จี้ นายกฯ ปลด ‘จุรินทร์’ ล้มเหลวแก้ละเมิดทางเพศ – เกียร์ว่าง กรณี ‘ปริญญ์’

องค์กรภาคประชาสังคมด้านผู้หญิง ร่อนแถลงการณ์ ชี้พรรคประชาธิปัตย์ ไร้ความรับผิดชอบ อ้างแค่ ‘ปริญญ์’ ลาออกไม่พอ สับ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์’ ไร้ประสิทธิภาพพัฒนากลไกแก้คุกคามทางเพศ แม้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้ (18 เม.ย.65) องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมกันออกแถลงการณ์และข้อเรียกร้องต่อกรณีการกล่าวหา ปริญญ์ พานิชภักดิ์ คุกคามทางเพศ 

ในแถลงการณ์ระบุว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ติดตามกรณีที่เกิดขึ้น และเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปริญญ์เคยสังกัดอยู่นั้น ไม่ได้แสดงท่าทีที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อีกทั้งสมาชิกพรรคบางคน บอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และปัดความรับผิดชอบโดยอ้างว่าปริญญ์ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งไปแล้ว

องค์กรภาคประชาสังคมฯ เห็นว่า การคุกคามทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ซึ่งรัฐมีความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการคุ้มครอง ป้องกันแก้ไขตามพันธกิจระบุในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และยังตระหนักถึงความยากลำบากของหญิงที่ผ่านพ้นประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ  โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง และยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้กรณีนี้ถูกมองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ต่างจากในหลายกรณีเมื่อผู้เสียหายออกมาเปิดเผยเรื่องราว ก็ต้องเผชิญกับการตั้งคำถามและเป็นฝ่ายที่ถูกตรวจสอบจากสังคม

กรณีที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวการทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศและการละเมิดทางเพศ รวมถึงกลไกระดับชาติด้านสตรีในประเทศไทย เพราะถึงแม้ทางรัฐบาลจะกำหนดให้ปัญหาข่มขืนและการละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาให้เกิดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ ทั้งที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมสถานภาพสตรี ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจและจริงใจต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง

องค์กรภาคประชาสังคมฯ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  • ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปลด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการระดับชาติส่งเสริมสถานภาพสตรี และงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะล้มเหลวไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หลังจากที่ประกาศให้ปัญหาข่มขืนและการละเมิดทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ  โดยเฉพาะการที่ไม่ได้จัดการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคของตัวเองอย่างเหมาะสม เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศจากผู้เสียหายจำนวนมาก
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพาณิชย์
  • ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมรับผิดชอบในการที่ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค กระทำการคุกคามทางเพศแม้จะได้ลาออกไปแล้ว โดยการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายในพรรค คู่ขนานกับกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะต่อกรณีที่หนึ่งในผู้กล่าวหาเคยทำงานให้กับทางพรรค หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และเพื่อจะได้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีต่อไปหากผู้กล่าวหารายนี้ตัดสินใจดำเนินคดีต่อ พร้อมทั้งควรตรวจสอบว่า มีปัญหาในกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในพรรค  ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลการคุกคามทางเพศด้วยหรือไม่  ซึ่งหากพบว่ามีการช่วยเหลือหรือปล่อยปละละเลย ผู้ที่อยู่ในกระบวนการคัดสรรจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย   
  • ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกลไกระดับชาติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ และให้มีแผนปฏิบัติการระดับชาติที่บูรณาการทั้งกลไกในกระบวนการการยุติธรรม ด้านสุขภาพ ตลอดจนการรณรงค์สร้างความตระหนัก จัดอบรมและให้การศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างพอเพียง

สำหรับองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมออกแถลงการณ์ครั้งนี้ประกอบด้วย มูลนิธิผู้หญิง, มูลนิธิเพื่อนหญิง, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ, มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว, มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ, มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร, มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ, มูลนิธิเอ็มพลัส, มูลนิธิซิสเตอร์, แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, สำนักพิมพ์สะพาน และ กลุ่มทำทาง

  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active