กทม.จัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ ไม่ได้ เพราะยังไม่ผ่าน อย.

ขณะที่ “รมว.สธ.” ติดโควิด-19 แพทย์จ่ายโมลนูพิราเวียร์ให้แล้ว แม้ไม่ผ่าน อย. ด้านประชาชนแห่ซื้อ “โมลนูพิราเวียร์” แพทย์เตือนอย่าหาทำ เสี่ยงหลายด้าน ชี้ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงยาในระบบที่ปลอดภัย ก็จะนำไปสู่การหายานอกระบบกันเอง ซึ่งไม่ปลอดภัย

วานนี้ 10 ก.ค. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ระบาดว่าได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมสต็อกยา โดยขณะนี้มียาตัวใหม่ คือ โมลนูพิราเวียร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกับ สธ. ว่ายาดังกล่าวให้ผลดี แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“ปัจจุบัน กทม. จะต้องมีการคาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์ผู้ป่วย และขอยาจากสธ. อย่างไรก็ดี คาดว่ายาโมลนูพิราเวียร์ น่าจะผ่าน อย. ในเดือนนี้ ซึ่งเมื่อผ่านแล้ว กทม. ก็จะสามารถจัดซื้อยาเองเพื่อสต็อกยาไว้ และราคาก็ไม่ได้แพงมาก”​ 

ชัชชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งติดโควิด จากการไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แพทย์ก็จ่ายยาตัวเดียวกันคือ โมนูพิราเวียร์ให้ทั้งที่ยังไม่ผ่าน อย. 

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน เพื่อใช้ในการรักษาโควิด ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง มีแผนจัดหายา โมลนูพิราเวียร์ จำนวน 20 ล้านแคปซูล

ก่อนหน้านี้ไทยได้มีการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ จากบริษัท เอ็มเอสดีประเทศไทย จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา หรือ 2 ล้านเม็ด และมีการส่งมอบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 

กระแสหาซื้อโมลนูพิราเวียร์ทานเอง

ขณะเดียวกัน กระแสการหาซื้อยารักษาอาการป่วยโรคโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์มารับประทานเอง โดยระยะหลังมีข่าวบุคคลมีชื่อเสียงหลายคน เวลาติดเชื้อโควิดได้ยาโมลนูพิราเวียร์ ทำให้ยาตัวนี้เป็นกระแสและเป็นที่สนใจของประชาชนไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่มีกระแสทั่วโลก โดยยาโมลนูพิราเวียร์ ตัวต้นตำรับจริงต้องสั่งโดยแพทย์ในโรงพยาบาล บางประเทศคนทั่วไปอาจเข้าถึงยายากทำให้ช่วงนี้มีตัวยา copy ในตลาดมืด ทั้ง website online, facebook, line ขายกันนอกระบบอย่างไม่มีการควบคุม ประชาชนหลายคนก็แอบซื้อยาเก็บสต๊อกไว้

เพจเฟซบุ๊ก Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ  ออกมาเตือนว่าการใช้ยาโดยไม่มีแพทย์สั่งอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ทั้งการใช้ยาที่มากเกินไปจนมีผลต่อตับและไต อาจเกิดการดื้อยา หรือทำให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่

ทั้งนี้มองว่าการที่ประชาชนซื้อยา copy เองจากตลาดมืดทางออนไลน์ เช่น ในfacebook, line มีความเสี่ยงหลายอย่าง ไม่ปลอดภัย ไม่ควรซื้อรับประทานเองเพราะ การที่รับประทานยาโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์อาจจะนำไปสู่การใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น ยาตัวนี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และต้องคุมกำเนิดระหว่างใช้ และการใช้ยาโดยไม่มีความจำเป็น อาจนำไปสู่การดื้อยา หรือทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่

และเนื่องจากเราไม่สามารถรับรองความน่าเชื่อถือของผู้ขายได้ อาจจะเป็นยาปลอม ยาตัวนี้ต้องกิน 40 เม็ดต่อคอร์สการรักษา ถือว่าปริมาณมาก ถ้าเป็นยาปลอมมีโอกาสตับวาย ไตวายได้ 

ถึงแม้ทางบริษัท Merck จะอนุญาต voluntary license ให้หลายบริษัทในประเทศที่มีรายได้น้อยผลิตยาตัวสามัญได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในต่างประเทศพบว่ามีบริษัทอื่นๆ แอบผลิตยาตัว copy ด้วย โดยไม่ได้รับการควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นยาที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ ในเมืองนอกมีคำกล่าวว่า 

“เมื่อประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาในระบบที่ปลอดภัย ก็จะนำไปสู่การหายานอกระบบกันเอง ซึ่งอาจจะไม่ปลอดภัยเพราะไม่มีการควบคุม”

โดยสรุปคนทั่วไปไม่ควรซื้อยาตัว copy จากออนไลน์รับประทานเอง เพราะความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ถ้ามีอาการเจ็บป่วย ควรไปโรงพยาบาลและรักษาอย่างถูกต้องดีกว่า

