กมธ. ป.ป.ช. มอบ สสจ.พิจิตร ตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมืองอัคราใหม่

หลังตรวจกลุ่มตัวอย่างไปเพียง 0.54% จากชาวบ้านรอบเหมืองทอง 5,800 คน หวังสำรวจผู้ป่วยที่พบสารโลหะหนักพร้อมเร่งรักษา และพิสูจน์ผลกระทบจากการทำเหมืองไปพร้อมกัน  ขณะที่ บมจ.อัคราฯ ลุยสำรวจแร่พร้อมขอประทานบัตรเพิ่ม 

7 ก.พ. 2565 เป็นครั้งแรกหลังเหมืองทองคำ บริษัท อัคราฯ ถูกปิดไปเกือบ 5 ปี เปิดให้หน่วยงานภายนอก ได้เข้าไปตรวจสอบ การลงพื้นที่ของกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร  หรือ กมธ.ป.ป.ช. ได้เข้าไปดูบ่อทิ้งกากแร่ที่ 1​ ซึ่งเลิกใช้งานแล้วและอยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูส่วนบ่อทิ้งกากแร่ที่ 2 กำลังจะกลับมาใช้งาน หลังจากเริ่มดำเนินกิจการอีกครั้งซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการรั่วซึมหรือเคยรั่วซึมมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ 

เหมืองอัครา
กมธ.ป.ป.ช. ลงพื้นที่เหมืองทองอัคราฯ​
เหมืองอัครา
บ่อทิ้งกากแร่ บ่อที่ 2 ที่กลับมาใช้งานหลังเหมืองกลับมาเปิด
เหมืองอัครา
บ่อทิ้งกากแร่ บ่อที่ 1 ที่ถูกใช้งานจนเต็มแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟู

ผลกระทบสุขภาพที่ยังไร้คำตอบ 

วันเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร​ กมธ.​ป.ป.ช.ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่มีชาวบ้านร้องเรียนว่า เกิดอาการเจ็บป่วยก่อนหน้านี้​

นพ.พนม ปทุมสูติ ​รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตรชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีการตรวจเลือด และปัสสาวะ ไปแล้ว​ 8​ ครั้ง ตั้งแต่ปี 2557-2564 โดยตรวจก่อนปิดเหมือง 3 ครั้ง​ ตรวจหลังเหมืองปิด อีก 5 ครั้ง​ ส่วนครั้งที่ 8 กำลังรอผลการตรวจ​ โดยตรวจกับกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ 144-373 คน จากชาวบ้านรอบเหมืองที่มีอยู่ทั้งหมด 5,800 คน​ คิดเป็นเพียง 0.54 เปอร์เซ็นต์ นับ​เป็นการสุ่มตัวอย่างตรวจที่ไม่มากพอ จึงเป็นข้อจำกัดในการตรวจและวินิจฉัยว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดจากเหมืองหรือไม่​

โดยพบว่า หลังปิดเหมืองไปแล้ว​ ก็ยังพบแนวโน้มสารไซยาไนด์ในเลือดตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ส่วนกรมอนามัยก็ได้มีตรวจตัวอย่างน้ำประปาก่อนปิดเหมืองทอง​ พบในสัดส่วน 19 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังปิดเหมืองทองไปแล้วก็พบโลหะหนักในน้ำสูงกว่าเดิมเฉลี่ย 28 เปอร์เซ็นต์

จารึก ศรีอ่อน รองประธาน กมธ.ป.ป.ช.​ ระบุว่า ในที่ประชุมจึงมีมติ ให้สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ตรวจเลือดชาวบ้าน รอบเหมืองซ้ำครั้ง เพื่อรักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย และพิสูจน์ผลกระทบจากการทำเหมืองไปพร้อมกัน ขณะที่ด้านของสาธารณสุขจังหวัง ก็ชี้แจงว่าขาดงบประมาณในการตรวจ ทาง กมธ.ป.ป.ช. ก็รับปากว่าจะไปหารือกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางให้ เพราะถ้าไม่ตรวจใหม่ให้ครบ ก็จะเป็นข้อกังขาต่อไป 

เหมืองอัครา
การประชุมหน่วยราชการชี้แจงผลกระทบเหมืองทองอัคราฯ ต่อ กมธ.ป.ป.ช.​ ที่ศาลากลาง จ.พิจิตร

พร้อมเชิญ DSI,ป.ป.ช. ตามความคืบหน้า “คดีเหมืองทอง”

ด้านธีรัจชัย พันธุมาศ โษฆก กมธ. ป.ป.ช. กล่าวว่าหลังจากการลงพื้นแล้วคณะกรรมาธิการ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางเข้ามาสอบถามข้อมูล และติดตามข้อมูลและการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา โดยปัญหาเมืองทองคำมี กรรมาธิการการอุตสาหกรรมดูแลอยู่ด้วย ในส่วนของกรรมาธิการ ป.ป.ช. จะเน้นตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีการบกพร่องหรือละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งก็พร้อมที่จะเชิญหน่วยงานที่ทำคดีเกี่ยวกับเหมืองทองคำ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ป.ป.ช. กรณีการทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร การบุกรุกที่ป่าเพื่อทำเหมือง หารือถึงความคืบหน้า

อัคราฯ ลุยสำรวจแร่พร้อมขอประทานบัตรทำเหมืองเพิ่ม 

ขณะที่สุรชาติ​ หมุนสมัย​ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากกรณีที่มีข้อพิพาทกันมายาวนานที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ประกอบด้วยผู้เชียววชาญ แต่ข้อมูลก็ไม่สามารถพิสูจน์ทราบว่าเหมืองเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามกรณีที่มีคดีความไม่ว่าจะในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ป.ป.ช. ยืนยันพร้อมเข้ารับการตรวจสอบ โดยในบันทึกแนบท้ายการให้ประทานบัตร ระบุชัดเจนหาก บริษัท ทำผิดกฎหมาย รัฐก็สามารถปิดเหมืองได้ทันที แต่ที่ผ่านมามั่นใจว่าทำถูกกฎหมายทุกขั้นตอน จึงกลับมาเปิดได้อีกครั้ง

สำหรับพื้นที่ประทานบัตรที่ได้รับการ ต่ออายุ ไปจนถึงปี 2571 ยังคงมีสินแร่ทองคำ ที่สามารถขุดได้อีก 4-5 แสนออนซ์ บริษัทอัคราฯ ยังเปิดเผยอีกว่า เพิ่งได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่ จังหวัดเพชรบูรณ์เนื้อที่ 600 ตารางกิโลเมตรอายุ 5 ปี และทำการสำรวจไปได้เพียงปีเดียว ซึ่งหากพบว่ามีศักยภาพเป็นแหล่งแร่ทองคำ ก็พร้อมที่จะขอใบประทานบัตรเพื่อขยายพื้นที่ทำเหมืองต่อไป

เหมืองอัครา
ขุมเหมือง A ที่ยังเหลือแร่ทองคำให้ขุดอีก 5-6 แสนออนซ์ ได้รับการต่ออายุประทานบัตรถึงปี 2571

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS