ก.แรงงาน ตั้ง ‘บอร์ดประกันสังคม’ ชุดใหม่แล้ว

‘พิพัฒน์’ เซ็นรับรองบอร์ดประกันสังคมอย่างเป็นทางการ หลังเลือกตั้งจบไปเกือบ 2 เดือน สู่บทสรุปผู้มาใช้สิทธิ แค่ 1% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 12 ล้านคน ขณะที่ ‘ทีมประกันสังคมก้าวหน้า’ นั่งบอร์ด 6 อันดับแรก เล็งผลักดันประกันสังคมเท่าเทียม – ขยายสิทธิคุ้มครองหลายมิติ

No photo description available.
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กระทรวงแรงงาน

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 67 กระทรวงแรงงาน ออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยในคำสั่งระบุว่า ด้วยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการกับกรรมการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นกรรมการ และเลขานุการ โดยกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 2 ปี

สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทน ฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ.2564 เสร็จเรียบร้อยแล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ดังนี้

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

  1. มนตรี ฐิรโฆไท กรรมการ

  2. วิภาพรรณ มาประเสริฐ กรรมการ

  3. สิริวัน ร่มฉัตรทอง กรรมการ

  4. สมพงศ์ นครศรี กรรมการ

  5. สุวิทย์ ศรีเพียร กรรมการ

  6. ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ กรรมการ

  7. เพชรรัตน์ เอกแสงกุล กรรมการ

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

  1. รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการ

  2. ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการ

  3. ศิววงศ์ สุขทวี กรรมการ

  4. ชลิต รัษฐปานะ กรรมการ

  5. นลัทพร ไกรฤกษ์ กรรมการ

  6. ลักษมี สุวรรณภักดี กรรมการ

  7. จตุรงค์ ไพรสิงห์ กรรมการ

สำหรับบทสรุปของการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งแรกนี้ พบว่า จากผู้ประกันตนทุกมาตราทั้งสิ้น 24 ล้านคน มีเพียง 12 ล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้มีเพียง 8.5 แสนคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนในวันลงคะแนนมีผู้มาใช้สิทธิเหลือราว ๆ 1.5 แสนคน (คิดเป็น 1% ของจำนวนผู้มีสิทธิ) ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าการเลือกตั้ง อบจ. แต่กลับใช้เวลานับคะแนนนานร่วมเดือน

อีกทั้งยังพบปัญหาของคะแนนผู้ลงสมัครหลายรายหายไปในสัดส่วน 1 ใน 10 จากคะแนนที่เคยนับได้ จนเป็นเหตุให้ ปรารถนา โพธิ์ดี ที่เคยเป็นอันดับที่ 7 มีสิทธิเข้าเป็นบอร์ดประกันสังคม แต่เมื่อผลอย่างเป็นทางการออกมา พบว่าคะแนนหายไปถึง 1,330 คะแนน ทำให้ปรารถนาตกไปเป็นลำดับที่ 9 และทำให้ จตุรงค์ ไพรสิงห์ ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 7 แทน

ขณะที่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 6 อันดับแรก และมีนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ มุ่งเน้นการสร้างระบบประกันสังคมที่เท่าเทียม ขยายสิทธิประโยชน์ในแต่ละด้าน ตลอดจนมีการปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดนโยบาย ดังนี้

  • สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.99%

  • มุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ เน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ประกันตน

  • วางเงื่อนไขการลงทุน และบริษัทคู่สัญญา มีธรรมาภิบาล การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ ยึดโยงกับผู้ประกันสังคม คัดเลือกคู่สัญญาด้วย Decent Work

  • สูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม

  • ประกันสังคมถ้วนหน้า พื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาวใน 2 ปี

  • พัฒนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่า ราชการและบัตรทอง ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี

  • สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับ สปสช. เหมาจ่าย 17,500 บาท ตลอดการรักษา

  • ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคม

  • ขยายสิทธิประโยชน์คนพิการ ไม่ตัดสิทธิการใช้ร่วมกับสวัสดิการอื่น รักษาพยาบาลได้ทุกที่

  • เพิ่มประกันการว่างงาน สูงสุด 9 เดือน

  • ชดเชยการลา เพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท

  • เพิ่มค่าคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน

  • เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก 0-6 ปี จาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน

  • เพิ่มเงินดูแลเด็ก 7-12 ปี ปีละ 7,200 บาท
May be an image of 8 people and text

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active