นับถอยหลังโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น 1 ก.ค.นี้ ขณะ’นพ.ยง’ ชี้ผู้ติดเชื้อจริงสูงกว่ารายงาน 10 เท่าและกำลังเข้าสู่ขาขึ้น คาดจะระบาดปีละ 2 รอบ
26 มิ.ย. 2565 ศบค.รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,378 คนทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 4,514,155 คนไม่รวม ATK อีก 3,521 คนสะสม 1,847,033 คน วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 17 คน ทำให้การระบาดตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 8,894 คน ขณะที่ ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 30,592 คน
ขณะที่วันที่ 1 ก.ค. 2565 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขแต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์คือ 0.1% ขณะเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือใส่หน้ากากอนามัยโดยสมัครใจ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ กรมอนามัย ยังคงแนะนำให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด และกลุ่มเสี่ยงควรใส่ตลอดเวลา
ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังผ่อนคลาย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า ความจริงโควิด-19 มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ เดือนที่นักเรียนเปิดเทอมแล้ว เราจะพบผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมาก และการกระจายตัว ติดในครอบครัว
“อย่างที่เคยคาดการณ์ไว้โควิด-19 จะระบาดมากตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไปและจะขึ้นสูงสุดในเดือน ก.ค. – ก.ย. และจะเริ่มลดลงในเดือน ต.ค. -ธ.ค. แล้วก็จะระบาดใหม่ในเดือน ม.ค. เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ของทุกปี”
นพ.ยง ระบุ
นพ.ยง ระบุต่อไปว่า การระบาดจะเกิดขึ้น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นช่วงของการเปิดเทอมแรกของนักเรียน ช่วงที่ 2 จะพบได้ต่ำกว่า เป็นช่วงตั้งแต่หลังเปิดเทอมที่ 2 แล้วประมาณ 1 เดือน คือเดือน ม.ค. เป็นลักษณะของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาลของประเทศไทย
นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปคาดการณ์ได้ว่าวันนี้มีผู้ป่วยเท่าไหร่ จะมากกว่า 10 เท่าของตัวเลขที่รายงาน เพราะส่วนใหญ่มีอาการน้อย ตรวจ ATK รักษากันเอง และจำนวนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทั้งนี้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการน้อย การแพร่เชื้อจะน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อมีอาการที่มากกว่า และการกำจัดไวรัสก็เป็นไปได้เร็วกว่า
สำหรับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ว่ายังเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็นหลัก แต่ก็พบสัดส่วนการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่คือ BA.4 และ BA.5 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบสัดส่วนถึง 47.5% หรือเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการระบาดของเชื้อโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ว่าแม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะ BA.5 แอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม
“การที่ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็น เพราะจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและป้องกันอาการรุนแรงได้”