“Hack HUG HUG” ค้นหานวัตกรรมจ้างงานคนพิการ

ไทยพีบีเอส จับมือ 9 เครือข่ายด้านคนพิการทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ระดมสมองเจอกับนายจ้าง สร้างทัศนคติเชิงบวกพาคนพิการ 102,889 คน เข้าสู่ตลาดแรงงาน

วันนี้ (22 ส.ค.66) ไทยพีบีเอสแถลงข่าวโครงการ HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า ในปี 2565 มีคนพิการในประเทศไทยที่ออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,107,005 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 65) มีคนพิการอยู่ในวัยทำงาน 855,816 คน ประกอบอาชีพ 310,586 คน หรือ ร้อยละ36.29 โดยคนพิการประกอบอาชีพได้ แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพ 102,889 คน หรือ 12.02% ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง ประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยมีจำนวนน้อยที่สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้

 

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ มองเห็นร่วมกับภาคีเครือข่าย ว่า การจ้างงานคนพิการถือเป็นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างซึ่งไทยพีบีเอสให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายจ้างงานคนพิการ แต่ในการปฏิบัติกลับไม่ได้ตามที่หวัง

ไทยพีบีเอสมองเห็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญคือการสื่อสารที่จะทำให้การจ้างงานในภาครัฐ เอกชน เกิดการรับรู้ เข้าใจ ปรับมุมมองว่าการจ้างงานคนพิการจะทำให้สังคมได้อะไรได้บ้าง ทั้งโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ สร้างอาชีพ มายาคติเชิงลบต่อคนพิการ ทุกภาคส่วนจะมีส่วนช่วยกันขจัดออกได้อย่างไร ดังนั้นในการทำงานของทั้ง 9 องค์กร ไทยพีบีเอสขอเป็นองค์กรที่ 10 ที่จะช่วยสื่อสารให้กิจกรรมนี้เป็นที่รับรู้เช่นเดียวกับงาน “Hack Thailand 2575: 48 ชั่วโมง พลิกโฉมประเทศไทย สู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” ที่จัดไปก่อนหน้านี้ ซึ่ง Hack HUG HUG ถือเป็นครั้งที่ Hackathon ครั้งที่ 2 ประจำปี 66 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 -30 ก.ย.นี้

“ไทยพีบีเอสขอเป็นส่วนร่วมในการจัด Hackathon เพื่อค้นหานวัตกรรมเสริมอาชีพให้ครอบคลุมคนพิการ 7 ประเภท เชื่อมโยงกับสถานประกอบการ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า และเท่าเทียม ดังนั้น หวังอย่างยิ่งว่าโครงการ HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งานจะจุดประกายสำคัญเพื่อให้คนพิการมีงานทำต่อไป”

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล

เสียงท้อนคนพิการ ต่อโอกาสในการได้พื้นที่จากการจ้างงาน

วันทนา  ยืนยงวิวัฒน์ นักวิจัยและพัฒนาอาวุโส ไทยพีบีเอส คนพิการทางการเคลื่อนไหว กล่าวว่า ตนเองจบการศึกษาระดับปริญญา ได้รับการจ้างจากเอกชนและไทยพีบีเอส ได้รับความสะดวกด้านห้องน้ำ ที่จอดรถคนพิการ การพัฒนาศักยภาพ บัตรสวัสดิการลดหย่อนค่าเดินทาง แต่ปัญหาที่ยังพบในการจ้างงานคนพิการในสังคม คือทัศนคติจากสังคมที่มองว่าคนพิการไม่สามารถทำงานกับคนปกติได้ รวมถึงข้อจำกัดในการเดินทางบางคนต้องขึ้นแท็กซี่ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง จึงอยากขอโอกาสกับคนพิการที่ไม่ได้ทำงาน จ้างงาน เพราะจะทำให้คนพิการเลี้ยงตัวเอง ครอบครัว สร้างความภาคภูมิใจ และสถานประกอบการได้ประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี

จักริ์รดา อัตตรัถยา นักวิทยาศาสตร์ลำเลียงแสง คนพิการคนแรกและคนเดียวของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สะท้อนว่า คนพิการทางการได้ยินคือความพิการที่มองไม่เห็น โดยเปรียบเทียบกับระบบการศึกษาตอนที่ตัวเองอยู่ต่างประเทศ ทางมหาวิทยาลัยจะสอบถามว่าต้องการคนคอยช่วยเหลือหรือไม่ พร้อมการแนะแนวอาชีพ พอกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยข้อจำกัดของตนเอง แม้จะอ่านปากได้แต่ไม่เข้าใจทั้งหมด เวลามีประชุมก็ต้องคอยถามเพื่อนร่วมงาน ส่วนหัวหน้ารู้ข้อจำกับปรับงานให้ไปทำหน้าที่ด้านปรับปรุงพัฒนาเครื่องมือที่ตนเองถนัด แทนงานบริการ

ฐิติกร  พริ้งเพลิด กล่าวว่า การจ้างงานช่วยเปลี่ยนชีวิตจากคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพราะการเป็นผู้ป่วยทางจิต สำหรับตนเองคิดว่าคงไม่มีโอกาสแล้ว ตอนนี้ทำไงานที่สมคมบกพร่องทางจิต ทำให้เราเหมือนได้ฝึกและฟื้นฟูไปด้วย เงินที่ได้มาเลี้ยงดูตัวเอง ก้าวมาเป็นอาสาสมัครเพื่อคนำพิการ เพราะโอกาสถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวเองได้มาอยู่ตรงจุดนี้ ที่ทำงานหากเรามีปัญหาก็มีคุณหมอคอยให้คำปรึกษา หลังจากนี้อยากจะก้าวออกไปสื่อสารในสังคมให้เปลี่ยนความกลัวเป็นความเข้าใจคนพิการทางจิต

