ศบค. นัดถกแผนถอย 8 ก.ค. นี้ หลังยอดป่วยหนักส่อพุ่ง

เล็งทบทวนมาตรการที่ประกาศออกไปแล้ว ขอให้ประชาชนติดตาม ด้าน “รมช.สธ.” ยันอัตราครองเตียงยังคงเพียงพอรองรับ ย้ำหลังโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น ยังต้องป้องกันตนเอง ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

วันนี้ (30 มิ.ย.2565)  แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันนี้กังวลผู้ป่วยหนักจากปอดอักเสบมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจตัวเลขสูงขึ้นไปอยู่ที่ 684 คนสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ส่วนผู้เสียชีวิตจาก เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เส้นกราฟยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก

สำหรับกรณีที่คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการเปิดสถานบันเทิง ผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายการสวมหน้ากากที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามประกาศของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะในการประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกันได้ เช่นเดียวกับองค์กร หน่วยงาน สถานประกอบการ หากมีการทบทวนหรือต้องการกำหนดให้พนักงาน หรือผู้เข้ารับการบริการ คงการสวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ก็สามารถทำได้ สามารถปรับมาตรการให้เข้มงวดขึ้นได้ ตามสถานการณ์ในพื้นที่

“การประชุม ของ ศบค.ชุดใหญ่จะมีขึ้นในวันที่ 8 ก.ค.นี้ คงจะทบทวนมาตรการที่ได้ประกาศออกไปแล้ว จะมีการปรับขึ้นลงอย่างไร ขอให้พี่น้องประชาชนติดตาม แต่ขอเน้นย้ำว่าจำเป็นจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ด้าน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ โควิด-19 เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ เป็นไปตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 1 ก.ค. 2565 จะถอดหน้ากากกันทั้งหมด ยังต้องป้องกันตนเองเป็นสำคัญ เนื่องจากเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ย่อมมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีนัยสำคัญว่าทำให้มีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น ทำให้อัตราการครองเตียงยังคงเพียงพอรองรับ โดยทั้งหมดยังเป็นตามการคาดการณ์ ดังนั้น ขอให้ประชาชนยังต้องป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้  

รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ต้องพยายามทำความเข้าใจให้กลุ่มคนที่ยังไม่รับวัคซีน หรือไม่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหันมารับวัคซีนให้ได้ตามเกณฑ์

สำหรับการออกประกาศหรือมาตรการต่างๆ อยู่ที่การหารือและพิจารณาของศบค. ซึ่งการออกประกาศให้ไปรักษาตามสิทธิก็ต้องผ่านการพิจารณาจาก ศบค. เพราะช่วงโควิดที่ผ่านมาเราบริหารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการหารือในศบค.เพื่อออกกฎหมายว่า ถ้าเป็นโควิดจะต้องรักษาแบบไหนอย่างไร และเบิกค่ารักษาอย่างไร 

“เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ต้องกลับมาหารือใน ศบค.เพื่อออกประกาศปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างก่อนหน้านี้มีการปรับให้ผู้ป่วยอาการสีเขียวไปรักษาตามสิทธิ ซึ่งก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น” 

รมช.สธ.กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS