แพทย์ แนะ รัฐเร่งสื่อสารวัคซีนเด็กเล็ก หลังพบผู้ปกครองลังเล “ฉีด-ไม่ฉีด”

วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็ก ถึงไทยพรุ่งนี้ (26 ม.ค.) ผอ.IHRI ย้ำ รัฐต้องเลิกกลัวถูกตั้งคำถาม บอกผลเสีย ความเสี่ยง ลดความตื่นกลัว เชื่อเฟกนิวส์ ก่อนเริ่มฉีดจริง 1 ก.พ. 65

26 มกราคม 2565 คือ วันที่ตามกำหนดการวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับฉีดเด็กอายุ 5-11 ปี ล็อตแรกจะเข้ามาถึงประเทศไทย จำนวน 3 ล้านโดส จาก 10 ล้านโดส ที่สั่งจองไว้ในเบื้องต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะเริ่มฉีดได้ภายใน 1 กุมภาพันธ์ 2565 พร้อมแผนในการสำรวจความต้องการ และการสื่อสารข้อดี-ข้อเสีย ไปแล้วก่อนหน้านี้

แต่จากการลงพื้นที่สำรวจในชุมชนของ The Active รวมถึงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ พบว่า ผู้ปกครองหลายคนยังไม่รับทราบถึงข้อมูล กำหนดการฉีดวัคซีน หรือแม้แต่ชนิดของวัคซีน ที่จะฉีดให้กับบุตรหลาน หลายคนจึงเกิดความลังเลว่าจะให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนที่กำลังจะมาถึงนี้หรือไม่

จากการสืบค้นสื่อประชาสัมพันธ์ในการทำความเข้าใจข้อดี-ข้อเสีย ในการฉีดวัคซีน ตามแผนการเตรียมความพร้อมข้อมูลการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5 ถึงไม่เกิน 12 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ตามกำหนด 12 – 17 มกราคม 2565 พบเพียง คลิปที่จัดทำโดยหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเผยแพร่ทางเพจของหน่วยงานในสังกัดเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.)

The Active พูดคุยกับ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า การที่ผู้ปกครองกำลังสับสนกับข้อมูลในขณะนี้ สะท้อนถึงปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติของภาครัฐ ที่แม้จะมีแผนเป็นโรดแมปในการสื่อสารอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่เมื่อการรับรู้ล่าช้า ก็อาจจะส่งผลต่อการฉีดตามเป้าของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่จัดให้บริการ ณ จุดฉีดไม่พร้อมที่จะให้บริการ ซึ่งหากสื่อประชาสัมพันธ์ที่กำลังจะปล่อยออกมายังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ปกครอง โรงเรียน ก็อาจจะยิ่งทำให้ไม่ตรงกับแผนการฉีดวัคซีนที่เตรียมไว้

ซึ่งหลักในการสื่อสารเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข ที่ต้องการนำเสนอ หรือชักชวนให้ประชาชนเข้ารับบริการ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเน้นการนำสิ่งที่ดีเข้าสู่ระบบ โดยที่ประชาชนก็จะเชื่อตามนั้น แต่ในปัจจุบันข้อมูลข่าวสารที่มาจากหลายทางล้วนมีความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นจริง และไม่จริง ทำให้เกิดความกังวล เกิดการคัดค้าน รัฐจึงจำเป็นต้องทำงานด้านการสื่อสารให้ดีขึ้น และออกนอกกรอบกันมากกว่าเดิม

“หน้าที่ของประชาชนคือรับข้อมูลให้รอบด้านที่สุด แล้วการตัดสินใจอยู่ที่เรา”

วัคซีนเด็กเล็ก นิตยา
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์

พญ.นิตยา ยังเสนอว่า ในยุคโควิด-19 ข้อมูลการให้บริการด้านสาธารณสุข ควรจะยึดหลักในการสื่อสาร 3 ส่วนด้วยกัน

