ชวนสำรวจความเป็นหญิงผ่านนิทรรศการ “วูแมนิเฟสโต”

“วูแมนิเฟสโต – ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง” นิทรรศการของกลุ่มศิลปินหญิงที่บอกเล่าเรื่องราว และความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงผ่านงานศิลปะ พร้อม ตั้งคำถามและทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นในสังคม ทั้งความสุข-ทุกข์ และความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ต้องเผชิญ

วันที่ 20 ธ.ค. 66 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดวงเสวนา “ก้าวต่อไป – บ้านวูแมนิเฟสโต” พูดคุยเรื่องทิศทางการทำงานในก้าวต่อไปของกลุ่ม “วูแมนิเฟสโต”- กลุ่มศิลปินหญิงที่รวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะที่สะท้อนเรื่องราว ความนึกคิด ความสุขทุกข์ และความเจ็บปวดของผู้หญิงในสังคม

วงเสวนา “ก้าวต่อไป – บ้านวูแมนิเฟสโต” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“วูแมนิเฟสโต” คือ กลุ่มผู้หญิง นักคิดนักเขียน ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวที่เริ่มรวมตัวกันมาตั้งแต่ช่วงกลางยุค 90s ยุคที่พื้นที่ในสังคมส่วนใหญ่ถูกสงวนไว้ให้กับผู้ชายเป็นหลักโดยเฉพาะพื้นที่ทางศิลปะ ในขณะที่ผู้หญิงเองกลับไม่มีที่ยืนในสังคมมากนัก บทบาทที่ผู้หญิงต้องเป็นทั้งแม่และภรรยาทำให้ต้องใช้เวลามากมายไปกับการดูแลครอบครัว พื้นที่ในการทำงานทางศิลปะกลับลดน้อยลงคงเหลือไว้แต่ในบ้านเท่านั้น

กว่า 26 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มวูแมนิเฟสโตมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สร้างสรรค์ผลงานมากมายที่ชวนให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามและทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นในสังคมตลอดจนความนึกคิด ความสุข-ทุกข์ และความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ต้องเผชิญ

ปรีณัน นานา หนึ่งในศิลปินกลุ่ม วูแมนิเฟสโต

ในครั้งนี้ นิทรรศการ “วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง” Womanifesto: Flowing Connections” จัดแสดงผลงานศิลปินหญิงเกือบ 30 ชีวิตจากทั่วโลก สะท้อนถึงเรื่องราวและสิ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นโซฟาแห่งความเจ็บปวดที่ถูกแปะทับด้วยบรรดาผ้าอนามัยพร้อมกิ่งไม้และเศษแก้วทิ่มแทงสะท้อนถึงภาวะแปรปรวนและเจ็บปวดของผู้หญิงเมื่อก้าวสู่วัยทอง และภาพฟิล์มเอกซเรย์เต้านมที่ถูกซ้อนทับด้วยภาพนักมวยปล้ำหญิง

ผลงาน Moment of Truth, 2566 ของวาร์ซ่า นายร์ ศิลปินชาวยูกันดา

“วาร์ซ่า นายร์ เป็นศิลปินที่อาศัยอยู่ที่อินเดีย สร้างผลงานชิ้นนี้โดยใช้อ้างอิงจากข้อความภาษาอินเดียโบราณที่กำหนดกฎเกณฑ์ให้ผู้หญิงมีสถานะทางสังคมด้อยกว่าชาย คำสอนพวกนี้ผูกติดกับร่างกายของผู้หญิงอินเดียมาอย่างยาวนาน ฝังรากลึกอยู่ในกรอบความคิด

“วาร์ซ่า ถ่ายทอดความนึกคิดออกมาผ่านภาพเอกซเรย์เต้านมที่มีคำสอนอินเดียโบราณที่ถูกเจาะให้เป็นรูและเรียงให้เป็นรูปนักมวยปล้ำหญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ วาร์ซ่า ต้องการสะท้อนให้คนตั้งคำถามใหม่ถึงหลักการดำเนินชีวิตที่ในสังคมควรมีความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย แต่ในหนังสืออินเดียโบราณเล่มนั้นกลับไม่มีความเท่าเทียมเลย” ปรีณัน นานา หนึ่งในศิลปินหลักกลุ่ม วูแมนิเฟสโต เล่า

The Golden Mandala, 2566 ศิลปิน อรอนงค์ กลิ่นศิริ

รวมถึงผลงานของ อรอนงค์ แสดงให้เห็นถึงการก้าวผ่านช่วงวัยต่าง ๆ ของเพศหญิง ตั้งแต่วัยเด็ก วัยสาว วัยท้อง วัยทอง จนถึงวัยชรา ซึ่งวัยทอง (menopause) เปรียบเสมือนการเดินทางไปสู่สุดสิ้นสุดของช่วงวัย

“ช่วงวัยทองเป็นช่วงที่ผู้หญิงมีการเปลี่ยนผ่านทางร่างกายอย่างมาก ศิลปินจึงเลือกโซฟาที่ถูกแปะทับด้วยผ้าอนามัย รายล้อมไปด้วยเศษแก้ว และกิ่งไม้ทิ่มแทงเพื่อสะท้อนความเจ็บปวดอันมาจากปัญหาสุขภาพกายและจิตใจของผู้หญิงในช่วงนั้น”

“วูแมนิเฟสโต” จึงเปรียบเสมือนคำแถลงการณ์ของเหล่าสตรี ที่ประกาศว่าเมื่อพวกเธอมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน ความเป็นแม่ ความเป็นภรรยา และความเป็นผู้หญิงนั้นสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าและความหมายได้มากมายเหลือเกิน

นิทรรศการ ‘วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง’ จัดแสดงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 ระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566 นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active