เครือข่ายสตรี ย้ำการล่วงละเมิดทางเพศ สะท้อนรากเหง้าความไม่เสมอภาคทางสังคม

เสวนา “จริยธรรมของผู้นำ กับหนทางสู่ความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดทางเพศ” ถอดบทเรียนคดี “ปริญญ์” สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายยกระดับมาตรฐานทางกระบวนการยุติธรรมช่วยเหลือเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ

วันนี้ (22 เม.ย. 65 ) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และเครือข่ายเด็กและสตรีอีกหลายองค์กร ร่วมกันจัดงานเสวนาหาทางออกเชิงนโยบาย “จริยธรรมของผู้นำ กับหนทางสู่ความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดทางเพศ” ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักในการยกระดับทางจริยธรรมของนักการเมือง สร้างความเข้าใจ ทัศนคติ และท่าทีที่ถูกต้องกับคนในสังคมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายบนพื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีความเสนอภาคกันทางเพศ

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม บอกว่า กระบวนการสอบสวนกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้เหยื่อไม่กล้าที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องเข้าใจว่า การไปโรงพักหลายผู้เสียหายหลายคนคิดแล้วคิดอีก เนื่องจากมีมายาคติในการสอบสวนที่จะต้องถามผู้เสียหายว่า “มีพยานไหม?” “เป็นความจริงไหม?” จนกลายเป็นมายาคติบ่มเพาะความคิดผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายคิดว่า “ถ้าไปแจ้งความเขาจะเชื่อฉันไหม?”

“ในระหว่างที่กระทำเขาก็จะบอกว่า ระหว่างมึงกับกู ถ้าไปแจ้งความเขาจะเชื่อใคร คุณรู้ไหมตำรวจกับศาลฉันรู้จักหมดเขาเป็นลูกน้อง ผู้หญิงทั้งหลายถูกมายาคติบ่มเพาะ และทำให้ต้องยับยั้งช่างใจว่าจะไปแจ้งความดีไหม เราต้องร่วมสร้างกระบวนการที่เป็นมิตร หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความเข้าใจ จะช่วยทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีส่วนที่จะย่ามใจในการกระทำต่อไป ถ้าผู้กระทำถูกดำเนินคดี ผู้กระทำจะได้ไม่กระทำต่อไป”

สุเพ็ญศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ระบบบริการต้องระวังการสื่อสาร เพราะบางคำพูดสร้างความเจ็บช้ำซ้ำเติม กระบวนการสืบคดีอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว ที่สำคัญระบบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะต้องมีความพร้อม 1330 ต้องรับแจ้งเหตุโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความเข้าใจความรู้สึกของเด็กหรือสตรี หน่วยบริการต้องให้บริการครบมิติ เจ้าหน้าที่ต้องถูกฝึกพิเศษให้มีความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาทำงานที่มีความละเอียดอ่อน

อุษา เลิศศรีสันทัด มูลนิธิผู้หญิง ระบุว่า ปัญหาการคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ จึงได้พยายามเรียกร้องกระบวนการยุติธรรม เช่น การจัดให้มีพนักงานสอบสวนหญิงในการสืบคดี แต่จะพบว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่รับพนักงานสอบสวนหญิงเข้าไปเรียนแล้ว หมายความว่ารัฐไม่ได้ตอบสนองเรื่องนี้ กรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ไม่ได้มีอำนาจและไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง กระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์ช่วยเหลือดูแลเด็กและสตรี แต่ยังพบว่าไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ และมีเวลาให้บริการที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้มีประสิทธิภาพและทันท่วงที

หลายครั้งที่ตัวแทนประเทศไทยต้องไปรายงานเรื่องการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในเวทีสากล แต่เมื่อกลับมาคณะกรรมการอนุสัญญาผู้หญิงฯ ก็ไม่ได้มีการดำเนินงานที่ก้าวหน้า แม้แต่สื่อมวลชนเองยังพบว่า การคุกคามทางเพศถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา น่าขำขัน ผลิตซ้ำการคุกคามทางเพศผ่านหนังหรือภาพยนตร์ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการทำแบบในหนังถูกต้องเหมาะสม สะท้อนความเข้าใจการคุกคามทางเพศในสังคมไม่มีจริง

“ในกระบวนการสืบคดี ผู้เสียหายยังต้องเจอกับเจ้าพนักงานที่มองช่องว่างทางกฎหมาย โดยมักให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นผิด ให้รับเงินแล้วก็จากไป ตำรวจไม่อยากให้เป็นคดีเพราะจะยอมความไม่ได้ก็จะใช้วิธีชะลอคดี หนทางที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมต้องทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าใจ ร่วมมือ และบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างประสิทธิภาพ และเกิดการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง การข่มขืนคุกคามทางเพศจะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อคติเรื่องไม่เข้าใจ และรากเหง้าของการไม่เสมอภาคทางสังคม”

อุษา ยังแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า ยังมีผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น กลุ่มแรงงานสตรีข้ามชาติ ยิ่งเป็นกลุ่มที่ต้องรับความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดและไม่ได้รับความเป็นธรรมมากกว่า ส่วนแนวคิดเรื่อง “ข่มขืนต้องประหาร” หรือข้อเสนอเรื่องการใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า “ฉีดให้ไข่ฝ่อ” จะพบว่าหลายประเทศก็ไม่ได้ใช้วิธีการนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่พันธกิจในการป้องกันคุ้มครองผู้เสียหาย ป้องปราบการกระทำผิด และนำไปสู่ความรับผิดชอบและการรับโทษของผู้กระทำ คือการสร้างความรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนมากกว่า

ถวิลวดี บุรีกุล คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) กล่าวว่า ใครคือคนที่จะต้องไปตรวจสอบจริยธรรมของผู้นำ คำตอบคือประชาชน แต่ก็ต้องมีการผลักดันให้เกิดกลยุทธ์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นตั้งแต่รัฐสภา ฝ่ายบริหาร ต้องมีวิธีการที่หลากหลายในการป้องกัน การสร้างความตระหนัก การรู้ถึงภัยที่จะเกิดขึ้น การดูแลตัวเอง การไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น จะต้องเป็นความรู้ที่ให้กับสังคม คนจะต้องทราบว่าหากว่าเกิดเหตุจะต้องดำเนินการอย่างไร ผู้ดูแลผู้เสียหายจะต้องรู้ว่าช่วยเหลืออย่างไร

การมีโครงการแก้ไขปัญหาก็ต้องมีการจัดงบประมาณที่ชัดเจน ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นถึงองค์กรระดับชาติ เพื่อจัดสรรให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ ทำให้เกิดการสร้างพลังการมีส่วนร่วมทาง สร้างความรับผิดชอบและทำให้เกิดความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย เพราะมีผลต่อความมั่นคงทางการเมืองด้วย นอกจากนี้ ประสบการณ์ของภาคประชาสังคมจะต้องเป็นบทเรียนและนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า การส่งต่อข้อมูลระหว่างผู้เสียหายกับองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นมากกว่าที่ผู้เสียหายจะไปร้องกับหน่วยงานภาครัฐ และควรจะเปิดโอกาสให้นักการเมืองในฐานะตัวแทนภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานด้านนี้ด้วย อย่างปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตามในหลายประเทศอย่างอเมริกา เจ้าหน้ารัฐสภาจะต้องมีการอบรมเรื่องของการคุกคามทางเพศ มีการติดตามผล และอบรมต่อเนื่อง ในพรรคการเมืองเองต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคการเมืองต้องมีความรับผิดชอบกับผู้ที่เป็นตัวแทนพรรคด้วย มีการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย หาตัวแบบคนในพรรคตัวอย่างที่ดี การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการทำงานอย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การมีระบบสื่อสารมวลชนสาธารณะ เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารและแจ้งเหตุ การจัดให้มีพื้นที่กลางที่จะเปิดเผย แลกเปลี่ยน และผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องนี้

