ชี้ ‘จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ’ การพูดคุยสันติสุขต้องมีส่วนร่วม และคนนอกพื้นที่เข้าใจอัตลักษณ์และขอบเขต ‘ชุมชนปาตานี’ ย้ำ การเมืองนำการทหารอยู่ที่การปฏิบัติ และต้องการฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้นำอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงวิสัยทัศน์งานเสวนาออนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) จัดโดยสำนักข่าว The Motive เป็นวันที่สองเพื่อให้เกิดการปรึกษาหารือในที่สาธารณะ เขาเชื่อว่าสิ่งที่คนในพื้นที่ปรารถนาไม่ต่างจากคนทั่วโลก คือปรารถนาจะเห็นชุมชนพื้นที่ของตนมีความสันติสุข เจริญเติบโต สงบสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทว่า ท่ามกลางเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคยืดเยื้อยาวนาน จะไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาได้อย่างไร
อภิสิทธิ์ ย้อนประสบการณ์ช่วงปี 2551 – 2554 เล่าว่าในช่วงเป็นนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ลักษณะตั้งรับ คนในและนอกพื้นที่ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ ได้รับรู้ถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งพื้นที่ยังถูกดำเนินการต่าง ๆ โดยฝ่ายความมั่นคงคือทหารและตำรวจเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังจากการพยายามผ่าน พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 เพื่อรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นมาอีกครั้ง แต่สุดท้าย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กลับมามีบทบาทมากกว่า และทำให้ ศอ.บต. ต้องอยู่ภายใต้ กอ.รมน. ไม่นับว่าพื้นที่ความขัดแย้งอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ คือ พ.รก.ฉุกเฉินฯ 2548
อภิสิทธิ์ยืนยันว่า นโยบายหลักที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ คือ ‘การเมืองต้องนำการทหาร’ และพยายามหมุนการแก้ไขปัญหากลับมาที่การพัฒนา เพื่อครอบคลุมการสร้างความมั่นคงในทุกมิติอย่างแท้จริง หลังจากจัดตั้ง ศอ.บต. ขึ้นมาโดยมีกฎหมายรองรับ และถ่ายโอนอำนาจหลายประการออกจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ยังได้เริ่มต้นนโยบายที่มีความสำคัญมากขณะนั้น คือการยกเลิกการประกาศสภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ที่ประกาศมายาวนานนับแต่มีกฎหมายฉบับนี้ คือสามารถยกเลิกได้หนึ่งอำเภอ (อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี) โดยมีความตั้งใจว่า จะต้องมีการประเมินเพื่อทยอยยกเลิกกฎหมายพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้หลังการรัฐประหาร 2549
สำหรับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ซึ่งมีความเสียเปรียบและด้อยโอกาสในการพัฒนามาอย่างยาวนาน จึงมีนโยบายค่อนข้างละเอียดว่าทุกหมู่บ้านทุกพื้นที่ พี่น้องประชาชนจะต้องมีศักยภาพ มีรายได้ระดับที่เทียบเคียงกับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย พยายามให้กองทัพ หน่วยงานความมั่นคงมีบทบาทการพัฒนามากขึ้นด้วย เช่น การผลักดันโครงการสร้างถนนหลักเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งขณะนั้นผู้รับเหมาก่อสร้างทิ้งงาน จนขอให้กองทัพมาช่วยดำเนินการจนแล้วเสร็จ เป็นต้น
การทำงานในลักษณะตั้งรับเหล่านี้ ยังรวมถึงความพยายามสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานความมั่นคงว่า การใช้อำนาจต่าง ๆ ต้องถูกตรวจสอบได้ ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ มีเหตุการณ์ผู้นำศาสนาเสียชีวิตขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ (กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกซ้อมทรมาน) จำเป็นต้องไต่สวนการตายและมีการส่งขึ้นฟ้องศาลเป็นคดีตัวอย่าง เพื่อให้เป็นแนวทางชัดเจนถึงการอยู่ร่วมกัน และการใช้อำนาจทางความมั่นคงในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยต้องเคารพเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกฝ่าย และมีความรับผิดชอบด้วย
