พ.ย. เดือนยุติความรุนแรง ! พบไทยติด Top 10 ผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงมากที่สุด

เครือข่ายสตรีฯ ร่วมรณรงค์ “ความรุนแรง” ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว ​ กสม. ขอทุกภาคส่วน เดินตามข้อเสนอ “คณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วย การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี” เพื่อคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยผู้หญิง และเด็ก

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) จากเหตุการณ์ สังหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองสตรีชาวโดมินิกัน 3 คนในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2504 เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและร่วมกันขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลกและคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” มาตั้งแต่ปี 2542

เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) ร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงและทรานส์ที่ใช้ยาเสพติด (We-TrUST) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้านการสร้างความเข้มแข็งต่อชุมชนลดปัญหาการกระทำความรุนแรงในมิติเรื่องเพศ ออกมารณรงค์ให้ ผู้หญิงส่งเสียง และมองเรื่องความรุนแรงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของครอบครัวเท่านั้น หากพบเห็นควรที่จะร่วมยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ

กสม.หนุน พิทักษ์สิทธิ และเสรีภาพผู้หญิง และเด็ก ไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยข้อมูล สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทยยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องมีผู้หญิงและเด็กหญิงถูกล่วงละเมิดด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจในทุก ๆ วัน และเป็นที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีสถิติผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านจิตใจทางร่างกายและทางเพศมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีความรุนแรงในครอบครัวอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รับการแจ้งความร้องทุกข์ ด้วยสาเหตุความหวาดกลัวต่อการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือ ความอับอายไม่อยากเปิดเผยเรื่องราวให้ผู้อื่นรับรู้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงและเด็กหญิงที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) 

ยังมีความเปราะบางต่อการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้นเช่นเป็นเด็กหญิงกลุ่มชาติพันธุ์ที่พิการประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริการทางเพศ (sex worker) และติดเชื้อเอชไอวีเป็นต้นนอกจากนี้การแสวงหาประโยชน์และกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทางออนไลน์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

กสม. ขอเน้นย้ำว่า การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง และเด็กหญิง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการของเด็กการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง

เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังแจ้งเหตุช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กหญิง ในระดับชุมชนการสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริม และคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงการพัฒนา และบูรณาการระบบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในออกแบบมาตรการในการส่งเสริมคุ้มครองช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

กสม. ให้ความสำคัญกับการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกรูปแบบ และขอให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมมือกันดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อร่วมกันให้ความคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของผู้หญิงและเด็กทุกคน จากความรุนแรงทั้งทางกายทางจิตใจ และทางเพศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active