อัษฎากร ขันตี กลุ่มความพิการทางออทิสติก ปัจจุบันทำงานอยู่มูลนิธิออทิสติกไทย กำลังจะครบ 3 ปี กล่าวว่า ตนเองได้รับโอกาสจากมูลนิธิ ที่นอกจากจ้างงาน ยังเปิดโลกทัศน์ในสังคมผ่านการพาไปร่วมกิจกรรม งานประชุมวิชาการ และเสวนาต่าง ๆ ในส่วนของหน้าเรื่องงานไอทีค่อย ๆ เรียนรู้ เขียนโปรแกรม กราฟฟิกดีไซน์ ส่วนอุปสรรคคือเรื่องทัศนคติของคนในสังคมที่ไม่ค่อยเข้าใจคนออทิสติกเนื่องจากบางคนมองไม่ออก รวมถึงนายจ้างเป็นห่วงว่าถ้าไม่มีครอบครัวจะอยู่จะทำงานได้อย่างไร จึงเสนอว่า สังคมควรรู้จักอัตลักษณ์คนออทิสติกมากขึ้น, การเข้าสังคม, ได้มิตรภาพในการอยู่ร่วมกันเพื่อให้การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เพราะคนพิการทุกคนพัฒนาได้

เช่นเดียวกับ กัณฑ์อเนก  ศรีบางพลีน้อย กลุ่ม LD บกพร่องทางการเรียนรู้ ได้ทำงานที่มูลนิธิออทอสติกไทย ในส่วนของสำนักงาน งานเอกสาร โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ความสามารถพิเศษ โดยในการทำงานหากทำไม่เสร็จทางหัวหน้าก็สามารถที่จะให้มาทำต่อพรุ่งนี้ได้ จึงเสนอว่าการจ้างงานควรทำให้เกิดความยืดหยุ่นภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน

ตัวอย่าง Hackathon เพื่อคนพิการทางการมองเห็น

ในงานแถลงข่าวยังสาธิตนวัตกรรมการทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน (performance lecture ) โดยวิทยากร กฤษณ์ สงวนปิยพันธ์ หรือ ครูหลุยส์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องยาก แต่ทำได้ ผ่านการแสดงเต้นโดยคนพิการทางการมองเห็น โดยผู้ชมจะต้องหลับตาเพื่อสวมบทบาทคนตาบอดเพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วม เกิดอุปสรรค จนเกิดการตระหนักร่วม ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานในการสื่อสารเพื่อตรงกับความต้องการของคนพิการทุกประเภท เอามาพัฒนาในเชิงนโยบายต่อไป เช่น โรงละครสำหรับผู้มีปัญหาทางการมองเห็น

“ที่ผ่านมาเรามองว่าเมืองไม่มีปัญหา เนื่องจากคนพิการไม่เคยบอกว่ามันมีปัญหาเพราะกลัวสังคมจะมองว่าเราเรื่องเยอะ ซึ่งสิ่งที่พิการจริง ๆ แล้วคือสิ่งแวดล้อม โครงสร้างทางกายภาพ ดังนั้น ถ้าสัมผัสด้วยใจเราก็สามารถออกแบบนโยบายที่รองรับเพื่อคนทุกกลุ่มได้จริง ๆ”

กฤษณ์ สงวนปิยพันธ์

9 ภาคีเครือข่ายยังร่วมแสดงความเห็นต่องาน Hack HUG HUG ที่จะเกิดขึ้น โดยมองว่า การทำงานคิดค้นนวัตกรรมเพื่อคนพิการในครั้งนี้ หลักสำคัญคือการจ้างงานที่นายจ้างยังติดกับดักในมิติเศรษฐกิจ เช่น เป็นการสร้างภาระ กระทบต่อยอดการผลิต แต่ความจริงจำเป็นต้องดูในมิติสังคม ความเป็นมนุษย์ด้วย ซึ่งในงานวิชาการหลายครั้งที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการ นายจ้าง ส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วมมาก่อน งานในครั้งนี้จึงชวนเจ้าของโจทย์คือนายจ้างมาร่วมระดมสมองกัน เพื่อนำทั้ง 2 มิติ มาสัมผัสกันให้ใกล้ขึ้น เขย่าสังคมให้สะเทือนว่ามีเรื่องนี้ในสังคมไทย โดยเชื่อว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงคนที่เกี่ยวข้องมองเห็นศักยภาพของคนพิการจนได้ทำงานมากขึ้น ดูแลตนเองได้มากขึ้นด้วยความเข้าใจ

ทั้งนี้โครงการ HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 -30 ก.ย. 66 ที่ไทยพีบีเอส พร้อมเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมระดมความคิด ผลิตไอเดีย สร้างโอกาสอาชีพใหม่ ๆ สำหรับคนพิการไทย สามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/q7zG6sJrSrFVQS8x5 ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 ก.ย. 66 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วม 8 ก.ย.66 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 080-0183-830

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active