ชัชชาติ ย้ำ วิทยาศาสตร์ไม่มีความลำเอียง ทุกคนมีข้อมูลเดียวกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน มั่นใจวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบให้กับหลาย ๆ ปัญหาของเมืองได้ พร้อมชวนร่วมกิจกรรม “บางกอกวิทยา” ตลอดเดือนสิงหาคมนี้
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 65 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน NST Fair Science Carnival Bangkok พร้อมเดินชมนิทรรศการต่าง ๆ โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผศ.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเดินชมนิทรรศการ ณ ลานกิจกรรม Indoor Stage และ Outdoor Stage ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรามาอยู่ที่สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “บางกอกวิทยา” เทศกาลประจำเดือนสิงหาคม 2565 ของกรุงเทพมหานคร ที่เราเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ และนำวิทยาศาสตร์มาแสดง ถ้าได้มาเดินดูจะเห็นว่าเป็นงานที่ได้ทั้งความรู้และความสนุก จัดในรูปแบบ Science Carnival โดยร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“จริง ๆ แล้ว มิติวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสามารถหาคำตอบให้กับปัญหาต่าง ๆ ของสังคมในอนาคตได้มาก ถ้าเราปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็ตาม จะทำให้เราหาคำตอบให้กับปัญหาหลาย ๆ อย่างได้ ข้อดีของวิทยาศาสตร์ คือไม่มีความลำเอียง เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ต้องมีเส้น ทุกคนมีข้อมูลเดียวกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาเราใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง Traffy Fondue เรื่อง Open Data เรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ของเมือง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบให้กับหลาย ๆ ปัญหาของเมืองได้”
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวนพวกเรา ถ้ามีโอกาสก็มาเยี่ยมชมกัน ซึ่งเราก็ได้จัดกิจกรรมหลายแห่ง อาทิ “สามย่านมิตรทาวน์” โดยจัด Science Carnival ระหว่างวันที่ 17-21 ส.ค. 65 มีนิทรรศการหลายอย่าง เช่น maker space ผลิตภัณฑ์ innovation หุ่นยนต์เล่นปิงปอง “ชั้น 6 ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ซึ่งจัดเรื่องหุ่นยนต์และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่หายากมารวมไว้ที่เดียว ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. 65
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังมี วิชานิเวศวิทยา ซึ่งตอนนี้ฮิตมา โดยสามารถโหลดแอปพลิเคชัน iNaturalist เวลาเราเจอสัตว์อะไร เช่น ตัวเงินตัวทอง นก หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัว เราสามารถถ่ายรูป อัปโหลดภาพลงในแอปฯ นี้ AI ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังจะสแกนว่าสิ่งมีชีวิตในภาพคือตัวอะไร อยู่กลุ่มไหน ซึ่งจะสะท้อนว่าเมืองของเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาอย่างไร เหมือนเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยที่ช่วยสะสมความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง แต่หาก AI ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งมีชีวิตในภาพคือตัวอะไร ยังมีเพื่อน ๆ อีกหลายคนทั่วโลก สามารถมาตั้งข้อสังเกต ถกเถียง และสรุปชนิดของสิ่งมีชีวิตร่วมกับเราได้ด้วย ส่วนเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (13 ส.ค. 65) มีงานดูนก Bird Walk ก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างเยอะ ซึ่งกิจกรรมยังมีอีกมากมายหลายแห่ง สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรม HackBKK เรามีโจทย์ 13 โจทย์ ซึ่งตอนแรกเราปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 มีคนสมัครมาแล้ว 70 กว่าคน แต่คิดว่าอยากได้ไอเดียเพิ่ม เราจึงขยายไปถึงวันที่ 19 สิงหาคม หากใครมีไอเดียสามารถส่งผลงานเข้ามาได้ อย่างที่ท่านผู้ว่าฯ บอก วิทยาศาสตร์จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเรามา apply กับปัญหาจริง ๆ ซึ่งตอนนี้ กทม. มีหลายปัญหาที่เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยได้ โดยน้อง ๆ ที่มาโชว์ที่นี่ก็มีหลายทีมที่ส่งมาเหมือนกัน
โดยผู้ที่อยากมีส่วนร่วมในการออกแบบนวัตกรรมแก้ปัญหาเมือง กับกิจกรรม HackBKK สามารถลงทะเบียนทางลิงก์ bit.ly/ThaiStartup_Hackbkkform โดยเลือกโจทย์ดังต่อไปนี้ 1. คนไร้บ้านมีสวัสดิการ 2. ตัวเลือกที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2,000 บาท 3. น้ำท่วมไม่เกิน 20 เซนติเมตร 4. ฐานข้อมูลต้นไม้ใน กทม. เรียกดูได้ทุกที่ 5. รับมือฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบ 6. การเดินทางวางแผนได้ 7. ฐานข้อมูลสายไฟและสายสื่อสารที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน 8. เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างสะดวก ถูกต้อง เป็นธรรม 9. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานระดับเขต 10. สร้างแรงจูงใจ คนกรุงเทพฯ รักสุขภาพ 11. นัดหมายแพทย์ทางออนไลน์ ง่าย รวดเร็ว 12. ติดอาวุธเทคโนโลยีให้อาสาสมัครสาธารณสุข และ 13. ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ ระหว่างโรงพยาบาล-กู้ภัย ส่งผลงานได้จนถึงวันที่ 19 ส.ค. 65
ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า เราทุกคนทราบกันว่าเดือนสิงหาคมเป็นเดือนของวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มีการเฉลิมฉลองวิทยาศาสตร์กันทั่วประเทศอยู่แล้ว ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ก็จัดมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปีและได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ปีนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีมากที่เรานำเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาอยู่ในเมืองหลวง อย่างที่ท่านผู้ว่าฯ บอก เราอยากเห็นวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ทั้งการแก้ปัญหาของเมือง แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตของพวกเรา ซึ่งถ้าใครได้มีโอกาสเข้ามาในงานนี้ หรือมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ที่เราจัดที่อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็จะพบได้เลยว่าวิทยาศาสตร์จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่แค่อยู่ในแล็บ หัวฟู ใส่แว่น ใส่เสื้อกาวน์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน วิทยาศาสตร์เปิดโอกาสให้คนทุกคนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง ได้พัฒนาชุมชนของเขา และผมดีใจมากที่ได้เข้ามาร่วมมือกับ กทม. ในเทศกาลบางกอกวิทยา และเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับชุมชนเมืองมากขึ้น และจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เมืองก็พัฒนา ประเทศก็พัฒนา คนก็มีความสุข เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัววิทยาศาสตร์ มาที่นี่ก็จะสนุกสนาน และก็จะรักวิทยาศาสตร์ จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมนี้
“คงไม่ใช่มีแต่เรื่องศิลปะที่เป็นแนวร่วมของพวกเรา อย่างเรามีดนตรีในสวน มีหนังกลางแปลง อันนั้นคือเรา เอาศิลปะเป็นตัวนำพวกเรามาร่วมกัน ทุกคนก็มีความสุขกับศิลปะ แต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่แพ้กัน วิทยาศาสตร์ก็เป็นตัวนำที่สามารถรวมพวกเราเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งได้ เพราะวิทยาศาสตร์คือคำตอบในชีวิต และผมว่าวิทยาศาสตร์สนุกได้ หลาย ๆ อย่างที่เราเดินก็มีความสนุกไม่แพ้เรื่องศิลปะเลย ก็เชิญชวนพวกเรามานะครับ ผมคิดว่ามันจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเมือง ของอนาคต วิทยาศาสตร์ก็เป็นคำตอบต่าง ๆ ทั้งในแง่ เมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การมีชีวิตอยู่ร่วมกัน ก็น่าสนุก เชิญพวกเราร่วมกิจกรรมในหลาย ๆ ที่ ได้จนถึงสิ้นเดือนนี้”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร มีนโยบาย 12 เทศกาล ตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2565 ได้จัดเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อ “บางกอกวิทยา” โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้การสนับสนุน
สำหรับงาน NST Fair Science Carnival Bangkok เป็นส่วนหนึ่งของ “บางกอกวิทยา” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมในรูปแบบ Science Carnival ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน เพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนในชุมชนเมืองสามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ผ่านศิลปะ ดนตรี และการนำเสนอที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ร่วมสนุกกับกิจกรรมที่ท้าทาย ร่วมค้นหาคำตอบ เกิดเป็นแรงบันดาลใจ และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง
กิจกรรมภายในงาน อาทิ Makers Science & Challenges กิจกรรมเวิร์กชอปสำหรับคนชื่นชอบการประดิษฐ์ ร่วมสนุกและส่งเสียงเชียร์กับการแข่งหุ่นยนต์เห่ย (Hebocon) สิ่งประดิษฐ์จากขยะที่จะมาสร้างความสนุกสนานให้กับทุกท่าน เพลิดเพลินไปกับแสงสีของขบวน Electric Parade ในยามค่ำคืน ทำความรู้จักกับอาหารทางเลือก แวะลองลิ้มชิมรสอาหาร superfood ผงโปรตีนธรรมชาติจิ้งหรีดขาว..การันตีรสชาติความอร่อย จากร้าน Bounce Burger by The Bricket และอิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนูอาหารแห่งอนาคต ในลานกิจกรรม Chill & Shop
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ Interactive Art & Science Exhibition ในหัวข้อ SCIENCE ALIVE วิทย์ปลุกชีวิต ซึ่งนำเสนอเรื่องราวผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประสาทสัมผัสพื้นฐานทั้ง 5 ชนิด (ตา หู จมูก ปาก และผิวหนัง) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวเรา เพื่อเติมพลัง สีสัน ความมีชีวิตชีวา ให้กับชีวิตของเรา
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม NST Fair Science Carnival Bangkok ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 21 ส.ค. 65 ชั้น G และชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน สำหรับภายในอาคาร (Indoor) จัดแสดงระหว่างเวลา 10.00 – 22.00 น. ภายนอกอาคาร (Outdoor) จัดแสดงระหว่างเวลา 15.00 – 22.00 น. ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/nstfairTH