ความเป็นไปได้ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลดค่าใช้จ่ายผู้บริโภค

สภาผู้บริโภคฯ หนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ตั้งเป้าหมาย ทุกคนเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนใกล้บ้าน หวังค่าบริการอยู่ระหว่าง 5 – 10% ของรายได้ขั้นต่ำ ด้านนักวิชาการ แนะใช้รถไฟพัฒนาศักยภาพให้รอบด้านเพื่อความยั่งยืน

วันนี้ (5 ต.ค. 66)  สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนา เรื่อง “เปิดต้นทุน รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทุกสายทุกคนขึ้นได้” ผ่านเพจของสภาองค์กรของผู้บริโภค พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง มองว่า นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน ในช่วงปลายปี ต้นปี ที่ฝุ่น PM 2.5 กำลังจะมา การที่หันมาใช้รถไฟฟ้าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 ลดน้อยลง เพราะปัญหาฝุ่นควันส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการสันดาปของเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล และการนำเข้าพลังงาน 

พบว่าเกิดข้อถกเถียงในโซเชียลมีว่ามาตรการรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายนั้นเป็นประโยชน์กับแค่ประชาชนในกรุงเทพฯ จึงอยากให้ทำความเข้าใจกันในประเด็นนี้ว่า คนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นประชากรแฝงจำนวนไม่น้อยที่ได้ประโยชน์ รวมถึงนักท่องเที่ยว การใช้มาตราการนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากปัญหาการจราจรและมลพิษเกิดขึ้นที่นี่ แต่ก็พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่หัวเมืองอื่น ๆ เช่นกัน

ในวันอังคารที่จะถึงนี้รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่เป็นของรัฐอย่างน้อย 2 สาย คือ สายสีแดงและสีม่วง จะปรับราคาเป็น 20 บาทนั้นเป็นได้จริง ส่วนสายอื่น ๆ คงต้องรอดูในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ เนื่องจากมีการแก้ปัญหาเรื่องระบบ แต่เมื่อเข้า ครม. วันที่ 10 ต.ค. แล้วก็จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ต.ค. นี้

วิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ได้พยายามลดค่าบริการรถไฟฟ้าของผู้โดยสาร ในส่วนของค่าแรกเข้าในการเปลี่ยนขบวนหรือข้ามสาย มีการเจรจากับสายสีแดง ในการลดค่าแรกเข้าระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง และในสายสีชมพูที่ใกล้จะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ก็มีการระบุในสัญญาไว้ว่าให้ลดค่าแรกเข้า

ส่วนการปรับค่าโดยสารเพื่อเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลนั้นทาง รฟม. จะตั้งค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 20 บาท จากราคาปัจจุบัน 14 – 42 บาท กรณีที่อัตราค่าโดยสารปัจจุบันต่ำกว่า 20 บาท เช่น 14 บาท หรือ 17 บาท ให้เก็บในอัตราเดิม เด็ก ผู้สูงอายุ นักเรียนนักศึกษา ได้รับส่วนลดค่าโดยสารในอัตราเดิม ก็จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของผู้โดยสารลดลงไปด้วย

รศ.ประมวล สุรีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึง ต้นตอของปัญหาที่ทำให้ปัจจุบันต้องมาแก้ปัญหาเรื่องราคารถไฟฟ้า เนื่องจากหัวใจหลักคือการแก้ปัญหาจราจร โครงการรถไฟฟ้าตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีลักษณะการดำเนินโครงการแบบแยกส่วน ได้รถไฟหลากหลายโมเดล, ยี่ห้อ ไม่เอื้อให้เกิดอุตสาหกรรม เน้นการจัดหามาใช้งาน พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มีความเสี่ยงเรื่องอะไหล่ทดแทน จึงไม่ควรใช้รถไฟฟ้าแค่แก้ปัญหาจราจร แต่ควรขยายไปพัฒนาด้านอื่นด้วย

ประมวลแนะว่าควรใช้รถไฟฟ้าเพื่อพัฒนาศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิศวกรรม กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน พัฒนาบุคลากร Science & Tech ส่งเสริมงานวิจัยพัฒนา เพื่อเกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า บริการขนส่งมวลชนควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ค่าบริการควรอยู่ระหว่าง 5 – 10% ของรายได้ขั้นต่ำ การรอรถในชั่วโมงเร่งด่วนควรไม่เกิน 15 นาที ในชั่วโมงปกติไม่เกิน 30 นาที การเข้าถึงจุดบริการขนส่งมวลชนไปในระยะทาง 0.5 กม. นอกจากนี้ควรเน้นขนส่งมวลชนในระบบรางเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งทางสภาผู้บริโภค เคยเสนอมาตราการให้กับรัฐบาลตั้งแต่ปี 2564 โดยเป็นข้อเสนอการกำหนดกรอบค่าโดยสาร

  • กำหนดกรอบอัตราค่าโดยสารขั้นสูง เพื่อไม่ให้ค่าโดยสารสูงแบบไม่มีการจำกัด โดยกำหนดนโยบายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ ให้ค่าบริการขนส่งมวลชนสูงสุดต่อวันไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ
  • เร่งรัดใช้ระบบตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวในบริการขนส่งมวลชนทุกระบบไม่ใช่เพียงรถไฟฟ้า
  • ยกเลิกการประมูลสายสีส้มตะวันตกและเร่งจ้างเอกชนเดินรถสายสีส้มตะวันออกและเปิดประมูลสายสีส้มตะวันตกโดยรัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้าง
  • ปรับแก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคตเพื่อใช้ค่าดดยสารร่วม ลดค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อน
  • พัฒนาระบบขนส่งมวลชนในทุกพื้นที่เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจและชีวิตสังคม ตลอดจนการเติบดตของพลเมือง เชื่อมโยงกับบริการรถไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และลดมลพิษสิ่งแวล้อม
  • กำหนดมาตราการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เพียงพอเพิ่มมากขึ้น ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดสัดส่วนการใช้ขนส่งมวลชนให้ได้ตามเป้าหมาย

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงาน และมีนโยบายลดค่าโดยสารให้กับประชาชน ทางสภาผู้บริโภคจึงอยากสนับสนุนให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายนั้นสามารถดำเนินการได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active