‘แรงงานกีบหมู’ ยังเข้าไม่ถึงกลไกจัดหางาน-ไร้สวัสดิการรองรับ

อธิบดีกรมการจัดหางานเสนอแรงงานกีบหมูรวมกลุ่ม ใช้กลไกรัฐประสานเพื่อความต่อเนื่องจ้างงาน ด้านนักวิชาการแรงงานชี้ กลไกจัดหางานล้มเหลว แรงงานอิสระถูกเมินสวัสดิการความมั่นคง

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงสถานการณ์ซื้อขายแรงงานบนถนนสุเหร่าคลอง 1 เขตคลองสามวา หรือซอยกีบหมู ว่า  เป็นลักษณะของแรงงานอิสระ ที่ไม่อยากให้เรียกว่าการซื้อขายแรงงาน ซึ่งสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้ตนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สอบถามแรงงานบางส่วนพบว่าเป็นแรงงานช่างก่อสร้างที่มีฝีมือไม่ใช่แรงงานไร้ทักษะ ซึ่งการมายืนรองานลักษณะนี้มีความอิสระมากกว่าการทำงานแบบมีนายจ้าง  แต่ก็อาจไม่ได้งานทุกวัน กรมฯ ไม่นิ่งนอนใจและเห็นว่ามีกลไกของหน่วยงานในการจัดหางานที่ทำให้แรงงานมั่งคงมากขึ้น

“แรงงานช่างอาจรวมกลุ่ม หรือคนเดียวก็ได้ แล้วให้กรมเป็นหน่วยงานประสานนายจ้าง บริษัทที่ประสงค์จะรับช่างทำงานต่อเนื่อง ซึ่งหากผ่านกรมก็จะน่าเชื่อถือและมีความมั่นคงของการจ้างงานมากกว่า “

อธิบดีกรมการจัดหางานยังระบุเพิ่มเติมว่า กลไกดังกล่าวมีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เริ่มทำจริงจังและยังขาดข้อมูลของแรงงานและนายจ้างในซอยกีบหมูว่ามีมากเท่าไหร่ จากนี้อาจต้องเริ่มทำควบคู่กันไปและใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ยอมรับว่าที่ผ่านมาแรงงานอาจไม่สนใจมากเท่าไหร่เนื่องจากแรงงานเห็นว่ามีความอิสระ แต่หากเข้าสู่กลไกนี้จะมีความมั่นคงในการทำงานมากกว่า ดังนั้น ทั้งทางแรงงานและกรมฯอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องนี้ใหม่ 

ด้านสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5  เคยลงพื้นที่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อจัดหางานและชวนให้แรงงานเข้าสู่ระบบ ผ่านภารกิจหลัก ๆ พบว่า มีประชาชนทั่วไปสนใจและมาลงทะเบียนการให้บริการจัดหางานภายในประเทศ ต่างประเทศ และการส่งเสริมประกอบอาชีพ รวมทั้งหมด 103 คน 

ด้าน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เห็นว่าการที่กลไกของรัฐไม่สามารถเข้าไปเป็นตัวกลางประสานการจัดหางานให้แรงงานอิสระได้ โดยอ้างว่าพวกเขาต้องการทำงานในลักษระไม่มีนายจ้างนั้นถือเป็นกลไกของรัฐทำงานที่ล้มเหลว ทั้งที่รู้ว่าหากไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้จะเป็นการปล่อยให้แรงงานขาดหลักประกันและความมั่นคงในการทำงาน

“ความเป็นราชการ เป็นข้าศึกของแรงงาน หากไม่ยืดหยุ่นหรือปรับตัวก็จะไม่สามารถเข้าถึงแรงงานได้ ยิ่งเป็นระบบราชการมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าถึงความจริงของแรงงานได้น้อย และในฐานะพลเมืองของรัฐ แรงงานก็ควรได้รับการดูแล”

นอกจากปัญหาดังกล่าวในซอบกีบหมูยังพบปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบทำงานผิดกฎหมาย แย่งอาชีพคนไทย จำนวน 102 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา  รวมถึงปัญหาการจราจรติดขัด สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมซึ่งสำนักงานเขตคลองสามวาพยายามที่จะเข้ามาจัดระเบียบและดูแลเรื่องนี้ 



Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active