  • มีบันทึกหลักฐาน ข้อมูลตรงไปตรงมา ที่ผ่านมาความไม่ชัดเจนของข้อมูล ทำให้สังคมเกิดความหวั่นไหวในกลุ่มประชาชน และทำให้ระบบสาธารณสุขล้มได้ เพราะฉะนั้นหลักฐานข้อมูลควรที่จะประกอบด้วยที่มาที่ไป ถ้ากำลังหมายถึง “วัคซีนในเด็ก” ก็ควรเป็นข้อมูลที่ออกมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพราะทุกคนอยากทราบว่า ทำไมแนะนำวัคซีนตัวนี้ อายุเท่านี้ ฉีดจำนวนโดสเท่านี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความลับแต่นำมาบันทึกไว้ในระบบ ซึ่งในอนาคตหากเกิดปัญหาก็จะสามารถย้อนกลับมาดูได้ว่าที่เราตัดสินใจ ณ วันนั้น มาจากหลักฐานข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้น ซึ่งหลักฐานอาจจะเปลี่ยนไปไม่มีใครว่าอะไร แต่จะทำให้คนมีความมั่นใจมากขึ้นว่าข้อมูลเหล่านี้เขียนขึ้นด้วยความโปร่งใส
  • เครื่องมือ ช่องทางสื่อสาร ตรงกลุ่มเป้าหมาย สำคัญมาก ๆ ถ้าเรายังยึดติดกับการใช้เครื่องมือ ช่องทางเดิม ๆ ในการสื่อสาร โดยไม่ปรับให้เข้ากับประชากรกลุ่มเป้าหมายที่กำลังจะสื่อสาร ตัวอย่าง วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก คนที่ต้องที่สื่อสารด้วยคือผู้ปกครอง เด็ก ครู การปล่อยข้อมูลทางโซเชียลเพียงอย่างเดียวอาจเข้าไม่ถึง ต้องมองไปถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะเข้าถึงผู้ปกครอง ครู โดยตรง ทำความเข้าใจกับเด็กเพราะการตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีดควรให้เด็กมีส่วนร่วมภายใต้ความสามารถในการรับรู้ที่มีอยู่
  • ดึงผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาวางแผนสื่อสารข้อมูล เพื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เช่น ถ้าเราเป็นผู้ปกครอง ครู เด็ก เราอยากได้ข้อมูลอะไร จากช่องทางไหน เพราะหากเป็นการคาดเดาไปเองอาจจะทำให้เกิดผลเสียได้ และการดึงผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมออกแบบการสื่อสารหรือรูปแบบบริการ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้  ตรงกันข้ามประชาชนที่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน จะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ดีให้กับรัฐ

“ผู้ให้บริการสาธารณสุข หรือผู้กำหนดนโยบายของรัฐส่วนหนึ่ง ยังค่อนข้างกลัวประชาชนจะถามมากไป กลัวที่จะถามแล้วตอบไม่ได้ กลัวการถูกถามแล้วจะชี้ช่องให้ถูกโจมตี ซึ่งเราควรที่จะก้าวข้ามความกลัวตรงนี้ไปให้ได้ เพราะยิ่งไม่สื่อสารกันให้ชัดเจน ก็มีสิทธิที่จะทำให้การวางแผนให้บริการอะไรสักอย่าง ไม่ประสบความสำเร็จเร็วเท่าที่ควร หรือต้องมาตามแก้ปัญหาในภายหลัง”

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์
วัคซีนเด็กเล็ก

ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกมาถึง จะสุ่มตัวอย่างให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจลอตรีลีสต์ (Lot Release) โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะกระจายไปฉีดเด็ก เริ่มที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ก่อนเป็นแห่งแรก เพื่อเดินหน้าฉีดให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัวที่ถือเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงก่อน ขณะเดียวกันจะกระจายไปยังโรงพยาบาล และโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งได้ประสานกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก รวมทั้งอาจประสานศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เป็นจุดฉีดร่วมด้วย พร้อมขอความร่วมมือผู้ปกครองให้พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน