เปิดแผน “สธ.-กทม.” รับมือโควิด-19 ระบาดระลอกโรคประจำถิ่น

กทม. วอน สธ. สำรองยาเพิ่มจาก 7 วันเป็น 10 วัน เหตุคนไข้เยอะ ขอใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นหลักตามข้อบ่งชี้ ยืนยัน เดินหน้าจัดกิจกรรมตามมาตรการ ศบค. สร้างสมดุลเศรษฐกิจ 

“ขอให้ลดกิจกรรมที่มีผู้คนหนาแน่น เนื่องจากขณะนี้ กรุงเทพมหานครกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดติดเชื้อวันละกว่า 1,000 คน ทั้งที่ฉีดวัคซีนไปมากกว่าพื้นที่อื่นเกิน 100%“​ คือสิ่งที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการจะบอกกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำมาสู่การเชิญให้เข้าร่วมประชุมที่ สธ. ในวันที่ 18 ก.ค. 2565

แม้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จะไม่มาร่วมประชุมที่ สธ. ด้วยตนเอง เพราะไม่เห็นหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ และส่ง พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. มาร่วมประชุม แต่ก่อนหน้าวันประชุมหนึ่งวัน ชัชชาติ ลงพื้นที่โดยไม่นัดหมายไปยังโรงพยาบาลสิรินธร สังกัด กทม. รับฟังข้อเท็จจริงจากคนทำงานว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังสู้ไหว บุคลากรทางสาธารณสุขยืนยันแม้ระบาดเร็ว แต่ไม่ถึงขั้นปิดเมือง และกล่าวว่า “สถานการณ์นี้ยังไม่จบ เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป เศรษฐกิจไม่ไหวแล้ว คนจะอดตายได้” 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไลฟ์สดขณะลงพื้นที่โรงพยาบาลสิรินธร สังกัด กทม. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ก.ค. 2565

ดูเหมือนว่า กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร จะมองสถานการณ์โควิด-19 ที่แตกต่างกันไป ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่ากรุงเทพฯ ไม่เหมือนต่างจังหวัด ไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ มีระบบสาธารณสุขที่เป็นเอกเทศ ขึ้นอยู่กับการบริหารของ กทม. 

“กระทรวงสาธารณสุขเคยเข้าไปช่วยเหลือ แต่ก็ถูกขอให้ออกมา แต่เราก็ไม่ได้กังวลโกรธหรือไม่พอใจ เพราะสุขภาพของประชาชนสำคัญกว่า” 

อนุทิน ชาญวีรกูล

อนุทิน บอกอีกว่า แม้ไม่มีอำนาจดูแลในเรื่องนโยบาย จึงทำได้แค่ฝ่ายสนับสนุน แต่ กทม. ก็ยังต้องใช้ระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลและจัดหายาและเวชภัณฑ์ ถ้าเราเล่นการเมือง ไม่ส่งยาและเวชภัณฑ์ให้ ขีดเส้นแบ่งเป็นเอกเทศมันไม่ได้

อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ. ลงจากห้องทำงาน ยืนดูผู้บริหาร สธ. แถลงข่าวร่วมกับ กทม.

ย้อนไปช่วงแรกของการตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. ขึ้นมา ก็มีการตั้ง ศปก.กทม. อยู่ในโครงสร้างของ ศบค. เพื่อแก้ปัญหาการทำงานที่เป็นเอกเทศ โดยบูรณาการหลายกระทรวงร่วมกับกรุงเทพมหานครในการจัดการปัญหาโควิด-19 แต่ภายหลังจากเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นมา ศปก.กทม. ก็ยุบไปตามวาระ แล้วคืนพื้นที่ คืนอำนาจให้ กทม. กลับมาดูแลสถานการณ์โควิด-19 เหมือนเดิม จึงนำมาสู่การที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ศปค.สธ. ที่ดูแลระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ เชิญกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และวางแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์

กทม. ขอ สธ. สำรองยาให้ 10 วัน แต่ สธ. ให้ได้แค่ 7 วัน

การประชุมช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อสรุปว่า กทม. ขอสำรองยาเพิ่มจาก 7 วันเป็น 10 วัน ทั้งฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ แต่กระทรวงสาธารณสุขสำรองให้ได้แค่ 7 วัน โดย นพ.เกียรติภูมิ บอกว่า ยาจากต่างประเทศไม่มีเหลือเฟือ ต้องช่วยกันบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพราะยาเข้ามาเป็นชุด ๆ ไม่ได้เข้ามาทุกวัน ต้องรอการผลิต แต่จะมีการบริหารจัดการร่วมกัน ทั้งโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ต้องมีการใช้อย่างเหมาะสม ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ทางองค์การเภสัชกรรมผลิตได้ 2 ล้านเม็ดต่อวัน ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ จะมีการมอบให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเองในอนาคต 

ขณะที่ พญ.วันทนีย์ บอกว่าตอนนี้มีการปรับยาฟาวิพิราเวียร์ให้เด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี และจะให้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาหลักมากขึ้น โดยตอนนี้เราจะให้ยาตามข้อบ่งชี้ตามแนวทางกรมการแพทย์ ไม่ใช่ทุกคนจะได้ยา ทั้งนี้การให้ยาในส่วน กทม. ที่ผ่านมาจ่ายยาวันละ 1 แสนเม็ด

“เรามีคนไข้เยอะ เราต้องการสำรองยาได้มากกว่าเดิม หรือจะขอยืมกันได้ไหม” 

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ

ปัญหายาขาดแคลน สะท้อนระลอกนี้ระบาดหนัก 

ทุกครั้งที่มีการระบาดหนักเกือบจะถึงจุดพีคในแต่ละระลอก ปัญหายาขาดแคลนจะวนกลับมาอีกครั้ง โดยไม่ใช่เพียงปัญหาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั่วประเทศ ซึ่ง ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาเปิดเผยไลน์กลุ่มโรงพยาบาลร้อนฉ่า หยิบยืมฟาวิพิราเวียร์กันพัลวัน คนหนึ่งต้องใช้ฟาวิพิราเวียร์อย่างต่ำ 50 เม็ด หรือถ้าเป็นโมลนูพิราเวียร์ก็คนละอย่างต่ำ 40 เม็ด 

โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่ง เหลือฟาวิพิราเวียร์ 2,477 เม็ด ใช้ได้เพียง 49 คนแต่ต้องอยู่ให้ถึงอย่างน้อย 22 ก.ค. 2565 หรืออีก 5 วันยาจึงจะมา แปลว่าใช้ได้วันละไม่เกิน 10 คน ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดหนึ่งก็ได้จัดสรรโมลนูพิราเวียร์มาแก้ขัดช่วงฟาวิขาดแคลน ได้จัดสรรมาก่อนแห่งละ 120 เม็ด ซึ่งใช้ได้กับผู้ป่วย 3 คนเท่านั้น

“ที่องค์การเภสัชกรรมบอกว่ามีส่งตลอดไม่ขาดแคลนนั้น เป็นเพียงการแถลงแถไปเรื่อยหรือเปล่า ถ้าส่งโรงพยาบาลต่าง ๆ จริงก็เอาหลักฐานมาดูหน่อยนะ สังคมจะได้เชื่อมั่น” 

แพทย์ชนบท บอกอีกว่าสาเหตุที่ยาขาดแคลนเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ สธ. หลอกตัวเอง มีข้อสังเกตเหมือนกับว่า จะมีการเน้นควบคุมเลข ไม่เน้นควบคุมโรค ทุกครั้งที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

“ขอผู้ป่วยเข้าใจ แพทย์จำต้องจ่ายยาที่มีน้อยนิดให้กับคนที่จำเป็นที่สุดก่อนเท่านั้น”

ด้าน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเข้าถึงยารักษาโควิด-19 ว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกรายโดยกรณีมีอาการเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาตามอาการ หรือใช้ฟ้าทะลายโจรได้ ส่วนกรณีมีอาการที่ต้องได้รับยาต้านไวรัส ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ แพกซ์โลวิด รวมถึงแอนติบอดี LAAB ที่จะเข้ามาในสัปดาห์หน้า จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ตามแนวทางและข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ ซึ่งยาเหล่านี้ต้องสั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น การหาซื้อยารับประทานเองอาจได้รับยาปลอมและเป็นอันตรายได้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นที่ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งกรณียาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ โดยโรงพยาบาลเอกชนได้รับการสนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จากกระทรวงสาธารณสุขสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาให้บริการผู้ป่วยโควิด 19 เองเพิ่มเติมได้

เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวีย์มากขึ้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 (EOC) จึงเตรียมการให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดได้ด้วยเช่นกัน

ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำแผนดำเนินการและกรอบระยะเวลาในเรื่องนี้ของโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน โดยให้องค์การเภสัชกรรมร่วมจัดหายาเพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตอาจขยายให้ร้านขายยาสามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้ด้วย แต่ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ คือ เป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองขึ้นไป สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ขณะนี้มีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว 3 บริษัท

ตั้งศูนย์เอราวัณ เคลียร์ยอดเตียง กทม.​รายวัน

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนยาให้กับ กทม. เพื่อแจกจ่ายไปยังผู้ติดเชื้อและอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับยาตามแนวทางของกรมการแพทย์ สำหรับเตียงของ กทม. แม้ขณะนี้จะยังเพียงพอ แต่ต้องมีการบริการจัดการและร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ระบบส่งต่อไร้รอยต่อ โดยขณะนี้ กทม. มีศูนย์เอราวัณ เป็นผู้ประสานส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลัก ซึ่งขนาดนี้ขนย้ายผู้ป่วยกว่า 50 – 100 คน / วัน

ส่วนความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของพื้นที่ กทม. จากการสนับสนุนวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขทำให้ทุกจุดบริการพร้อมให้บริการ โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 100%  และวัคซีนเข็มกระตุ้นเกินกว่า 80% และจะขยายวันจัดบริการในวันเสาร์ และจัดบริการเชิงรุกถึงบ้านผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมให้มากขึ้น

ขณะที่การเตรียมพร้อมอย่าง รพ.สนาม หรือ Community Isolation นั้น ทาง กทม. พร้อมจะเปิด แต่ รพ.สนามยังมีอยู่ โดย CI  มีการเตรียมไว้ประมาณ 5 แห่ง  320 เตียง แต่ รพ.สนามยังเหลืออยู่ และคนกรุงเทพฯ ไม่นิยมพัก รพ.สนาม แต่โควิดระลอกนี้ส่วนใหญ่อาการไม่มาก เป็นกลุ่มสีเขียว  

“จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักการแพทย์ และกรมการแพทย์ โดยเราเน้นเตียงแดงเหลือง เช่น 80% ครองเตียง 2-3 วัน จะขยายวอร์ด ขยายเตียงบางแห่ง แต่รายละเอียดต้องมีการหารืออีกครั้ง” 

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า  อยากขอความร่วมมือประชาชน หากติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย และต้องการยาให้ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านตามสิทธิ์ ซึ่งสามารถติดต่อโดยตรง หรือดาวน์โหลดแอปฯของแต่ละโรงพยาบาลหรือหากมีอาการมากขึ้น ให้ไปโรงพยาบาลจะตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ ส่วนหากฉุกเฉินสีแดงให้ประสานศูนย์เอราวัณตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วน 1669  ก็จะส่งทีมไปประเมินอาการ

กรณีโรงพยาบาลเอกชนทางศูนย์เอราวัณได้ประสานทำงานมาตั้งแต่เดลตาระบาด หลัก ๆ ถ้าเป็นสีแดง โรงพยาบาลเอกชน สามารถรับได้อยู่แล้วเพราะเข้าข่ายยูเซป หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) แต่จะบริหารจากโรงพยาบาลรัฐก่อน หากไม่พอจึงขอความร่วมมือเอกชน ขณะนี้อัตราการครองเตียงกลุ่มอาการสีเหลืองอยู่ที่ 47.8% 

กทม.​ เดินหน้าจัดกิจกรรมตามมาตรการ ศบค. 

พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมของ กทม. ดำเนินการตามคำสั่ง ศบค. ฉบับ 46 ที่สามารถปรับมาตรการผ่อนคลายได้ สร้างสมดุลกิจกรรม เฝ้าระวังคุมเข้ม และกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหนังกลางแปลง ดนตรีในสวน จะมีมาตรการระดับหนึ่ง จากการติดตามยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ จากกลุ่มนี้ แต่หากมีความเสี่ยง ทางฝ่ายบริหารก็พร้อมปรับลดหรืองดไป จากนี้ในส่วนของผู้ขายจะมีการตรวจ ATK และจะแจกหน้ากากผู้เข้าร่วมงาน เป็นต้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS