สธ.เลิกรายงาน ATK รายวัน

ห่วงหยุดยาวโควิด BA.5 ระบาดเพิ่ม หากเสียชีวิตเกิน 40 คนต่อวันต้องยกระดับการแจ้งเตือน  ด้าน “กรมวิทย์ฯ” ประสานโรงพยาบาลเก็บตัวอย่างกลุ่มอาการหนักหรือเสียชีวิต ส่งตรวจสายพันธุ์มากขึ้น ยังไม่สรุป BA.4/BA.5 รุนแรงกว่า B.2 หรือไม่  

วันนี้ (12 ก.ค. 2565) กระทรวงสาธารณสุข รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่โดยไม่รายงานยอด ATK รายวันเป็นวันแรก แต่ยังรายงานยอด ATK เป็นสัปดาห์ โดยวันที่ 3-9 ก.ค. 2565 พบผู้เข้าข่ายติดตรวจจากการตรวจ ATK 149,537  คน หรือเฉลี่ยวันละ 21,362 คน โดยรายงานทางการ วันนี้ เสียชีวิต 23 คน ตรวจ RT-PCR ติดเชื้อ 1,679 คน (คำจำกัดความ : จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รักษาใน รพ.) ไม่มีรายงาน ATK รายวัน

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทย ช่วง 14 วันที่ผ่านมา พบการติดเชื้อและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจนในบางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมาก คือ กทม. ปริมณฑลจังหวัดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ 

  • ปอดอักเสบเพิ่มจาก 638 คน เป็น 786 คน
  • ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นจาก 290 คน เป็น 349 คน 

แต่ทั้งหมดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ประกอบกับมีการคืนเตียงผู้ป่วยโควิดไปใช้รักษาโรคอื่น ทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเกิน 25% ต้องปรับการบริหารจัดการเตียง ได้แก่ 

  • นนทบุรี 42.6% 
  • กทม. 38.2% 
  • ชัยภูมิ 30.5% 
  • ปทุมธานี 29.3% 
  • สมุทรปราการ 29.8% 
  • นครสวรรค์ 26%

“การติดเชื้อจะเกิดขึ้นใน กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ก่อน แล้วค่อยกระจายไปจังหวัดเล็ก จากเมืองกระจายไปชนบท ดังนั้น ช่วงวันหยุดยาวอาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดแพร่เชื้อไปต่างจังหวัดเร็วขึ้น”

นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวอีกว่า หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว จะมีผู้ที่ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอาจจะกระทบกับเตียงหรือยาที่ใช้ในการรักษาได้โดยขณะนี้ยังคงระดับการเตือนภัยระดับ 2 แต่จะพิจารณายกระดับการแจ้งเตือนปรับเพิ่มมาตรการ หากพบสัญญาณ ดังนี้ 

  1. ผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกิน 4 พันรายต่อวัน อาจต้องให้ใส่หน้ากาก 100% หรือเว้นระยะห่างมากขึ้น 
  2. ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 รายต่อวัน อาจต้องปรับมาตรการการรักษาและให้ยาเร็วขึ้น 
  3. ผู้เสียชีวิตเกิน 40 คนต่อวัน 

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าจากการเฝ้าระวังช่วงวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2565 จำนวน 570 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 รวมกันเกือบครึ่งหนึ่ง 280 คนโดยยังพบสัดส่วนในผู้เดินทางจากต่างประเทศสูงทรงตัว 77-78% ราว 3 สัปดาห์ติดต่อกัน 

ส่วนในประเทศไทย พื้นที่ กทม. พบ BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์จาก 12% เป็น 50%  68% และ 72% ส่วนภูมิภาคค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น17% และ 34% ตามลำดับ ถือว่าแพร่เร็วและจะเริ่มแซง BA.2 กับ BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมาก 

“เรื่องความรุนแรงนั้น ยังสรุปไม่ได้ชัดเจน แต่ข้อมูลพบว่าเจอสัดส่วนของBA.4/BA.5 ในผู้ป่วยอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ทั้งในกทม.และภูมิภาค แต่ตัวอย่างยังน้อยเกินไป”

นพ.ศุภกิจ กล่าว
  • พื้นที่ กทม. เก็บตัวอย่าง ผู้ที่อาการไม่รุนแรง 164 คน เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 72% ขณะที่ผู้ที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตมี 13 คน เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 77% 
  • พื้นที่ภูมิภาค เก็บตัวอย่าง ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 309 คนเจอ BA.4/BA.5 รวม 33% ผู้ที่อาการรุนแรง 45 คนเจอ BA.4/BA.5 สัดส่วน 46% 

ข้อสังเกตเบื้องต้นดังกล่าว ชี้ BA.4 / BA.5 น่าจะมีความรุนแรงกว่า BA.2 แต่ข้อมูลยังไม่มากพอ เช่นเดียวกับในต่างประเทศทั้งองค์การอนามัยโลกหรืออังกฤษก็ยังไม่สรุปเรื่องนี้ชัดเจน 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของญี่ปุ่น พบว่า BA.4/BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันและแพร่กระจายเร็วในเซลล์ปอดของมนุษย์มากกว่า BA.2 ผลการทดลองในหนู พบว่าBA.4/BA.5 ทำให้หนูทดลองป่วยหนักกว่า BA.2   

จากสถานการณ์การกลายพันธุ์ ขณะนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงประสานให้โรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ส่งตัวอย่างมาตรวจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาการหนักหรือเสียชีวิต รวมถึงข้อมูลของผู้ป่วยด้วย เช่น ประวัติการรับวัคซีน โรคประจำตัวรักษามานานเท่าไร เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS