‘Hackathon เพื่อคนพิการ’ ผุดไอเดียสร้างสรรค์ ตอบโจทย์มีงานทำ

กิจกรรม HACK HUG HUG 8 ทีม โชว์ของ เสนอดึง 147 มหาวิทยาลัย พัฒนาทักษะคนพิการ สอดคล้องตลาดแรงงาน เสนอตั้ง “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ” จับคู่สถานประกอบการ เพิ่มอัตราการจ้างงานคนพิการ สร้างความยั่งยืนกว่าจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ

วันนี้ (30 ก.ย.66) ในกิจกรรม HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ไทยพีบีเอส, สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะเป็นพื้นที่เรียนรู้ของทุกคน ผ่านการผลิตเนื้อหา และการทำละครเพื่อคนพิการ แต่ไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอภาพการอยู่ร่วมกันเท่านั้น ต้องใช้ศักยภาพของสื่อจับมือกับเครือข่าย ทำให้การจ้างงานคนพิการเกิดขึ้นจริง ให้เครือข่ายได้พบกัน สร้างแรงบันดาลใจพลังบวกให้คนที่จ้าง และคนรับจ้าง เปลี่ยนทัศนคติว่าคนพิการไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหนึ่งในพลังสังคมที่ขับเคลื่ยนไปด้วยกัน

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

เรอโน เมแยร์ ผู้แทน UNDP ระบุถึง ประเด็นการจ้างงาน เป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายการจ้างงานคนพิการที่ดีอยู่แล้ว แต่ที่ขาดคือการนำไปใช้ แต่อยากให้มองว่าคนพิการมีความสามารถเช่นเดียวกัน 

ปัจจุบันไทยมีคนพิการราว ๆ 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ในจำนวนนี้อยู่ในวัยทำงาน กว่า 8 แสนคน แต่มีคนพิการเพียงแค่ 3 แสน หรือราว ๆ 36% เท่านั้นที่มีงานทำ แปลว่ายังมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีงานทำ

แม้ว่าจะมีกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานก็ตาม ได้แก่ มาตรา 33 ระบุว่า ให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐ ที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานและมีการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ในอัตรา ร้อยละ 1

มาตรา 34 หากไม่มีการจ้างก็ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) และทางเลือกที่ 3 คือ มาตรา 35 สถานประกอบการให้สัมปทาน คือการจัดสถานที่ การจ้างเหมาช่วง หรือสนับสนุนประโยชน์อื่นใด เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการมีงานทำ

แต่ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า ในปี 2566 มีจำนวนสถานประกอบการที่ต้องจ้างงานคนพิการ 14,456 แห่ง จ้างงานหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของ มาตรา 33 / 34 /35 แล้ว 56,800 คน แต่ยังมีที่ต้องจ้างเพิ่มอีก 11,068 คน

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนพิการมีศักยภาพ และความสามารถ เพียงแค่ได้รับโอกาส และการสนับสนุน จึงเกิดรูปแบบนวัตกรรมการจ้างงานเชิงสังคม ร่วมสร้างโอกาสการมีงานทำของคนพิการมากกว่า 50,000 โอกาสงาน มีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 400 แห่ง 3,000 หน่วยงานทั่วประเทศ ผ่านศูนย์บริการต้นแบบ ตัวกลางจัดหางานประสานเครือข่ายคนพิการ หน่วยงานระดับชุมชน เชื่อมโยงภาครัฐ และสถานประกอบการ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงาน

จะทำอย่างไรให้คนพิการที่ยังถูกมองข้ามอีกนับหมื่นคน “มีงานทำ” นี่คือประเด็นปัญหา และนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายทั้ง 9 องค์กร ที่มุ่งหวังจะหาทางออกให้คนพิการได้รับการจ้างงาน

กิจกรรม HACK HUG HUG เติมใจให้งาน มีผู้ร่วมแฮกทั้ง 8 ทีม มานำเสนอนโยบายที่จะนำไปสู่โอกาสให้เกิดการจ้างงานคนพิการภายใต้ 4 โจทย์ ได้แก่

  • เพิ่มอัตราการจ้างงานในภาคเอกชน (มาตรา 33 พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550)
  • ส่งเสริมการมีงานทำโดยภาครัฐ (มาตรา 35 พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550)
  • ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ คนพิการ (มาตรา 34 พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550)
  • สร้างทางเลือก – อาชีพอิสระแก่คนพิการ

ทั้งนี้แต่ละไอเดียจากทั้ง 8 ทีม ที่ถูกนำเสนอในกิจกรรม Pitching Day ประกอบด้วย

1. มหาลัยตามสั่ง 

เสนอให้ภาคเอกชนจับมือกับมหาวิทยาลัย พัฒนาทักษะคนพิการ และสร้างภาคีจ้างงานอย่างมั่นคง ด้วยการวางแผนก่อน ระหว่าง และหลังจ้างงาน ทำข้อมูลตลาดแรงงานต้องการอะไรเพิ่มเติม สถานศึกษาพัฒนาทักษะคนพิการเพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน 

2. เพิ่มอัตราจ้างงานภาคเอกชนตามมาตรา 33 

เสนอให้มหาวิทยาลัยทั้ง 147 แห่งรับคนพิการเข้าเรียนผ่านระบบ DSS (กิจกรรมนำร่องนักศึกษาพิการฝึกงานบริการ) จากนั้นจับคู่คนพิการกับสถานประกอบการ 

3. สร้างความเข้าใจ ไปจ้างคนพิการ 

จากจุดอ่อนที่แม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็ยังไม่รู้ว่าคนพิการทำงานอะไรได้บ้าง จึงไม่จ้าง ดังนั้นควรสร้างความเข้าใจให้แพร่หลาย และจ้างงานผ่าน มาตรา 35 เพราะการจ้างงานคือต้นทุนชีวิตไม่อดตาย 

4. การส่งเสริมสถานประกอบการ เปลี่ยนการจ้างงานคนพิการ จาก ม.34 เป็น ม.35 

เสนอจัดตั้ง “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ” เพื่อการจ้างงานคนพิการในทุกจังหวัด เสนอปรับแก้กฎหมายมาตรา 35 เปลี่ยนจากการดำเนินงานของสถานประกอบการ เป็นการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดทุกจังหวัด โดยการสำรวจตรวจสอบ กลั่นกรอง แล้วเสนอโดยปรับระเบียบกองทุนให้สามารถจัดสรรงบประมาณเป็นการจ้างเหมาบริการ หรือเป็นทุนประกอบอาชีพก็จะทำให้คนพิการไม่ต้องรอว่าจะเข้าไปถึงสถานประกอบการได้อย่างไร 

5. ลดการจ่ายเงินเข้า กองทุนคนพิการ 

การจ้างงานคนพิการตาม มาตรา 35 ยุ่งยาก เอกสารเยอะ ทำให้ไม่มีใครอยากจ้าง ต้องสร้างระบบ E-Service ทำให้สถานประกอบการ จ้างงานคนพิการสะดวกมากขึ้น  

6. เคาะประตูทอดสะพาน เพิ่มการจ้างงานคนพิการ 4,000 อัตรา 

ทำยังไงให้นายจ้างเปลี่ยนจากการส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการตาม มาตรา 34 มาเป็นการจ้างงานที่มากขึ้น เพื่อความยั่งยืนกว่า เสนอเป็น นโยบาย Quick Win ใน 6 เดือน

7. หากันจนเจอ พาเธอยั่งยืน 

ดีกว่าหรือไม่ หากรู้ว่าคนพิการมีความสามารถอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ เสนอว่าควรมี คณะทำงานศูนย์บริการคนพิการ และจัดหางานจังหวัด ทำงานร่วมกันพัฒนาทักษะ พร้อมจับคู่คนพิการกับสถานประกอบการ

8. การพัฒนาโอกาสอาชีพอิสระ

ปัจจุบันคนพิการที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 2.2 ล้านคนทั่วประเทศ 10% ได้รับการศึกษาจบชั้นมัธยม อีก 40% เป็นคนพิการวัยแรงงาน การจ้างงานคนพิการไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในระบบ หรือในสถานประกอบการเสมอไป เป็นคนพิการที่รับงานฟรีแลนก็ได้ เสนอให้บ่มเพาะความรู้เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้พิการ มีพื้นที่ให้แสดงศักยภาพ เชื่อมโยงกับแนวร่วมทำให้เกิดการจ้างงานทางเลือก

สำหรับนวัตกรรมสร้างงานคนพิการ จากทั้ง 8 ทีม จะถูกผลักดันนำไปใช้จริง ในระยะเวลา 2 เดือน และสรุปผลการดำเนินงาน ในวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ซึ่งตรงกับ “วันคนพิการสากล” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active