“ปัญหาที่พี่น้องชายแดนใต้ประสบอยู่ ไม่ต่างจากปัญหาความขัดแย้งที่พื้นที่อื่นประสบอยู่ในโลก คือไม่สามารถจบลงได้ หากไม่มีการเสวนา พูดคุย เจรจา สิ่งที่ผมพยายามทำเพิ่มเติม คือการพูดคุยสันติภาพในทางลับ ซึ่งกระบวนการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ มาหยุดลงในช่วงรัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะที่มอบหมายให้ดำเนินการพูดคุยในส่วนของรัฐบาลนั้น นำโดยทีมนักวิชาการและภาคประชาสังคม ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะจะเป็นการลดช่องว่างและสร้างความเข้าใจกับผู้เห็นต่างจากรัฐได้ดีกว่า”
อภิสิทธิ์ เล่าอีกว่า เมื่อมีการพูดคุยสันติภาพทางลับ พร้อมกันนั้นเริ่มต้นทดลองยุติความรุนแรงใน 2-3 อำเภอ ซึ่งต้องทำความเข้าใจและได้รับความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคงว่าในช่วงที่จะมีการยุติความรุนแรงจะต้องไม่มีการปฏิบัติการเชิงรุกใด ๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งหมดอายุของรัฐบาล นี่คือหัวใจที่เป็นกระบวนการสำคัญต้องเดินหน้าไปสู่อนาคต ทั้งนี้ ไม่ปฏิเสธบรรดาความคิดโครงการต่าง ๆ ที่จะมาช่วยเสริมแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมที่เข้ามาสอดรับกับความต้องการของคนในพื้นที่ แต่กระบวนการการเมืองนำการทหารเป็นหัวใจหลักที่เป็นพื้นฐาน
ต่อมา รัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเดินหน้าเจรจาและติดต่อผ่านรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาช่วยเรื่องนี้ด้วย และเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ระหว่างตัวแทนขบวนการและตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยการพูดคุยครั้งนี้ดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และมาถึงจุดสำคัญ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน
“เพราะว่า ขณะนี้คณะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขกำลังพูดคุยในเนื้อหาสาระที่เป็นคำตอบระยะยาว1 หมายถึงการมีรูปแบบการเมืองการปกครองที่สอดรับกับอัตลักษณ์ ‘ชุมชนคนปาตานี’ และคนในพื้นที่ตามความต้องการ โดยกรอบการพูดคุยยังอยู่ภายใต้ระบบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ รวมถึงการคิดถึงความหลากหลายที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ ทั้งชุมชนคนพุทธและมุสลิม”
อภิสิทธิ์ ให้เหตุผลการพูดคุยสันติภาพเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะหลังพ้นการเจรจาจากช่วงที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็แทบไม่ได้ยินเรื่องของเนื้อหาสาระที่เดินหน้าไปสู่คำตอบที่จะเป็นความยั่งยืนในอนาคต จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทราบว่ามีการเริ่มต้น ‘หลักการทั่วไป’ ของคู่เจรจาทั้งสองฝ่าย นั่นถือเป็นนิมิตหมายที่ดี กระบวนการลักษณะนี้ต้องมีการประนีประนอมระดับหนึ่ง และหัวใจของการประนีประนอมนั้น มี 2 ส่วนต้องยึดถือและผลักดันให้ไปสู่ความก้าวหน้า
“หนึ่ง ปลายทางของคำตอบร่วมกันยังเป็น ‘รัฐเดี่ยว’ หรืออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความว่า รูปแบบการเมืองการปกครองนี้เป็นเสื้อตัวเดียวที่ใส่เหมือนกันทุกที่ แต่การเป็น ‘รัฐเดี่ยว’ นี้สามารถที่จะมีความพิเศษเพื่อตอบโจทย์ของชุมชนนั้น ๆ อีกด้านหนึ่ง ‘หลักการทั่วไป’ ของคู่เจรจาที่กำลังดำเนินอยู่นี้ต้องเคารพเรื่องพื้นเพอัตลักษณ์ ‘ชุมชนปาตานี’ ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าการออกแบบการแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อออกจากความขัดแย้งต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันสานต่อ”
อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์อีกว่า ลำพังการพูดว่าจะมีการกระจายอำนาจมากขึ้น หรือพูดว่าจะมีการปกครองรูปแบบพิเศษ หรือรูปแบบการปกครองตนเอง เป็นเพียงการซ่อนรายละเอียดหลายอย่าง ซึ่งไม่ง่ายในการหาข้อยุติลงด้วยกันได้ ภายใต้หลักการทั่วไปที่จะตกลงกันนี้ อยากเห็นการลงรายละเอียด ตั้งแต่คำว่า ‘ชุมชนปาตานี’ นั้น ขอบเขตของพื้นที่หมายถึงอะไร อย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน การใช้คำพูดรวม ๆ อาทิ สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือสามจังหวัด 4 อำเภอบ้าง หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนเข้าใจไม่ตรงกัน แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ด้วย
เมื่อมีรายละเอียดเชิงพื้นที่แล้ว รูปแบบการปกครองก็ต้องเป็นประชาธิปไตย หมายถึงการมีตัวแทน การมีสภาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดรูปแบบเดียวกับการเมืองใหญ่ หรือรูปแบบ อบต. อปท. อบจ. หรือเทศบาล สามารถออกแบบได้ เหมือนเขาพยายามผลักดันสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก เพราะต้องการรูปแบบพิเศษในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชายแดน การส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนบริเวณชายแดน เป็นต้น
การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยนี้สำคัญ อภิสิทธิ์ เล่าว่า ในอดีต ศอ.บต. พยายามให้มีสภาที่ปรึกษจากคนทุกฝ่าย รวมทั้งคนที่เห็นต่างจากรัฐ ก็สามารถเข้าไปแสดงความคิดได้ด้วย ฉะนั้น เรื่องยากที่สุด ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นกระบวนการของการปกครองท้องถิ่นพิเศษ ทว่า ต้องพูดให้ชัดเจนว่าการเป็นชุมชนพิเศษนี้จะต้องมีอำนาจพิเศษอะไรบ้างที่รูปแบบของการเมืองการปกครองสามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้ เช่น อำนาจในการออกกฎหมายบางเรื่องที่ใช้เฉพาะในพื้นที่ ซึ่งการปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ไม่สามารถออกแบบกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเฉพาะของท้องที่ได้
ตัวอย่างรูปธรรมเช่น พี่น้องประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้มีภาษาถิ่น คือ ภาษามลายูปาตานี เคยมีข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าภาษามลายูสามารถยกระดับเป็นภาษาที่ประชาชนใช้สื่อสารกับหน่วยงานราชการ หรือติดป้ายสถานที่ราชการ ทำเป็นกฏของพื้นที่ได้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ตนอยากเห็น เพื่อยืนยันการเคารพอัตลักษณ์ชุมชนพื้นที่นี้ อย่างไรเสีย ยังต้องมีการกำหนดขอบเขตอำนาจ เพื่อเห็นปลายทางความสงบในพื้นและดำรงความหลากหลาย ย่อมต้องมีการคุ้มครองชุมชนพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยด้วย ไม่ให้มีปัญหาการใช้ชีวิตตามวิถีของเขาด้วย
รวมทั้งบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่น รัฐสภากำลังผ่านร่างกฎหมายที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ทั้งเรื่องสุรา กัญชา หรือการสมรสเท่าเทียม แน่นอน สำหรับพี่น้องมุสลิมคิดว่าบางเรื่องขัดกับหลักศาสนา คำถามคือ เมื่อออกแบบรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษแล้ว จะสามารถสร้างข้อยกเว้นได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ด้านหนึ่ง พื่อให้พี่น้องมุสลิมจำนวนหนึ่งในพื้นที่สบายใจไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดสิ่งใดที่ขัดกับหลักความเชื่อ รบกวนชุมชนที่ปรารถนาจะเห็น ส่วนคนที่มีความหลากหลายในพื้น ทั้งชุมชนพุทธ และชุมชน LGBTQ+ ที่ให้ความสำคัญกับการสมรสเท่าเทียมก็ไม่ควรที่จะถูกจำกัดสิทธิมากไปกว่าคนอื่น ๆ แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ภายใต้กติกาที่ถูกออกแบบพิเศษ นี่คือตัวอย่างสำคัญจำเป็นต้องมาพูดคุยกัน
อภิสิทธิ์ มีความเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่า ข้อยุติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ยึดกระบวนการพูดคุยและการมีส่วนร่วมเป็นหลัก ประการแรก ประสบการณ์ของหลายพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แม้จะมีกระบวนการพูดคุยเจรจา หรือแม้จะได้ข้อยุติไปแล้ว จะมีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมรับกระบวนการเหล่านี้และอยากใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการ ดังนั้น ต้องทำให้ความหวังของพี่น้องเป็นพลังในการสนับสนุนไปสู่ความสำเร็จ และช่วยกันลดแนวคิดการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาจากทุกฝ่าย
ประการที่สอง ตัวแทนที่อยู่บนโต๊ะพูดคุย ต้องมีความมั่นใจว่าข้อตกลงร่วมเป็นความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง นั่นหมายความว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการพูดคุยที่ลงรายละเอียดในเนื้อหาสาระแล้ว จะต้องมีการประชาพิจารณ์ และไม่มั่นใจว่า ถึงจุดหนึ่งต้องมีการทำประชามติด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดการยอมรับและความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายสามารถช่วยรักษาให้ข้อตกลงร่วมกันนี้เกิดความยั่งยืนได้
อีกด้านหนึ่งคือ แม้ตัวแทนการพูดคุยของฝ่ายรัฐจะเป็นใครก็ตาม ข้อตกลงการพูดคุยสุดท้ายต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา หมายความว่า การมีส่วนร่วมของฝ่ายพูดคุยต้องสร้างความมั่นใจและสร้างความเข้าใจกับสังคมวงกว้างด้วยว่าสิ่งที่พยายามผลักดันความต้องการของคนในพื้นที่จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. ส.ว
“การทำงานที่ทุกคนมักมองข้าม เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการผ่านความเห็นชอบนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนนอกพื้นที่ด้วย ผมพูดเสมอว่า ถ้าคนนอกพื้นที่ หรือสื่อนอกพื้นที่นำเสนอข่าวสารต่าง ๆ โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนมุมมองสอดรับกับสิ่งที่กระบวนการเหล่านี้สร้างขึ้นมา โอกาสความสำเร็จจะน้อย มีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของคนนอกพื้นที่เข้ามาสนับสนุนกระบวนการสันติภาพด้วย ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกองคาพยพจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมทั้งต้องอาศัยเจตนารมณ์และความเป็นผู้นำทางการเมืองสูง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมาสนับสนุนกระบวนการเหล่านี้อย่างแท้จริง สร้างทั้งความหวัง ความไว้เนื้อเชื่อใจกับพี่น้องประชาชน นี่คือหนทางที่เป็นคำตอบอย่างยั่งยืน นี่คือหัวใจเพื่อตอบโจทย์ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนาน”
เขาแสดงความเห็นอีกว่า ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พยายามพูดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่า เวลาเป็นทั้งอดีตและอนาคต อดีตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ขณะเดียวกัน อนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่เราร่วมสร้างกันได้ ตนเคยมีโอกาสฟังนายโทนี่ แบร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ผู้ผลักดันข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือที่ยุติความรุนแรง การพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่าง รวมทั้งการขอนิรโทษกรรม การขอร้องให้หลายฝ่ายยอมรับอดีตและไม่พกติดมาเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต
“โทนี่ แบลร์บอกว่าหลายเรื่องไม่สามารถตอบคำถามกับคนที่เคยสูญเสียจากเหตุการณ์ในอดีต เขาจะยอมรับไม่ได้ว่ามีการประนีประนอม และเมื่อเขาถูกถามและพบกับครอบครัวที่ได้รับความสูญเสีย ก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่มีคำตอบ ถ้าจะมองในแง่ของความเป็นธรรม ความชอบธรรม คำตอบเดียวที่ให้ได้กับคนเหล่านั้นคือ การทำทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขอดีต แต่ทำเพื่อไม่ให้ลูกหลานได้เจอกับปัญหาเดียวกับอดีตที่เลวร้าย จึงอยากชวนคิดบนหลักการเหล่านี้”
อภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย เมื่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพมาถึงจุดที่คุยเรื่องข้อตกลงหลักการทั่วไปแล้ว การใช้ชีวตที่กำหนดอนาคตที่พึงปรารถนาสอดคล้องกับอัตลักษณ์วิถีชีวิตตนเอง เคารพความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ จะเป็นพื้นฐานให้อนาคตของคนในพื้นที่ชายแดนใต้รุ่งเรืองต่อไปได้ ช่วงที่อยู่ในภาคการเมือง มีโอกาสได้เยี่ยมพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งสงขลาและสตูล เห็นศักยภาพในพื้นที่มากมาย เชื่อว่าถ้ามีความสงบสุขเกิดขึ้น และมีรูปแบบการเมืองการปกครองในพื้นที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จะทำให้พื้นที่นี้แข็งแกร่งและเป็นพื้นฐานในการสร้างศักยภาพด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อนำไปสันติสุขในอนาคต
อภิสิทธิ์ ตอบคำถาม รูปธรรมของการชูนโนยบายการเมืองนำการทหารคืออะไร?
เขาตอบว่า เข้าใจพี่น้องประชาชนดี นโยบายการเมืองนำการทหารได้ยินกันมาทุกยุคทุกสมัย ยอมรับว่าการปฏิบัติจริงไม่มากเท่าใด ในช่วงปี 2547-2548 เกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงที่นำไปสู่ความรุนแรง และความสะเทือนใจหลายเหตุการณ์ ในช่วงรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ ก็ชูนโยบายการเมืองนำการทหาร ซึ่งได้ทำให้เกิดการพูดคุยกับฝ่ายเห็นต่างกับรัฐทางลับ มีความพยายามรื้อฟื้น ศอ.บต. อีกครั้ง แต่ช่วงเวลานั้น, ไม่สามารถหยุดยั้งอำนาจของกฎหมายความมั่นคงภายในเหนือกฎหมาย ศอ.บต. ได้ แปลว่าการเมืองยังไม่มีโอกาสนำการทหารได้อย่างเต็มที่ ถัดมา อดีตนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐบาลของตน เมื่อถูกถามถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมักจะตอบว่า ‘เป็นเรื่องของทหาร’ ลักษณะเช่นนี้ก็ไม่เรียกว่า การเมืองนำการทหารเช่นกัน
ต่อมา รัฐบาลของตน พยายามพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคง ซึ่งคนเหล่านี้กำลังมีอำนาจในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ขอให้กองทัพมีบทบาทในการพัฒนาได้หรือไม่ จึงได้มีการทำถนน หรือถ้ากองทัพใช้อำนาจแล้วมีปัญหาขึ้นมาต้องตรวจสอบได้ ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม และการกลับมาดำเนินนโยบายการพูดคุยสันติภาพใหม่อีกครั้ง ก็ต้องบอกกับฝ่ายความมั่นคง ช่วงที่ตกลงให้ยุติความรุนแรง, กองทัพก็ต้องลดปฏิบัติการความมั่นคงเชิงรุก การเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นต้องหยุด โดยเฉพาะใน 3 อำเภอที่มีการทดลอง นี้คือตัวอย่างนโยบายการเมืองนำการทหาร
หรือกรณีรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำการพูดคุยสันติภาพขึ้นมาบนโต๊ะอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ประเด็นยังไม่ชัดเจนนักว่าทิศทางการพูดคุยไปในทางทิศทางใด เข้าใจว่าต้องมีเวลาในการสร้างกติกา สร้างความไว้เนื้อเชื้อใจในการพูดคุย การตรวจสอบว่ากลุ่มคนที่เข้ามาพูดคุยนั้น ครอบคลุมทุกกลุ่มหรือไม่ เหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลา ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เห็นว่ายังใช้เวลากับกระบวนเดิมอย่างยาวนาน จึงพูดว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือการได้เริ่มพูดถึง ‘ข้อตกลงหลักการทั่วไป’ ที่สองฝ่ายจะเห็นด้วยอย่างเป็นฉันทามติ ถ้าอยากให้การเมืองนำการทหารชัดเจนขึ้น อยากให้การพูดคุยในฝ่ายรัฐบาลมีตัวแทนของพลเรือนและภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การเมืองนำการทหารอยู่ที่การปฏิบัติ และต้องการฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้นำอย่างแท้จริง สามารถกำหนดนโยบายได้ เช่นเดียวกัน การพูดแค่ว่ารูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษ หรือการปกครองตนเอง หรือ Autonomy มากขึ้น เป็นหลักการที่ไม่ผิด แต่ต้องมาทำงานหนักร่วมกันว่า ‘ความพิเศษ’ คืออะไร? บางยุค, บางพรรคการเมืองมีการหาเสียงเรื่องเขตปกครองพิเศษเป็นนโยบายทางการเมือง คือไม่ควรแค่เรียกชื่อว่าพิเศษ ทว่า ต้องบอกได้มีขอบเขตอย่างไร เพื่อตอบโจทย์คนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อยในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่เห็นความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการตอบโจทย์ความขัดแย้งที่มีอย่างยาวนาน
ผู้ดำเนินรายการถามอีกว่า (1) ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาเรื่องเยาวชนนอกระบบจำนวนแสนกว่าคน อ่านหนังสือไทยไม่ออก และไม่สามารถเขียนภาษามลายูยาวีได้ ขาดโอกาสเรื่องอาชีพ ถ้าได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในนามพรรคใดก็ตามจะแก้ไขอย่างไร (2) จะมีการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างไร
อภิสิทธิ์ตอบว่า อาจต้องเริ่มจากปัญหาการศึกษา ออกแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีคนในพื้นที่ จากการเรียนศาสนาแล้วจะไปต่อสายอาชีพได้อย่างไร ที่ผ่านมา มีการตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) เพื่อนำเงินมาขับเคลื่อนด้านการศึกษา โดยภาคประชาสังคมจะช่วยแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นการศึกษาได้ดีกว่าหน่วยงานราชการ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทุกรัฐบาลพยายามทำนิคมอุตสาหกรรม ทว่า ด้วยเงื่อนไขความไม่สงบ ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจ เขาก็ไม่มาลงทุน แต่ถ้ามีความสงบแล้ว เรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจะกลายเป็นศักยภาพของพื้นที่โดยปริยาย สามารถสร้างอาชีพและรายได้แก่คนในพื้นที่
สุดท้าย อภิสิทธิ์ กล่าวชมผู้จัดงาน “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” ว่าเป็นการพยายามสานเสวนาลักษณะหนึ่งและเป็นกำลังใจให้
1เมื่อวันที่ 31 มีนาคม - 1 เมษายน 2565 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย 'พลเอก วัลลภ รักเสนาะ' กับคณะผู้แทน BRN นำโดย 'อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน' ได้มีการพบปะหารือพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี 'ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์' เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญ 2 คนจากอังกฤษและนอร์เวย์ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ทั้งนี้ ผลการพูดคุยฯ มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นหมุดหมายที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งรุนแรงที่ยืดเยื้อ ประการหนึ่งคือ คู่เจรจาได้รับรองเอกสาร “หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะพูดคุยกันในรายละเอียด โดยกำหนดให้มีกระบวนการพูดคุยฯ ที่มีเกียรติและเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อบรรลุทางออกทางการเมืองซึ่งเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามแนวคิดชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ติดตามการสรุปเนื้อหาจากเวที “ภาพอนาคตปาตานี ภาพอนาคตชายแดนใต้” กับ The Active ได้ทุกวัน ผ่าน #SCENARIOPATANI https://theactive.net/topic/scenario-patani/