‘สุรินทร์’ เดินหน้า ยกโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

รอประเมินสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอ ศบค.นำร่องสู่โรคประจำถิ่นจังหวัดแรก ก่อนเป้า 1 ก.ค. 65 ขณะที่วัคซีนเข็ม 3 ทั่วไทยยังไม่ถึงเป้าแพทย์หวั่นยอดตายเพิ่ม แนะรัฐอย่าสื่อสารว่าโอมิครอนไม่รุนแรง ทำคนไม่ฉีดวัคซีน 

วันนี้ (21 เม.ย. 2565 ) นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่าสุรินทร์ยังต้องการเป็นจังหวัดนำร่องประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ภายใน 2 สัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ หากผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น จะเสนอให้ ศบค.พิจารณาต่อไป

ปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา จ.สุรินทร์ เพิ่งประกาศตัวเป็นจังหวัดนำร่องให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 เมษายน 2565 แต่ถูกเลื่อนออกไป จากมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ ได้ออกมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นจังหวัดนำโรคโควิด เข้าสู่โรคประจำถิ่น ประกอบด้วย

  • อัตราผู้ป่วยครองเตียงผู้ป่วยหนักไม่เกิน 3% ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
  • อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.5
  • ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า 70%
  • ประชาชนกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 80%
  • ทุกหมู่บ้านมีชุดตรวจ ATK ไม่น้อยกว่า 10% ของประชากรในหมู่บ้าน
  • หมู่บ้านมีการปลูกสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ 100%
  • อสม.ต่อประชากรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 10 ครัวเรือนต่อ 1 คน
  • ประชาชนสวมแมสก์ 100% และดำเนินการ D-M-H-T-T 100 %
  • สถานที่ต้องมีมาตรการ องค์กรและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด COVID Free Setting 100%

เกณฑ์พิจารณาโควิด เป็นโรคประจำถิ่น ของ สธ.

ขณะที่ แผนการเปลี่ยนจากการระบาด  (Pandemic) เป็นระยะเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic approach) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปของกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ได้ออกแนวทางการพิจารณาโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นไว้ดังนี้

  • ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน
  • อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.1
  • การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10
  • อัตราครองเตียงระดับ 2 ขึ้นไป ของผู้ป่วยอาการรุนแรง น้อยกว่าร้อยละ 25
  • กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง ได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80

วัคซีนเข็ม 3 ยังไม่ถึงเป้าหวั่นยอดตายเพิ่ม 

วันนี้ผู้เสียชีวิตยังสูง 129 คน ซึ่งยอดเกินร้อยคนมาสัปดาห์แล้ว ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วิเคราะห์ว่า ยอดการเสียชีวิตสะท้อนการติดเชื้อก่อนหน้านี้ 2-3 สัปดาห์ และแนวโน้มการระบาดยังคงเป็นลักษณะขาขึ้น เพราะจากจำนวนผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลมีมากขึ้น 

ปัจจัยหลักการเสียชีวิต เพราะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังต่ำมาก การฉีดวัคซีน 2 เข็มป้องกันโอมิครอนได้น้อย เมื่อระยะเวลาผ่านมานานทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงต้องมุ่งเน้นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้มาก ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะต่างประเทศเมื่อฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้มาก ก็ควบคุมการระบาดได้ดี และมองว่าการให้ข้อมูลว่าโอมิครอนอาการไม่รุนแรง ทำให้คนเกิดความเข้าใจผิด และมีผลต่อการตัดสินใจไปฉีดวัคซีน 

กรมควบคุมโรค รายงานประสิทธิผลวัคซีนในการป้องกันโอมิครอน จากการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า 

  • ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันการเสียชีวิต มากกว่า 85%
  • ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 34-68% ป้องกันเสียชีวิต 98-99%
  • ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 80-82% และยังไม่พบผู้เสียชีวิต

ขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนเข็มแรก 80% ของประชากร หรือประมาณ 56 ล้านคน เข็มที่สอง 72% ส่วนเข็มที่สามมีเพียง 36% ประมาณ 25 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 80% โดยขอให้คนที่เข้าเกณฑ์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรีบมารับวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อโอมิครอน เพราะจำนวนคนฉีดเข็ม 3 ยังไม่เป็นไปตามเป้า

สธ.เตรียมกระจายวัคซีน “โคโวแวกซ์” 2 แสนโดส

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบวัคซีนโควิด-19 โคโวแวกซ์ (COVOVAX) เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต จำนวน 2 แสนโดส ผลิตจากประเทศอินเดีย โดยได้รับบริจาคจากจตุภาคีด้านความมั่นคง หรือกลุ่มประเทศควอท คือ ออสเตรเลีย อินเดียญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 60 ล้านรูปี หรือกว่า 26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ในการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน

แม้ไทยยังไม่เคยใช้วัคซีนชนิดนี้ แต่ได้ขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ตามเอกสารขึ้นทะเบียนใช้ในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่วันนี้จะส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ขึ้นทะเบียนใช้ครอบคลุมได้ถึงอายุ 12 ปีด้วย โดยจะนำมาใช้เป็นเข็มแรกสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ 

วัคซีนเข้ามาถึงเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการตรวจรับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ระหว่างการตรวจรับรองรุ่นการผลิต เมื่อแล้วเสร็จจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ

ทั่วโลกมีการใช้วัคซีนโคโวแวกซ์ไม่มาก คณะกรรมการวิชาการจึงมีความเห็นให้ใช้ตามฉลาก คือ ฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ และแนะนำให้ฉีดในกลุ่มที่ยังไม่เคยรับวัคซีน หรือแพ้วัคซีนชนิดอื่น ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนการใช้เป็นเข็มกระตุ้นยังต้องรอการศึกษา

ศบค.ชุดเล็กถกปรับมาตรการเข้าประเทศ 

สำหรับการประชุม ศบค.วันที่ 22 เม.ย. นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอปรับการตรวจหาเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศไทย จาก RT-PCR เป็น ATK รวมทั้งลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจาก 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน เหลือกักตัว 5 วัน และสังเกตอาการ 5 วัน ทั้งนี้หาก ศบค.ชุดใหญ่ อนุมัติแล้วจะดำเนินการได้ทันที 1 พฤษภาคม 2565  

ขณะที่ พล.อ. สุพจน์ นิยมมาลา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. ยอมรับถึงการเตรียมปรับโซนพื้นที่สีในทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุม หรือ สีส้ม  โดยอ้างอิงจากเงื่อนไขตัวเลขผู้ติดเชื้อ หลายจังหวัดสามารถควบคุมได้ ร่วมถึงการปรับตัวของสถานประกอบการและประชาชน ที่อยู่กับเชื้อโรคโควิด รวมถึงการปรับเงื่อนไขการเรียนแบบออนไซต์ แต่โรงเรียนต้องมีมาตรการรองรับได้อย่างปลอดภัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS