นับถอยหลัง 3 วัน โควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น

นักระบาดฯ แนะเตรียมแผนถอย หากยอดป่วยหนักเพิ่ม 10 เท่า ขณะที่ “อนุทิน” ฉีดวัคซีน 6 เข็มยังติดเชื้อ สังคมกังขาจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ให้รัฐมนตรี The Active กาง 4 คอร์สยารักษาโควิด-19 

นับจากวันนี้ (28 ก.ค. 2565) เหลือเพียง 3 วันโรคโควิด-19 จะเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่วันที่ 1 ก.ค. 2565 กลายเป็นโรคประจำถิ่น นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าจะเป็นไปตามแผน ซึ่งประเด็นสำคัญคือการระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ 

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จะอยู่ที่ 1,761 คน แต่สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยอาการหนักปอดอักเสบมากถึง 638 คน และมีผู้เสียชีวิต 13 คนเกิน 0.1% ยังไม่เข้าตามเกณฑ์ของโรคประจำถิ่น นั่นหมายความว่า สถานการณ์จริงอาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่าที่รายงานถึง 10 เท่าตามการคาดการณ์ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัยซึ่งบอกว่าเดือน ก.ค. กำลังเข้าสู่การระบาดขาขึ้นอีกระลอก 

ศ.นพ.วีระศักดิ์  จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยกับ The Active ว่าปฎิเสธไม่ได้ว่าการผ่อนคลายมาตรการทั้งการให้ใส่หน้ากากตามความสมัครใจ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดวงกว้าง แต่ทั้งหมดก็ต้องเป็นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน อีกปัจจัยหนึ่งคือการกลายพันธุ์ของไวรัส แต่เชื่อว่าไม่รุ่นแรงเท่าสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่วัคซีนเป็นเพียงการลดความรุนแรงของโรคเท่านั้น ไม่ป้องกันการติดเชื้อ 

“ในช่วงเวลานี้เราอยู่ในช่วงบุกฟื้นเศรษฐกิจ แต่หากพบผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 เท่า กระทบระบบสาธารณสุข แต่ผมเชื่อว่าไม่ไปถึงจุดนั้น แต่ก็อาจต้องเตรียมแผนถอยไว้ในระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน”

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว

สังคมกังขาจ่ายยา ‘โมลนูพิราเวียร์’ ให้ “อนุทิน” 

หนึ่งในผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังนำคณะผู้แทนไทยไปประชุมที่ปารีสแพทย์สั่งแยกตัว 1 สัปดาห์ ซึ่งได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วถึง 6 เข็ม ได้แก่ ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตราเซเนกาเข็ม 3-4 และไฟเซอร์ เข็ม 5-6 โดยฉีด เข็ม 6 เมื่อ13 มิ.ย. ที่ผ่านมา

โดย อนุทิน มีอาการระคายคอเล็กน้อย ตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อ ตรวจ RT-PCR ยืนยันแล้ว ตอนนี้ก็พักรักษาที่บ้านโดยมีอาการน้อยมากเป็นเพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งแพทย์มีดุลยพินิจให้ ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ 

การจ่ายยา “โมลนูพิราเวียร์” แก่นายอนุทินนำมาสู่คำถามว่าเป็นอภิสิทธิ์พิเศษหรือไม่ เพราะขณะที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจะได้รับการจ่ายยาตามอาการ 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า  อนุทิน มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือ โรคอ้วน เข้าข่ายเกณฑ์ในการให้ยาโมลนูพิราเวียร์ ตามดุลยพินิขของแพทย์ ยืนยัน ไม่มีสิทธิพิเศษ

อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุอีกว่า  เป็นห่วงสถานการณ์โควิด-19 ในกทม. หลังพบผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลราชวิถี เพิ่มขึ้น เฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักโดยทยอยส่งตัวอย่างเชื้อ ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่รักษาในโรงพยาบาลให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิเคราะห์ตรวจหาสายพันธุ์ต่อไป 

ทั้งนี้ เมื่อเดือน มี.ค. 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งแผนความต้องการให้องค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 20 ล้านแคปซูล สำรองไว้ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า จะพิจารณาใช้ยาโมลนูพิราเวียร์กับผู้ป่วยกลุ่ม 607 คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรครื้อรัง 7 โรคประจำตัวอย่างไรก็ตาม อาจมีการพิจารณาใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต หากมีจำนวนยาที่มากขึ้น 

ขณะที่จัดซื้อ ยาแพกซ์โลวิด กับ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 50,000 คอร์ส ส่งมอบก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 โดยผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์รับยาแพกซ์โลวิด จะคล้ายกับโมลนูพิราเวียร์  ซึ่งในแนวทางรักษาผู้ป่วยที่กรมการแพทย์ประกาศ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 จะจ่ายยาในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคร่วม และประวัติการฉีดวัคซีนไม่ครบ คือไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว 

เปิดค่ารักษาต่อคอร์ส 4 ยารักษาโควิด

The Active รวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบข้อมูลเทียบยารักษาโควิด 4 ตัว ใช้กับใคร-ราคาเท่าไหร่ และการใช้งานแตกต่างกันอย่างไร

  • ยาฟาวิพาราเวียร์

เป็นยาแบบทาน ปัจจุบันใช้ในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง รวมถึงกลุ่มเสี่ยง โดยปัจจุบันยังไม่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ช่วงไตรมาส 2-3 อาจพิจารณาให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ ส่วนค่ารักษาต่อคอสอยู่ที่ 800 บาท

  • ยาเรมเดสซิเวียร์

เป็นยาแบบฉีดทางหลอดเลือดดำ จึงมีจุดเด่นในการใช้ในผู้ป่วยที่ทานไม่ได้หรือมีปัญหาการดูดซึมยา รวมถึงใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยมีประสิทธิภาพลดระยะเวลาในการป่วยให้สั้นลง ค่ารักษาต่อคอสอยู่ที่ 1,512 บาท

  • ยาโมลนูพิราเวียร์

เป็นยาแบบทาน ใช้ในผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลาง เน้นใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงที่จะเกิดการป่วยรุนแรง โดยจะให้ยาภายใน 5 วันหลังเริ่มมีอาการ ขนาดการใช้ในผู้ใหญ่อยู่ที่ 800 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2 วัน (รวม 40 แคปซูลต่อคน) มีค่ารักษาต่อคอสอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาท

  • ยาแพกซ์โลวิด

เป็นยาแบบทาน ใช้ในผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลาง เน้นในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง (เข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต) ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหากให้ยาภายใน 5 วัน มีขนาดการใช้อยู่ที่ Nirmatrelvia 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดและRitonavir 100 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ผู้ป่วย 1 คน จะใช้ยา Nirmatrelvia 20 เม็ด และ Ritonavir 10 เม็ด มีค่ารักษาต่อคอสอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาท

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบราคายาแพกซ์โลวิดและยาโมลนูพิราเวียร์ พบว่า ราคายาต่อ 1 คอร์สของแพกซ์โลวิดมีราคาถูกกว่าโมลนูพิราเวียร์ โดยรัฐบาลสหรัฐซื้อยาแพกซ์โลวิดจากไฟเซอร์เฉลี่ยราคาคอร์สละ 529 ดอลลาร์ หรือราว 17,000 บาท ขณะที่ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คเฉลี่ยราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 23,000 บาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS