เวทีสาธารณะ “แก้เหลื่อมล้ำ “ระดมภาคีเครือข่ายมองปัญหาผ่านชีวิต “ปูแป้น” เสนอแก้จน แก้เจ็บ กทม.ชูนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย หาพื้นที่รองรับ 624 จุด พร้อมแหล่งเงินทุน
สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 จัดเวทีสาธารณะ “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา เปิดพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายร่วมระดมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อเสนอในการแก้ปัญหาคนจนเมืองในกรุงเทพมหานครสะท้อนผ่านสารคดี คนจนเมือง ตอน”ความฝันของปูแป้น”
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ บอกว่า ความจนและสุขภาพแยกกันไม่ออก ระหว่างจนเพราะเจ็บหรือเจ็บเพราะจน แต่มีผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่าคนจนที่สุด จะมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าคนรวยที่สุดถึง 10 ปีเป็นลำดับชั้น โดยคนจนสุขภาพย่ำแย่กว่า อีกทั้งจากกรณีของ ‘ปูแป้น’ จะเห็นว่าความจนกำหนดให้ปัญหาสุขภาพมีสำคัญน้อยไปกว่าการทำมาหากิน เพราะไม่มีสวัสดิการ หยุดงานไม่ได้เงิน เขาจึงเลือกที่จะไม่ไปพบหมอ และยังมีข้อมูลที่บอกว่าคนกลุ่มนี้เลือกที่จะใช้บริการร้านขายยามากกว่าไปพบแพทย์ เพราะการเดินทางมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลา
- พบภาระหนี้ครอบครัวปูแป้น กว่าแสนบาท ดึง “หมอหนี้” ช่วยแก้
- เรื่องเล่า “คนจนเมือง” สู่ปฏิบัติการแก้จนข้ามรุ่น
- ผอ.เขตปทุมวัน เร่งช่วยเหลือครอบครัว ‘ปูแป้น’ จากสารคดีคนจนเมือง
“ถ้าจะแก้ปัญหาสุขภาพต้องแก้ที่ยากจน การให้บริการหลักประกันสุขภาพ ต้องปรับตัวให้เข้าถึงวิถีชีวิตคนจน ซึ่ง สปสช. เปิดนโยบายรับยาใกล้บ้าน เป็นทิศทางที่ดีที่จะทำให้เข้าถึงบริการที่ง่าย เรื่องแพทย์ปฐมภูมิก็ต้องเชื่อมโยงการประสานงานวางแผนการจัดการสุขภาพอย่างเป็นระบบ”
ขณะที่ เอริกา เมษินทรีย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเดอะลีด วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เสนอในมุมมองของเยาวชนว่า การศึกษาของบ้านเรายังไม่ตอบโจทย์กับวิถี บริบทของเยาวชน อย่างกรณีของปูแป้นเขาเรียนไม่ต่อเนื่องเพราะมีปัญหาสุขภาพของแม่ เรียนไม่ทันเพื่อน ตกหลายวิชา โรงเรียนต้องเข้าถึงปัญหาเหล่านี้และออกแบบการเรียน หลักสูตรที่ยืดหยุ่น
“โรงเรียนต้องทำความเข้าใจบริบทจริงจัง เข้าใจความต้องการของเขามากขึ้น เพราะปัญหาความยากจนมีหลายมิติเชื่อมโยงกันหมดเลย ทุกภาคส่วนควรเข้ามามีบทบาท ใช้จุดแข็ง จุดอ่อนที่ต่างกันช่วยส่งเสริมกัน ถ้าการศึกษาดี สุขภาวะก็จะดีตามมาด้วย”
ด้าน พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เสนอว่าอยากให้กทม. หาพื้นที่ค้าขายให้หาบเร่แผงลอย แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาครอบครัวปูแป้นยึดอาชีพนี้มา และสามารถส่งเสียปูแป้นเรียนได้ สะท้อนว่าอาชีพหาบเร่ฯ ทำให้เขาสามารถจะเลื่อนสถานะได้หากได้รับการช่วยเหลือ
“ปรับกฎกติกาหาบเร่แผงลอย ให้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อยากเห็นคณะกรรมการ ทำกติกาที่มีการปรับเปลี่ยน ให้เป็นของขวัญปีใหม่”
ด้านตัวแทนฝ่ายนโยบายของกรุงเทพมหานคร แสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม. มีนโยบายสำหรับช่วยเหลือคนจนเมืองหลายนโยบายและเห็นเป็นรูปธรรมแล้วเช่น หาบเร่แผงลอยมีการสำรวจพบผู้ค้าที่อยู่นอกจุดผ่อนผัน 624 จุด 4,000 กว่าคน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการหาพื้นที่ค้าขายให้ พร้อมกับหาแหล่งเงินทุนให้ ซึ่งกำลังประสานสถาบันทางการเงินอยู่และต้องใช้เวลา นอกจากนี้ ยังมีการทำเรื่องห้องเช่าราคาถูก จัดหาที่อยู่อาศัย ที่เน้นให้อยู่ในที่เดิม มีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่ง 102 หลักสูตร ค่าเล่าเรียนหลักร้อยบาท สามารถไปเรียนได้ มีคนไปฝึกต่อปีประมาณ 50,000 คน มีหลายอาชีพที่เปิดสอน และกำลังมีนโยบายเปิดฝึกอาชีพทุกเขต เร่งสำรวจความต้องการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมตามพื้นที่พร้อมมีทุนประกอบอาชีพให้ไม่เกิน 5,000 บาท
“นโยบายช่วยเหลือคนจน กทม. พยายามแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรค ต้นปีนี้นโยบายหาบเร่ฯ น่าจะเห็นผล”
สำหรับ การประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 ได้กําหนดกรอบการจัดงานภายใต้แนวคิด “กรุงเทพฯ เมืองสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี…สร้างได้!” ด้วยตระหนักว่ากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีการขยายตัวและเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทําให้แนวทาง การพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน นํามาซึ่งความท้าทายต่อการพัฒนาสุขภาวะในหลายมิติ จึงเป็น ประเด็นสําคัญที่ภาคีทุกภาคสทวน และพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ควรรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านบวกและด้านลบ และร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นนครแห่ง สุขภาวะของทุกคน
ในการประชุมได้กําหนดระเบียบวาระจํานวน 2 เรื่อง วาระที่ 1 คือ เรื่อง “พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย” ให้ความสําคัญกับความมั่นคงทางอาชีพ พื้นที่ทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การยอมรับความหลากหลาย และกระบวนการมีส่วนร่วม โดยมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มคนทํางานเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ ผู้ทําการผลิตที่บ้าน หาบเร่แผงลอย และผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ เนื่องด้วยคนกลุ่มนี้มีบทบาทสําคัญ ที่เกื้อหนุนคนในเมืองให้มีงานทํา มีความมั่นคงทางอาหาร ทําให้เศรษฐกิจดําเนินต่อได้แต่ในทางกลับกันการทํางานของกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากยังมีข้อจํากัดด้านพื้นที่ประกอบอาชีพ ความปลอดภัย และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และวาระที่ 2 เรื่อง “สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า” มีที่มาจากความท้าทายของปัญหาสุขภาพในสังคมเมือง ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหน้าทํามาหากิน ขาดการออกกําลังกาย รวมถึงปัญหาทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการขาดความรู้ความเข้าใจการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง