เรื่องเล่า “คนจนเมือง” สู่ปฏิบัติการแก้จนข้ามรุ่น

ครั้งแรก! ระดมความเห็น “เรื่องเล่าคนจนเมือง สู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาจนข้ามรุ่น” ตกผลึกโมเดลแก้ปัญหาเด็กเปราะบางในกรุงเทพฯ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านเคส “ปูแป้น”

วันนี้ (1 พ.ย. 2565) “เรื่องเล่าคนจนเมือง สู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาคนจนข้ามรุ่นอย่างไร” ฉายสารคดี “ความฝันของปูแป้น” 1 ใน 6 ตอนจากสารคดีคนจนเมือง ซีซัน 3 เรื่องราวของนักเรียนหญิงวัย 17 ปี อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ที่ป่วยด้วยโรคประจำตัว ทำให้ยากที่จะทำให้ฝันของเธอพอมองเห็นอนาคตหรือความเป็นไปได้ เพราะลำพังแค่การหาเลี้ยงชีพให้อยู่รอดในแต่ละวันก็เป็นเรื่องยาก

ตลอดช่วงเช้ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสะท้อนปัญหาผ่านการชมสารคดีในหลายมิติที่ทับซ้อนอยู่กับความยากจน เช่น มิติการศึกษา ที่อยู่อาศัย ความมั่นคงในชีวิต สุขภาพ ความพิการ ฯลฯ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ได้ถูกรวบรวมไว้เพื่อนำมาต่อยอดการพูดคุยในช่วงบ่าย ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย

หลังสารคดีตอน “ความฝันของปูแป้น” ออกอากาศไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2565 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทีมสหวิชาชีพของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ โดยพบว่าแม้ปูแป้นและแม่ของเธอเข้าถึงการช่วยเหลือได้มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้จริง

การพูดคุยในวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สอบถามถึงอาชีพและความฝันของปูแป้น โดยมองว่า มิติการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพราะปูแป้นยังขาดครูแนะแนว ที่จะคอยให้ความช่วยเหลือเพื่อมองความถนัดทางอาชีพของเด็กและเยาวชน โดยมีตัวแทนจาก ภาคีร้อยพลังการศึกษา (Thailand Collaboration for Education : TCFE) เสนอให้เน้นการจัดตารางเวลา และการแนะแนวอาชีพให้กับเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกัน ครอบครัวนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ติดปัญหาการกู้ยืม หนี้สิน และความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพ

The Active สรุปบางส่วนจากวงคุยปฏิบัติการแก้จนกรณีปูแป้นและครอบครัว โดยมีสิ่งที่แต่ละหน่วยงานสามารถช่วยเหลือได้เร่งด่วน ประกอบด้วย

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สามารถสนับสนุนการให้เงินสงเคราะห์ ซึ่งอาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนระยะยาวอาจต้องวางแผนติดต่อประสานงานด้านความมั่นคงเรื่องอาชีพ รายได้ สามารถสนับสนุนรถเข็นที่ใช้ประกอบอาชีพ ที่จะช่วยเรื่องภาพลักษณ์ ส่วนพื้นที่ขายของ อาจต้องไปพื้นที่ค้าขายใหม่ ที่ต้องประสานกับสำนักเขตปทุมวัน ในส่วนนี้หน่วยงานจะประสานช่วยเหลือต่อไป

ภาคีร้อยพลังการศึกษา

  • หาผู้แนะแนวทางด้านการศึกษา ให้คำแนะนำการเรียนและอาชีพ
  • ช่วยหาทุน เพื่อปูแป้นไม่ต้องทำงานเสริม กระทบต่อเวลาเรียน
  • สนับสนุนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งเข็มฉีดอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับคนพิการ

มูลนิธิ ซ.โซ่ อาสา สนับสนุนทุนการศึกษาให้ปูแป้น โดยได้มอบทุนการศึกษาไปแล้ว 2,000 บาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษาส่งเด็กเรียนจนจบมหาวิทยาลัย หากปูแป้นมีความพร้อมและอยากเรียน ซึ่งตอนนี้อยู่ขั้นระดมทุนและปรึกษากันในทีม หากจะให้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ต้องมีการเก็บข้อมูลที่มากพอ

ศ.ระพีพรรณ คำหอม อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่ากระทรวงฯ ต้องตกลงกัน รับเรื่องไปและประสานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงโรงพยาบาลตำรวจ เชื่อมประสานระบบสุขภาพ รวมถึงฝากนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ดูเรื่องของการทรงตัว ช่วยเหลือเรื่องการเดิน

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้คำแนะนำและช่วยประสานงานให้เข้าถึงการช่วยเหลือคนพิการ ผ่านการติดต่อที่ศูนย์ฯ พร้อมจะตรวจสอบสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ให้ หรือหากไปโรงพยาบาลจะขอจิตอาสาผู้ช่วยเหลือ

สำหรับวงสนทนาเพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบาย มีผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนจากหลายองค์กรเข้าร่วม เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), Youth in Charge Leadership Academy (YIC), มูลนิธิชุมชนไท, มูลนิธิเพื่อคนไทย, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจต่อเนื่องจากประสบการณ์ของครอบครัวปูแป้น ร่วมกันคิด หาแนวทางแก้ปัญหา และระดมเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติการว่ามีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง เพื่อร่วมกันหยุดความจนข้ามรุ่น

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ถูกนิยามให้เป็น มหานครแห่งความเจริญ แต่ขณะเดียวกันยังพบกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนความยากจน จากข้อมูลพบว่า ในกรุงเทพฯ มีเด็กเปราะบางจำนวนมาก ข้อมูลจากการคัดกรองความยากจน ของ กสศ. ร่วมกับ กทม. พบว่ามีมากกว่า 6,000 คน ที่ยังรอรับการช่วยเหลือ โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความจน เช่น การมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง จากการเช่าที่อยู่อาศัยไม่มีมาตรฐาน หรืออยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ, การเข้าถึงบริการของรัฐ, การจัดการผังเมือง ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมกับการกำหนดอนาคตของเมือง โดยภายในงานวันนี้ยังมีการเปิดข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบของ Data Visualization ชุด คนจนจะหมดไป…? เพื่ออธิบายสาเหตุความยากจนของคนแต่ละภาค รวมถึงกรุงเทพมหานคร พร้อมแนวคิดในการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active