นักวิชาการด้านอุบัติเหตุทางถนน คาดคนไทยอาจเสี่ยงเสียชีวิตต่อวันสูงสุด คล้ายปี 2562 ที่ตัวเลขการเสียชีวิตเกือบ 100 คน หลังรัฐบาลเห็นชอบเลื่อนวันหยุดชดเชย อาจทำประชาชนเหนื่อยล้าต้องเร่งกลับภูมิลำเนาหลังฉลองเสร็จ แนะรัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือจัดการความเสี่ยง
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า การขยับวันหยุดถอยกลับมาหยุดก่อนวันปีใหม่ซึ่งเป็นวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ให้เป็นวันหยุด และให้วันที่ 2 มกราคม 2567 เป็นวันเปิดทำงาน จะเสี่ยงตายจากอุบัติเหตุสูงคล้ายในบทเรียนในอดีต เพราะว่าประชาชนเพิ่ง ฉลองเคาท์ดาวน์ปีใหม่ ตั้งแต่ 31 มกราคม 2566 และ วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่หลายคนยังสังสรรค์ไปไม่นาน โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องกลับภูมิลำเนายังต่างจังหวัด เมื่อฉลองเสร็จ ระหว่างการขับรถทางไกลอาจเสี่ยงเหนื่อยล้า หลับใน จากการพักผ่อนน้อยอาจเสี่ยงเสียชีวิตจากอุัติเหตุทางถนนสูงที่สุด ในวันที่ 1 มการาคม 2567 นี้เพราะในอดีตมีบทเรียนสูญเสีย รวมทั้ง กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ที่ปรับขยายเวลาให้สถานบริการปิดตี 4 และ คืนวันที่ 31 ธ.ค. สามารถเปิดขายได้ถึง 6 โมงเช้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยเร่งให้วันที่ 1 ม.ค. 2567 ยิ่งอันตรายมากขึ้นอีก
“สิ่งที่จะตามมาคือเราเจอเหตุการณ์นี้ในปี 2556 กับปี 2562 พอ ฉลองเคาท์ดาวน์ปีใหม่เสร็จ คืนวันที่ 31 ต้องเดินทางเข้า กรุงเทพ เพราะเปิดทำงานวันที่ 2 คนส่วนใหญ่จะเดินทางวันที่ 1 มกราคม ในปี 2562 การตาย 7 วันอันตรายกลับเป็นวันที่ 1 คนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพ ยอดการตาย 92 คน โจทย์ที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อม ต้องตั้งรับให้ดีเพราะคนจะกลับมาทำงานเร็ว เราจะลดความเสี่ยงการมาอยู่บนถนนนาน ๆ อีกส่วนหนึ่งเขาเหนื่อยล้าจากการฉลองอดนอน แต่เขาต้องมาอยู่บนถนน รัฐบาลอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือจัดการความเสี่ยงนี้ต่อเนื่อง”
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ยังกล่าวอีกว่า จากสถิติพบว่าในแต่ละวันจะมีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนชั่วโมงละ 2 คน วันละ 48 คนที่สูญเสีย หรือปีละกว่า 17,000 คนต่อปี และยังพบว่ากว่าครึ่งเสียชีวิตในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากที่พัก นั่นหมายถึงการเฝ้าระวังในชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่เป็นช่วงฉลอง อาจมีแนวโน้มเสียชีวิตมากขึ้น
“ในเมื่อคนไทยเสียชีวิตทุกวันจากอุบัติเหตุ และมักจะเห็นมาตรการของรัฐที่เข้มข้นเพียง 2 เทศกาลคือปีใหม่ และส่งกรานต์ แต่ความเป็นจริงแล้วประเทศไทยมีเทศกาลที่นำไปสู่การฉลอง หรือการเดินทางแบบเสี่ยงทุก ๆ เดือน ตรงนี้จึงเป็นจุดที่น่าจับตาเพราะหากรัฐบาลจะก้าวข้ามเพื่อมุ่งเป้าลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องเข้มงวดต่อเนื่องเพราะคนไทยมักเฉลิมฉลองบอยครั้ง นั่นก็เป็นความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณี เมาแล้วขับ หรือ ไม่เคารพกฎหมาย และกฎจราจร”
สำหรับปฏิทินความเสี่ยงอุบัติเหตุของไทยที่มันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต และมิติทางวัฒนธรรม
- เดือนมกราคม ช่วงเทศกาลปีใหม่ ช่วง 7 วันอันตราย
- เดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ช่วงกลางคืนสถานบันเทิงก็มักจะเป็นผู้ผลิตคนเมา
- เดือนมีนาคม ผลสำรวจมักเป็นช่วงทัศนศึกษามาก เด็ก ๆ ก็จะมีการสัญจร รถทัศนาจรมาก อาจเสี่ยงอุบัติเหตุใหญ่
- เดือนเมษายน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เข้าสู่ช่วง 7 วันอันตรายอีกครั้ง เพราะพอเล่นน้ำแล้ว ก็มักจะต่อด้วยการสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์
- เดือนพฤษภาคม เปิดเทอม รถรับส่งนักเรียน รถจักรยานยนต์เยอะ จะมีความเสี่ยง เดือนมิถุนายน เทศกาลอาจจะยังน้อย
- เดือนกรกฎาคม เป็นช่วงเข้าพรรษา แห่เทียนพรรษา ในพื้นที่ต่างจังหวัด มักดื่มเอลกอฮอร์ทิ้งทวนก่อนเข้าพรรษา งานบวชก็มีการดื่มเอลกอฮอล์
- เดือนสิงหาคม เป็นช่วงแข่งขันทักษะวิชาการของนักเรียนมีการเดินทางไปแข่งขันต่างจังหวัด นั่งรถท้ายกะบะ
- เดือนกันยายน งานเลี้ยงเกษียณอายุราชการ มีการฉลอง ดื่มแอลกอฮอล์
- เดือนกันยายน งานเลี้ยงเกษียณอายุราชการ มีการฉลอง ดื่มแอลกอฮอล์
- เดือนตุลาคม ก็จะเป็นช่วง ดูงาน ทัศนศึกษา และเทศกาลฮาโลวีน สถานบรรเทิงจัดงานฉลอง
- เดือนพฤศจิกายน เทศกาลลอยกระทง ที่จะมีการเดินทาง ไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ จากนั้นอาจมีนัดหมายดื่มสังสรรค์กัน ก็ถือเป็น อีกความเสี่ยง
- เดือนธันวาคม ช่วงแห่งการเฉลิมฉลองเลย ทั้งคริสมาสต์ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีเข้าสู่ปีใหม่
ขณะที่ข้อมูลจาก ศูนย์อุบัติเหตุ Thai RSC พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 13,666 คน (ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2566) แม้แนวโน้มจะลดลงหลังช่วงโควิด-19 แต่นักวิชาการด้านอุบัติเหตุก็มีความน่ากังวลไม่น้อย หากไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ขณะเดียวกันการเริ่มต้นเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวหากเพิ่มมาตรการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจะส่งผลให้ไทยได้ประโยชน์
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คำแถลงนโยบายรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ถ้าจะเดินตามแผน อีก 5 ปีข้างหน้า 2570 จะลดคนเสียชีวิต 12 คนต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิตไม่เกิน 8,474 คนยังดูเป็นโจทย์ท้าทาย เพราะปัจจุบันเรายังเสียชีวิต 24-25 ต่อแสนประชากรอยู่เลย แต่ถ้าทำได้ ตามเป้าหมาย ก็จะช่วยชีวิตคนไทย ใน 4 ปีของรัฐบาลนี้ได้ กว่า 5,348 คน เฉลี่ยตามแผน ลดลง ปีละ 1,337 คน ตัวเลขนี้ น่าสนใจทีเดียว