มองอนาคต 10 ปี สุราพื้นบ้านไทย

5 พรรคการเมือง เห็นร่วม กฎหมายแอลกอฮอล์ไทยตกยุค เอื้อทุนรายใหญ่ แนะปลดล็อคกฎหมาย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น พร้อมจุดยืนในเวทีโลก

(12 มี.ค. 2566) BEER PEOPLE จัดกิจกรรม FESTIVAL 2023 ระหว่างวันที่ 11-12 มี.ค. 2566 ที่ Chatuchak Playground antique flea market กทม. หวังดันเพดานการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชวน 5 พรรคการเมือง คือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า มองถึงข้อจำกัดของกฎหมาย และร่วมออกแบบนโยบายและมองทิศทางการไปต่อของวงการเบียร์ และสุราพื้นบ้านไทยในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โลก  

ทั้ง 5 พรรคการเมืองเห็นสอดคล้องกันว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ในไทยที่ใช้ในปัจจุบันนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย และเอื้อให้กับนายทุนรายใหญ่ไม่กี่เจ้า ปิดโอกาสของเกษตรกรแปรรูป และทำให้ไม่เกิดการกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย จึงมีข้อเสนอว่า ควรมีสัดส่วนส่งออกสินค้าประเภทแอลกอฮอล์จากผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น ปลดล็อคกฎหมายเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจ SME และการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม 

ภาพอนาคต 10 ปี ทิศทางต่อไปเหล้าเบียร์ประเทศไทย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ว่า กฎหมายทำให้เกษตรกรไม่สามารลืมตาอ้าปากได้ ทุกวันนี้เราสนับสนุนเกษตรกรต่างประเทศยกเว้นไทย แต่ไม่ยอมให้เกษตรกรในประเทศไทยลืมตาอ้าปากได้ ในอนาคตเหล้าเบียร์อุตสาหกรรมจะหายเถื่อน ไม่มีเหล้าเบียร์เถื่อน มีแต่กฎหมายเถื่อน 

สุทิน คลังแสง ประธานคณะทำงานนโยบายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พอชาวบ้านทำเบียร์หรือสุราเองไม่ได้ นายทุนขนาดใหญก็ขึ้นราคาได้ ชาวบ้านพอทำเองไม่ได้ก็ต้องซื้อบริโภค ควรเลิกผูกขาดเอา 4 แสนล้านบาทที่เป็นรายได้ของทุนรายใหญ่มากระจายสู่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยสร้างการแข่งขันแบบไซส์ SML คือ S (ชาวบ้าน) – M (SME) – L (ทุนรายใหญ่) ส่งเสริมตามศักยภาพของแต่ละรุ่น แต่ละเลท ประเทศไทยจะอุดมด้วยเหล้า เบียร์ สุราพื้นบ้าน หลากหลายชนิดจะเป็นซอฟพาวเวอร์ของแต่ละจังหวัดด้วย ประเทศไทยจะมีเสน่ห์ และพอมีการแข่งขันที่หลากหลายคุณภาพก็จะตามมา กระจายรายได้ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของประเทศ

สอดคล้องกับความเห็นของ ศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ส่วนแบ่งทางการตลาด 80-90 จะต้องกระจายสู่รายย่อย ทั่วประเทศ การขอใบอนุญาตได้ง่ายกว่าที่เป็น เช่น เรื่องของราคาที่แพงของการขอใบอนุญาต การทำเอกสาร จะต้องไม่ทำให้เป็นภาระประชาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการทำกิจการของคนตัวเล็กตัวน้อย เพราะตอนนี้แหล่งทุนเข้าถึงยาก หรือกระทั่งกองทุนสนันสนุนสตาร์ทอัพก็แทบไม่มี เราจึงมีนโยบายและผลักดันอย่างเต็มที่  รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ม.32 การแก้ไขการกำหนดเวลาขาย และอยากเห็นงานเทศกาลเบียร์เกิดขึ้นอีกหลาย ๆ ที่

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ย้ำจุดยืน เน้นเสรีนิยมประชาธิปไตย และการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ต้องไม่ผูกขาด อยากให้คนทำเบียร์ ทำเหล้า และทำเกษตรแปรรูปมีโอกาสรวย  ตอนนี้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมฯ บีบให้ประชาชนธรรมดา ไม่มีโอกาสรวย ไม่ต้องพูดเท่าเทียม แต่มองที่โอกาส เช่น การให้โอกาสรายย่อยในการขายออนไลน์ได้ และรายใหญ่ก็ขายออนไลน์ได้เช่นกัน แนวคิด คือการแข่งขันต้องยุติธรรม แต่ระบบที่เป็นอยู่วันนี้ แม้จะบอกว่ารายใหญ่ถูกบังคับเหมือนรายเล็ก แต่ในมุมของเขาคือรายเล็กต้องยืนในลังที่สูงกว่ารายใหญ่ไม่งั้นเสียเปรียบทันที พร้อมย้ำจุดยืน โอกาสคนทำเบียร์ ทำเหล้าทำเกษตรแปรรูปต้องมีโอกาสรวย 

น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า การที่จะทำให้ท้องถิ่นเจริญได้ ต้องผลักดันจากอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ถ้ากฎหมายสุราเป็นของประชาชนจริง ๆ เขามองว่า สามารถเป็น 1 ตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์สุรา หรือ 1 หมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์สุรา คนไทยจะร่ำรวยขึ้นไม่เฉพาะคนทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยสามารถขายรวมกับอาหารเป็นวัฒนธรรท้องถิ่นและส่งออกได้จะทำให้สถานะรายได้โดยรวมสูงขึ้น แต่สิ่งที่ปิดกั้นคือกฎหมายที่กดทับคนตัวเล็ก สำหรับวงการแอลกอฮอล์ชัดเจนมาก แต่เราไม่สามารถปลดล็อคได้ หลังจากนี้การปลดล็อคกฎหมาย ตนยังไม่แน่ใจว่าพอถึงเวลาจะทำได้แค่ไหน ถ้าทำได้ตรงตามอุดมคติที่ต้องการ ก็จะนำเงินเข้าประเทศได้มาก

นอกจากนี้ ในวงเสวนายังเสนอให้มีการสนับสนุนองค์ความรู้และทักษะ โดยสนับสนุนหน่วยงานที่มีศักยภาพให้มีการผลิตเครื่องกลสำหรับการผลิต เช่น สถาบันอาชีวะ กศน. หรือชุมชนต่าง ๆ เพราะไทยมีวัตถุดิบ พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เพื่อสุขภาพ แต่เป็นเหตุผลที่ไม่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : เครือข่ายเบียร์จัดกิจกรรมต่อเนื่อง หวังสร้างการรับรู้ให้ประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active