ประชาชนในพื้นที่ศักยภาพแร่ทองคำ ตื่นตัว หลัง บมจ.อัคราฯ ได้ประทานบัตร 4 แปลง ปัจจุบันมี 12 จังหวัดที่พบคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ขอมีส่วนกำหนดทิศทางชุมชน ควรมีเหมืองหรือไม่
การเปิดเหมืองทองคำอัคราฯ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากที่ บริษัท คิงส์เกต บริษัทแม่ประเทศออสเตรเลีย ยืนยันว่าได้ประทานบัตร (ใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่) ทั้งหมด 4 แปลงเป็นเวลา 10 ปี พร้อมกับสามารถต่ออายุโรงประกอบโลหกรรมไปอีก 5 ปี ทำให้กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ซึ่งประกอบด้วยประชาชน 5 จังหวัด พิจิตรเพชรบูรณ์ พิษณุโลก สระบุรี ลพบุรี ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง
พวกเขาเคยเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองทองคำ จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเมืองทองของหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ซึ่งระบุถึงความขัดแย้งในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทำเหมือง ในขณะที่ข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยังไม่มีใครกล้าฟันธงอย่างชัดเจนว่าเกิดจากเหมืองทองหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีบ่อทิ้งกากแร่ ซึ่งมีสารไซยาไนด์รั่ว เมื่อปี 2557
ลัดขั้นตอน พ.ร.บ.แร่ยกประทานบัตร บมจ.อัคราฯ
ในระหว่างที่เหมืองทองอัครา ต้องปิดไปตามคำสั่งตามมาตรา 44 มีการเดินหน้าร่างกฏหมายเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำ นั่นก็คือ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีคณะกรรมการแร่แห่งชาติ เป็นผู้กำกับดูแล กติกาการขอทำเหมืองแร่ จะต้องมีการประกาศแหล่งแร่ และมีการประกาศประมูลบริษัทที่จะได้รับประทานบัตร ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.แร่ ฉบับเดิม ที่รัฐเป็นผู้ให้สัมปทาน
วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ รองประธานกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ตั้งข้อสังเกตว่า การได้รับใบประทานบัตรของบริษัทอัคราฯ ให้กลับมาเปิดเหมืองได้อีกครั้ง ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 เพราะไม่มีการประกาศแหล่งแร่ และไม่มีการเปิดประมูล ดังนั้นการให้ประทานบัตร 4 แปลงจำนวน 4 แสนไร่ อายุ 10 ปีแก่บริษัทอัคราฯ ของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นี่เป็นที่มาของการเคลื่อนไหวยื่นหนังสือร้องให้หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ดีเอสไอ ศูนย์ดำรงธรรมทำเนียบรัฐบาล เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง
ก่อนหน้านี้กลุ่มของ วันเพ็ญ ก็ยื่นหนังสือให้หน่วยงานรัฐ ตรวจสอบข้อพิพาทต่างๆ เกี่ยวกับเหมืองทองอัครา หลายเรื่อง เช่น ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประเด็นการติดสินบนข้ามชาติเพื่อออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่และ ปัญหาการขุดถนนสาธารณะเพื่อทำเหมือง กรณีทั้งหมดยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน และไต่สวนมาแล้วหลายปี ซึ่งมีความคืบหน้าช้ามาก ในขณะที่บริษัทเหมืองทองก็สามารถตอบคำถามและพยายามชี้แจงกับหน่วยงานของรัฐในทุกประเด็น
ประชาชนพื้นที่ศักยภาพแร่ทองคำตื่นตัว
ที่ผ่านมามีบริษัทลูกของบริษัทอัคราฯ ที่ทำกิจการสำรวจแร่พยายามขอใบอาชญาบัตร (ใบขออนุญาตสำรวจเเร่) จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในจังหวัดที่พบศักยภาพแร่ทองคำสูง เช่นจังหวัดเพชรบูรณ์ สระบุรี ลพบุรี และจันทบุรี เป็นต้น เป็นที่มาที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดที่ยังไม่มีเหมืองแร่ทองคำลุกขึ้นมาร่วมต่อต้าน เพราะเห็นภาพผลกระทบจากเหมืองบริษัททองอัคราฯ จ.พิจิตร และเหมืองทองบริษัททุ่งคำ จ.เลย จึงจับตาการเดินหน้าทำเหมืองทองคำในพื้นที่ของตนเองอย่างใกล้ชิด และต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจประกาศแหล่งแร่เพื่อกำหนดทิศทางว่าชุมชนควรจะมีเหมืองแร่หรือไม่
ทั้งนี้การสำรวจหาพื้นที่ศักยภาพของแร่ทองคำของ กรมทรัพยากรธรณีพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพของแร่ทองคำสูง ผลการสำรวจสามารถกำหนดพื้นที่หลักที่มีศักยภาพแร่ทองคำสูงได้ 2 แนว คือ
- พื้นที่ที่อยู่ในแนวพาดผ่านตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี
- พื้นที่ที่อยู่ในแนวพาดผ่านตั้งแต่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก
ปัจจุบันมี 12 จังหวัดที่พบคำขออาชญาบัตร
โดยกลุ่มปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ที่นำโดย วันเพ็ญ มีจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายเหมืองแร่ทองคำคือไม่ต้องการให้เอกชนเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกต่อไป โดยประเทศไทยควรจะสงวนกิจการเหมืองแร่ทองคำไว้เฉพาะรัฐเท่านั้น เพื่อขุดทองคำขึ้นมาเข้าคลังหลวงใช้ในยามจำเป็น
ในขณะที่ข้อถกเถียงเรื่องความคุ้มค่าของการมีเหมืองทองคำในชุมชนยังคงมีหลายแง่มุมและถกเถียงกันมานาน เพราะทางฝั่งบริษัทเหมืองทองก็เห็นว่าการมีอยู่ของเหมืองก็ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่แพ้กัน โดยในแต่ละปี บริษัท ผลิตทองคำบริสุทธิ์ได้ปีละ 130,000 ออนซ์ สร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศกว่า 7,000 ล้านบาท และจ่ายค่าภาคหลวงแร่ให้รัฐราว 3,000 ล้านบาท
อนุญาโตตุลาการเลื่อนอ่านคำตัดสินไม่มีกำหนด
การสั่งปิดเหมืองทองด้วยมาตรา 44 นำมาสู่การฟ้องร้องในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ระหว่าง บริษัทคิงส์เกต กับรัฐบาลไทย เนื่องจากผิดข้อตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลีย แต่หลังจากที่ บริษัทได้ประทานบัตร จากรัฐบาลไทย 4 แปลง พร้อมกลับมาเปิดเหมืองได้อีกครั้ง วันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันที่ศาลจะมีคำตัดสินชี้ขาด ก็มีการเลื่อนออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด
มีรายงานว่า บริษัทคิงส์เกตต้องการหลักประกันในการกลับมาทำเหมืองทองคำระยะยาวไม่ใช่ว่าเปิดเหมืองไม่นานจะถูกสั่งปิดซ้ำอีก ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงความเสียหายจากกรณีที่บริษัทอัคราฯ ต้องหยุดทำเหมืองไป ถึง 5 ปี
การกลับมาเปิดเหมืองอีกครั้ง บริษัทอัคราฯ จะทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการตามแผนของผู้เชี่ยวชาญ และมีการตั้งกองทุนประกัน ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เป็นไปตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่ โดยเงินประกันที่จะตั้งกองทุนคิดเป็น 20% ของค่าภาคหลวงแร่