“สุดท้ายคือนโยบายและกฎหมายจะต้องมีพร้อมบังคับใช้ได้ ต้องทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอให้มาร้องแล้วค่อยทำงานได้ สนับสนุนให้เอกชน ประชาสังคม สามารถทำงานได้ รับเรื่องได้แล้วส่งต่อถึงรัฐได้ พร้อมกระบวนการตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทันการ อย่ามองว่าผู้เสียหายคือคนกลุ่มน้อยที่สังคมรังเกียจและเก็บเรื่องเงียบไว้คนเดียวไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”

น้ำแท้ มีบุญสร้าง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายเรื่องการข่มขืนกระทำชำเรา แต่เรายังจำกัดอยู่ในเรื่องของพื้นฐานความผิด ส่วนเรื่องการดำเนินคดียังไม่ได้ปรับปรุงซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดการลงโทษความผิดถูกบังคับใช้จริง

“ผมเคยเจอคดีที่จับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มาเบิกความเพราะกลัวสังคมรู้ ทำให้ผู้ต้องหาลอยนวล และนอกจากนี้กระบวนการที่นำผู้หญิงมาสืบคดีเหมือนกับการไปสะกิดแผล ข้อเสนอแรกที่คิดว่าควรจะทำ คือควรมีการสืบพยานล่วงหน้า มีการบันทึกคำให้การ เหมือนสอบพยานเด็ก เพื่อให้สามารถถูกนำไปใช้ในชั้นศาลได้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีสามารถนำคำให้การไปเบิกความในคดีชั้นศาลได้ การสืบพยานล่วงหน้า เบิกความผู้เสียหายในฐานะพยานได้เลยแม้ในวันที่ยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้ เพื่อเอาเทปมาใช้เป็นหลักฐานได้ในวันที่จับตัวได้แล้ว”

น้ำแท้กล่าวเพิ่ม เติมว่า การเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น คราบอสุจิ เส้นผม ใยผ้า สามารถเก็บล่วงหน้าก่อนได้แม้ในวันที่ยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้หรือศาลยังไม่ได้เบิกความ เจ้าหน้าที่อัยการมาร่วมในการสอบปากคำผู้เสียหายได้ เพราะอัยการจะรู้ว่าจะต้องถามอย่างไรในชั้นศาล ในส่วนที่อัยการต้องการทราบแต่ตำรวจไม่เข้าใจ และเพื่อลดการซักถามเพิ่มเติม

“อีกเรื่องคือเรื่องความปลอดภัย ระหว่างที่เก็บพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ อัยการสามารถขอศาลห้ามผู้ต้องหาไม่ให้เข้าใกล้สตรี ไม่ให้ไปในเขตที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เสียหายระหว่างสืบคดี โดยสั่งการก่อนเข้าสู่การดำเนินคดีได้ กระบวนการที่คืบหน้ายังช่วยลดการขาดอายุความ… ที่ผ่านมาการร้องทุกข์แล้วเข้าใจว่าเป็นแค่หลักฐานไม่ใช่การดำเนินคดี นี่คือจุดบกพร่องเมื่อไม่มีอัยการอยู่ในชั้นสืบพยาน ซึ่งในต่างประเทศอัยการจะอยู่ในชั้นสืบคดีตั้งแต่แรก ถ้าอัยการดำเนินคดีจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดเพิ่มเติมกับผู้เสียหายได้มากกว่า

ทั้งนี้ สถิติความผิดเกี่ยวกับเพศ ของสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ เมื่อปี 2560 – 2563 พบว่ามีมากกว่า 4,000 คดี ผู้เสียหายกว่า 8,000 คน ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็น อันดับต้นๆ ของโลก โดยพบผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อย กว่า 7 คน/วัน ขณะที่รายงานของสำนักงานว่าด้วย ยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบกว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้