เครือข่ายด้านความเท่าเทียมทางเพศ วอนสังคม หยุดดรามาจากปรากฎการณ์ “เบียร์ เดอะวอยซ์” ขออย่าทำตัวเป็นคนเชียร์มวย ชี้หน้า ตัดสินใครถูก ใครผิด ชวนมองต้นตอปัญหา ก้าวให้พ้นฐานคิด “สังคมชายเป็นใหญ่”
จากกรณีของนักร้องสาว เบียร์ – ภัสรนันท์ อัษฎมงคล หรือ “เบียร์ เดอะวอยซ์” ที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวลานี้ และนำมาสู่การตั้งคำถามของสังคม ถึงพฤติกรรม ที่ถูกมองว่าอาจขัดกับค่านิยมของผู้หญิงที่สังคมไทยคุ้นเคย
โดยก่อนนี้หน้า เบียร์ เดอะวอยซ์ เคยมีข่าวปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง ในภาพลักษณ์ของสาวสวย เซ็กซี่ ทำให้พัวพันกับข่าวคราวในมิติทางเพศอยู่บ่อยครั้ง หลายกรณีเธอได้รับกำลังใจจากสังคมในฐานะเหยื่อทางเพศ แต่สำหรับปรากฎการณ์ครั้งนี้ เธอกลับถูกตีตรา และตัดสินจากสังคมจนกลายเป็นเหยื่ออีกครั้งในรูปแบบที่ต่างออกไป
The Active พูดคุยกับ จิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจ โดยเห็นว่า เบียร์ เดอะวอยซ์ คือเหยื่อของความรุนแรงทางเพศรูปแบบหนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยเผชิญกรณีภาพหลุด ทำให้เบียร์ตกเป็นเหยื่อทางเพศที่พร้อมจะได้รับความเห็นใจ และปกป้องจากคนในสังคม แต่ในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อเบียร์ออกมาพูด และแสดงความคิดเห็นของตนด้วยบุคลิก ท่าทีที่ตรงไปตรงมา กลับกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในทางลบอย่างหนัก ตกอยู่ในสภาพเหยื่ออีกครั้ง
“เมื่อมีสถานการณ์เรื่องเพศ คนจะให้พื้นที่กับผู้หญิงออกมาพูด และให้ความเห็นใจเมื่อผู้หญิงตกเป็นเหยื่อเท่านั้น”
จิตติมา ภาณุเตชะ
นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ยังสะท้อนถึงกรณีที่ต่างออกไป ว่า หากผู้หญิงอยากลุกขึ้นมาอธิบายเจตนา หรือการกระทำของตัวเองบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องที่ค่อนข้างจะล้ำเส้นศีลธรรม สังคมกลับไม่เคยเปิดใจรับฟัง และเมื่อคนไม่ฟัง ก็ยิ่งต้องตะโกน ทำให้สารที่ส่งออกมาไม่ว่าจะเป็นด้วยเนื้อหา หรือท่าทีก็พร้อมจะทำให้สังคมตัดสินว่าเป็นผู้หญิงก้าวร้าว เมื่อผู้คนไม่เปิดใจรับฟัง ก็จะไม่เชื่อ และนำไปสู่การล้อเลียน หรือถูกทัวร์ลงในที่สุด นั่นเพราะพวกเขาไม่เคยได้ตกอยู่ในสถานภาพเดียวกับเหยื่อที่ถูกกระทำนั่นเอง
ชี้ให้เห็นว่า เรื่องเหล่านี้ดึงดูดความอยากรู้ อยากเห็นของผู้คนในสังคมไทยไม่น้อย แต่สิ่งที่สังคมต้องตระหนักให้มากคือไม่ควรตัดสินหรือ ชี้ผิด ชี้ถูก ในเรื่องความสัมพันธ์ของผู้อื่น การส่งเสียงเชียร์ หรือเลือกข้างยิ่งทำให้นำไปสู่การตัดสิน ตีตราในที่สุด
“เวลามีเหตุการณ์ดรามาเกิดขึ้นในสังคม อย่าทำตัวเป็นคนเชียร์มวย เพราะท้ายที่สุดไม่เคยมีใครได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ มีแต่จะจบลงด้วยความบอบช้ำของทุกฝ่าย แต่สังคมไทยควรเรียนรู้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น อย่าชี้ถูกผิด และควรให้พื้นที่กับผู้หญิงออกมาส่งเสียง แสดงความคิดเห็น และการตัดสินใจของตัวเองบ้างนอกเหนือจากพื้นที่ในฐานะของเหยื่อดังเช่นที่ผ่านมา”
จิตติมา ภาณุเตชะ
สอดคล้องกับมุมมองของ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า สังคมไทยยังยึดติดกับค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ผลพวงของการบ่มเพาะ ว่า การเป็นผู้ชายเจ้าชู้หรือมีคนรักมากกว่า 1 คน กลายเป็นเรื่องยอมรับได้ และไม่ใช่เรื่องผิด เลยเถิดไปถึงการถูกมองว่าเท่และท้าทาย ความผิดจึงถูกโยงมาที่ฝ่ายหญิงแทน ซึ่งนำมาสู่ความรุนแรงในครอบครัวทั้งทางกายและใจในที่สุด
“สังคมไทยยังติดอยู่กับแนวคิดชายเป็นใหญ่ และมีมายาคติว่าผู้ชายมีผู้หญิงหลายคนได้ ในขณะที่ผู้หญิง ก็ถูกตีตราว่าผู้หญิงที่ดีคือคนที่มาก่อน (เมียหลวง) และต้องเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย แต่งตัวมิดชิด ดูแลสามีและลูกเป็นอย่างดี ไม่ออกมาพูดเรื่องเพศ ในขณะที่ผู้หญิงที่เป็นฝ่ายมาทีหลัง (เมียน้อย) แต่งตัวเซ็กซี่ พูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมา กลายเป็นผู้หญิงไม่ดี สิ่งเหล่านี้ฝังรากลึกและสร้างความเกลียดชังแม้กระทั่งในผู้หญิงด้วยกันเอง”
จะเด็จ เชาวน์วิไล
ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังมองว่า การที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กรณี เบียร์ เดอะวอยซ์ อย่างหนัก โดยเป็นการหาว่าใครผิด ใครถูก มากไปกว่าการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาวิธีคิดของคนในสังคม ไม่ต่างอะไรกับละครไทยที่ยังนำเสนอแต่ฉากเมียหลวง-เมียน้อยตบตีกัน และเมื่อกรณีนี้จบลง แล้วมีกรณีใหม่เกิดขึ้นมา สังคมก็จะเอาแต่หาคนผิดมาวิจารณ์อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนในสังคมไทยก็ไม่เกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน ซ้ำร้ายยิ่งตอกย้ำมายาคติเดิม ๆ ไม่สิ้นสุด โดยปราศจากการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มาจากรากฐานวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยยังไม่ก้าวพ้นต่างหาก