กทม.ห่วงสถานการณ์ติดเชื้อในโรงเรียน 

ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อในโรงเรียนว่า จำนวนนักเรียนที่ติดเชื้อขณะนี้ ยังอยู่ในปริมาณที่ให้ผู้บริหารและคุณครู จัดการการเรียนการสอนที่โรงเรียน (onsite) ได้ ในส่วนของการติดเชื้อของเด็กเล็ก และเด็กชั้นประถมศึกษา ยังมีจำนวนน้อยอยู่

จากข้อมูลโรงเรียนในกทม. กว่า 400 แห่ง พบเด็กติดเชื้อประมาณ 1% โดยคลัสเตอร์ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ที่จะมีกิจกรรมหลังเลิกเรียน อย่างไรก็ดี จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้ให้ทุกโรงเรียนเตรียมพร้อมมาตรการ ทั้งการคัดกรองเด็กตั้งแต่หน้าโรงเรียน และให้ผู้ปกครองสามารถรับนักเรียนกลับได้ทันทีหากพบว่ามีการติดเชื้อ นอกจากนี้ ทุกโรงเรียนได้เตรียมพร้อมจัดการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งชุดการบ้าน และแบบฝึกหัด

ส่วนกรณีที่โรงเรียนมีคลัสเตอร์กลุ่มเล็กเกิดขึ้น ผู้บริหารโรงเรียนสามารถงดการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น และให้สลับกันเรียน หรือหากพบคลัสเตอร์ใหญ่อาจพิจารณาจัดสอนออนไลน์ได้ ขณะเดียวกัน สามารถสั่งปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดได้ 3 วัน สำหรับกิจกรรมกลุ่มใหญ่ๆ ได้ให้โรงเรียนงดไปก่อนถ้าเป็นกิจกรรมกลุ่มเล็ก ที่จัดในที่โล่งยังสามารถทำได้

ทวิดา กล่าวอีกว่า สำหรับจำนวนยา และเตียงในโรงพยาบาล กทม. ขณะนี้ยังมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยได้ ถึงแม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก โดยได้มีการคำนวณศักยภาพของการครองเตียง และจำนวนยาไปข้างหน้า 3 และ 5 วันต่อจากนี้ว่าจะต้องเบิกยาจำนวนเท่าไหร่แล้ว 

ส่วนอัตราการครองเตียง ขณะนี้โรงพยาบาลในกทม. สามารถรองรับได้ประมาณ 40% ไม่เกิน 50% เริ่มตึงตัวในโรงพยาบาลที่มีประชาชนใช้บริการมาก อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าสถานการณ์ในอีก 3-5 วันนี้ ยังรองรับได้อยู่ ในขณะที่โรงพยาบาลบริเวณรอบนอกกทม. ยังสามารถรองรับได้อยู่ ดังนั้นหากมีการส่งตัวผู้ป่วยต่อจากศูนย์บริการสาธารณสุข อาจจะมีการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลไกลกว่าบ้านของประชาชนเล็กน้อย 

สั่งทุกเขตพร้อมฟื้นศูนย์พักคอยโควิด 

ในขณะนี้น่าเป็นห่วง กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนท้อง และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งเมื่อติดแล้วอาการจะมีมากกว่าคนปกติ รวมถึงสถานการณ์ขณะนี้หากเด็กหรือคนทำงานติดเชื้อมักจะเอาเชื้อไปให้ผู้สูงอายุที่บ้าน ทำให้อัตราการครองเตียงมากขึ้น กทม. จึงได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ ดังนี้

1. พิจารณาการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน (Community Isolation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแออัด ซึ่งได้มอบรองผู้ว่าฯทวิดา เตรียมพร้อมในแต่ละเขตแล้ว โดยก่อนหน้านี้ใช้พื้นที่โรงเรียนแต่ขณะนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้วคงต้องหาพื้นที่ใหม่ต่อไป

2. การเตรียมพร้อมเรื่องยา ซึ่งได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย. ดังนั้นกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถจัดซื้อได้ ต้องประสานผ่านทางสธ. เท่านั้น หากขึ้นทะเบียนแล้วกทม. จะจัดซื้อเอง

3. อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งได้ประสานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือศบค. ใหญ่ อย่างใกล้ชิด การเตรียมพร้อมศูนย์เอราวัณซึ่งขณะนี้กทม.บริหารจัดการ 100 % เนื่องจากส่วนกลางได้ถอนตัวออกแล้ว

4. เตือนประชาชนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด โดยประชาชนกลุ่ม608 ในพื้นที่กทม. ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้วกว่า 50 % ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของประเทศ วัคซีนไม่ช่วยเรื่องการติดเชื้อแต่จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงการใส่หน้ากากทั้งใน – นอกอาคาร ก็จะช่วยเรื่องการติดเชื้อได้เช่นกัน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS