ดีเดย์ 1 ต.ค. ยุบ ศบค.-ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังประกาศใช้มากว่า 2 ปี

คืนอำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ผ่าน พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558  พร้อมปลดโควิด-19 จาก “โรคติดต่ออันตราย” เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ลำดับที่ 58 เช่นเดียวกับวัณโรค ไข้มาลาเลีย

วันนี้ ​(19 ส.ค. 2565) การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 11/2565 โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข เสนอกรอบนโยบาย และแนวปฏิบัติ ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-pandemic

ภายใต้หลักการว่า เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ จะมีการยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีการประกาศบังคับใช้ควบคุมโรคติดต่อมาแล้ว 19 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2562 และยุบ-เปลี่ยนแปลงอำนาจของคณะกรรมการ ศบค.

พร้อมกำหนดแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ตามห้วงเวลาของทุกหน่วยงานต่างๆ  ดังนี้

เดือนสิงหาคม

  • คงสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • ศบค. เป็นกลไกการจัดการ

เดือนกันยายน

  • คงสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
  • ศบค. + คกก.โรคติดต่อระดับชาติ เป็นกลไกการจัดการ

เดือนตุลาคม

  • ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น)
  • EOC สธ. + คกก.โรคติดต่อระดับชาติ/จังหวัด/กทม. เป็นกลไกการบริหารจัดการ
  • ไม่มีการกำหนดเรื่องพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน และการขยายการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

  • ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น)
  • คกก.โรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นกลไกการจัดการ

ด้าน ศ. นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค.ว่า ​พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ​ยกเลิกแน่นอนในเดือนตุลาคม ​ว่าสถานการณ์ขณะนี้เริ่มโอเคแล้ว คนไข้ในระบบวันละ 2,000 คน คนไข้ ATK วันละ 30,000 คน คาดการณ์ว่าคนไข้นอกระบบประมาณ 1-2 เท่า

“ถ้าดูภาพรวมคนไข้ติดเชื้อประมาณ 6-7 หมื่นคน และอาจจะอยู่อย่างนี้สักเดือนหนึ่ง เพราะฉะนั้น 1 ต.ค.น่าจะเริ่มลง จึงคาดการณ์ว่า คนไข้จะต่ำ วันละพัน และตายวันละ 10 คน ก็จะเป็นโรคเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่น”

ศ.นพ.อุดม กล่าว

เมื่อโควิดกลายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

จากการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 8 ส.ค. 2565 ซึ่งเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขในการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังโดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป 

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงโรคติดต่อ 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันว่า 

โรคติดต่ออันตราย

พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดนิยามของโรคติดต่ออันตรายไว้ว่า เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วรมต.สาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเป็นผู้ประกาศรายชื่อโรคติดต่ออันตรายในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้ประกาศไปแล้วทั้งหมด 14 โรค ได้แก่

  1. กาฬโรค (Plague)
  2. ไข้ทรพิษ (Smallpox)
  3. ไข้เหลือง (Yellow fever)
  4. โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome -SARS)
  5. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease-EVD)
  6. โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome -MERS)
  7. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)
  8. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Handravirus disease)
  9. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipahvirus disease)
  10. โรคไข้ลาสซา (Lassa fever)
  11. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean-Congo hemorrhagic fever)
  12. ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever)
  13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR -TB)
  14. โรคโควิด-19 (เพิ่งประกาศล่าสุดไปเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2563)

เมื่อมีการประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว รมต.สาธารณสุขมีอำนาจในการออกคำสั่งหรือประกาศต่าง ๆ เพื่อการเฝ้าระวัง ควบคุม รวมทั้งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยถ้าพบผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคนั้นจะต้องรายงานกรมควบคุมโรคทันทีภายในไม่เกิน 3 ชม. ต้องมีการแยกกักผู้ป่วย กักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงควบคุมผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำไว้สังเกต และติดตามผู้เดินทางจากเขตติดโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยได้เผชิญมาตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี

โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ได้แก่โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องการประกาศรายชื่อเป็นอำนาจของรมต.สาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้ประกาศไปแล้วทั้งหมด57 โรค ตัวอย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออกอหิวาตกโรค โรคเรื้อน ซิฟิสิส เป็นต้น ซึ่งโรคโควิด-19 จะถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 58 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

สำหรับโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หากพบผู้ป่วยที่สงสัยต้องรายงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่มีการกำหนดมาตรการกักแยกผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส ยกเว้นอธิบดีกรมควบคุมโรคจะประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดและออกคำสั่งหรือประกาศต่างๆเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคในอนาคต ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก

ดังนั้น จะเห็นว่าเมื่อโควิด-19 ถูกปรับให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังก็น่าจะมีการยกเลิกมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด อย่างไรก็ตามต้องระลึกไว้เสมอว่าโควิดยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่เชื่อว่าน่าจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่และรุนแรงได้ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลที่สำคัญที่สุด 2 ประการคือ

1. คนไทยส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโควิดทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ(10-20% ของประชากร) และการฉีดวัคซีน (80% ของประชากร) ซึ่งแม้ว่าอาจจะป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคตได้ไม่ดีนัก แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ทำให้แม้จะเกิดการระบาดขึ้นก็มักจะมีผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตไม่มากนัก แต่ปัญหาจะตกอยู่กับคนจำนวนหนึ่งที่จนถึงวันนี้ยังไม่ยอมฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว (20% ของประชากร) รวมทั้งที่ไม่ยอมไปฉีดเข็มกระตุ้นตามกำหนด (40% ของผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็ม) ด้วยเหตุผลต่างๆนานา ซึ่งเชื่อว่าด้วยมาตรการภาครัฐเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่น่าจะสามารถทำให้คนกลุ่มนี้ไปฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นได้มากนัก ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีผู้ที่ไม่ยอมไปฉีดวัคซีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 ก็ต้องยอมรับโดยปริยายว่าจะยังคงมีผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตจากโควิดอยู่ระดับหนึ่งเสมอ ไม่มีทางเป็นศูนย์ได้

2. ความมีวินัยของคนไทยส่วนใหญ่ในการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล โดยสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องพบปะใกล้ชิดกับผู้อื่น

“ไม่ว่าโควิดจะถูกจัดให้เป็นโรคติดต่อประเภทใด แต่ถ้าเรายึดหลักสำคัญทั้ง 2 ข้อดังกล่าว เชื่อว่าเราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัยตลอดไปแต่อย่าเข้าใจผิดว่าทำ 2 ข้อนี้แล้วรับรองไม่ติดเชื้อ ยังอาจจะติดเชื้อได้แต่มักไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง”

ศ.นพ.ขวัญชัย ระบุ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS