม NST Fair Science Carnival Bangkok ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 21 ส.ค. 65 ชั้น G และชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน สำหรับภายในอาคาร (Indoor) จัดแสดงระหว่างเวลา 10.00 – 22.00 น. ภายนอกอาคาร (Outdoor) จัดแสดงระหว่างเวลา 15.00 – 22.00 น. ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/nstfairTH

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้