“ครูขอสอน” สร้างแคมเปญ “คืนปากให้ครู คืนหูให้กระทรวง “ หยุดส่งต่อวาทกรรม ครูต้องเสียสละ อดทน อยากยกระดับการศึกษา ต้องคืนศักดิ์ศรีให้กับครู
วานนี้ (15 ม.ค.2565) กลุ่ม “ครูขอสอน” ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนครู และสาขาอาชีพต่างๆ ในแวดวงการศึกษา ร่วมจัดเสวนาในคลับเฮ้าส์ หัวข้อ “คืนปากให้ครู คืนหูให้กระทรวง” โดยมีตัวแทนจากครูฝึกสอน ครูอัตราจ้าง ครูประถมศึกษา และครูที่ตัดสินใจลาออกเนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองนั้นถูกลดทอนคุณค่าในอาชีพจากระบบของโรงเรียน ทั้งปัญหาที่ครูไม่สามารถโต้แย้ง ตั้งคำถาม กับผู้บริหารสถานศึกษา หรือกระทรวงศึกษาธิการ และการที่ระดับนโยบายไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ที่สุดได้ คือการทำให้ครูกลับมาทำหน้าที่หลักในการสอนหนังสือให้กับนักเรียน
“ถูกบังคับให้อยู่ในสถานะจำยอม ตั้งแต่ระบบผลิตครู”
เสียงสะท้อนจากตัวแทนครูฝึกสอน ระบุ ปัญหาเริ่มตั้งแต่การเลือกโรงเรียนที่ต้องการไปฝึกสอน ซึ่งโรงเรียนเป็นคนกำหนดรายชื่อมาให้ และอาจารย์นิเทศจะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง โดยที่ไม่สนว่าโรงเรียนนั้นจะมีระยะทางที่ห่างไกล หรือนิสิตจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการเดินทาง หรือเช่าที่พักหรือไม่ รวมทั้งสื่อการสอนทุกอย่างที่ต้องซื้อเองทั้งหมด ทั้งที่ครูฝึกสอนไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างทำหน้าที่ กลายเป็นการปลูกฝังค่านิยมความกลัว ต้องอยู่ภายใต้ความคิดของผู้บริหาร ไม่กล้าเรียกร้องแม้จะถูกเอาเปรียบ
ไม่ต่างจากครูเติ้ล ตัวแทนครูอัตราจ้าง กล่าวว่า การเป็นครูอัตราจ้าง ส่งผลให้ต้องตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ ทั้งจากครูประจำการ ครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการ ที่รับนโยบายมาจากกระทรวงศึกษาธิการอีกชั้นหนึ่ง ทั้งการใช้งานที่ไม่เกี่ยวกับการสอน เรียกตัวได้ 24 ชั่วโมง แม้กระทั่งปิดเทอมไม่นับเป็นวันทำงาน โดยที่ไม่มีสิทธิ สวัสดิการเทียบเท่าครูประจำการ แต่ก็ต้องทำเพราะอาจจะมีผลต่อการประเมินต่อสัญญาจ้าง สวนทางกับความมั่นคงในชีวิตส่งผลให้ครูอัตราจ้างขาดแคลน โดยที่กระทรวงไม่ได้เข้ามารับรู้ปัญหา
“เราเคยได้ยินข่าวบางโรงเรียนถึงขนาดต้องจ้างครูด้วยเงินผ้าป่า เดือนละ 5-6 พันบาท จนเกิดเป็นกระแส นั่นคือสิ่งที่โรงเรียนพยายามต่อสู้ แต่สุดท้ายพอเป็นกระแสทางกระทรวงออกมาเบรกแล้วก็ประกาศรับสมัครครูใหม่ โดยไม่ตั้งคำถามว่าเพราะสาเหตุอะไร ที่ทำให้ครูผู้ช่วยไม่พอ”
ด้านตัวแทนครูประถมศึกษา จากเพจ “วันนั้นเมื่อฉันสอน” บอกว่า นโยบายสั่งการของหลายๆ โรงเรียน ไม่มีความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของครู รวมถึงความคาดหวังของผู้ปกครอง ที่มองว่าครูต้องอุทิศเวลา 24 ชั่วโมงให้กับราชการ ทั้งที่ครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตส่วนตัว มีครอบครัวที่ต้องดูแล
แต่ปัญหาสำคัญ คือ ภาระงานซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เช่น ต้องเสียเวลาไปกับการจัดกิจกรรมที่กระทรวงสั่งการลงมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชั่วโมงการเรียนรู้ ขณะที่ครู 1 คน อาจต้องสอนมากกว่า 1 ชั้น 1 วิชา ซึ่งความจริงครูก็ไม่ได้เก่งในทุกวิชา แต่กลับบอกให้โรงเรียนยกระดับการรู้ของนักเรียนให้ได้ เมื่อถึงเวลาเด็กทำคะแนนออกมาได้ไม่ดี ก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นความผิดของครู
ขณะที่ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว จากกลุ่มครูขอสอน กล่าวถึงปัญหาระบบการประเมินโรงเรียน ที่กลายเป็นวัฒนธรรมเขียนเพื่อเอาใจกระทรวง รวมทั้งยังมีการประเมินโครงการต่างๆ ที่กระทรวงเชื่อว่าจะเป็นผลดีกับโรงเรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องมีตัวชี้วัดเป็นตัวเลขให้คะแนน เช่นเดียวกับการประเมินครู ที่แม้จะเปลี่ยนให้ตัวชี้วัดอยู่ที่นักเรียน แต่เมื่อครูไม่มีเวลาสอน จนเด็กความรู้ไม่ถึงเกณฑ์ บางครั้งครูก็ต้องจำใจเขียนตัวเลขให้สูงกว่าเกณฑ์เพื่อไม่ให้มีผลต่อการประเมินตัวเองเช่นเดียวกัน
“หลายครั้งคะแนนที่ว่ามันไม่มีอยู่จริง เป็นการจับแพะชนแกะ ผมเคยถามว่าจากตัวชี้วัดนี้โรงเรียนยังขาดจุดนี้ผมไม่เขียนได้มั้ย คำตอบคือไม่ได้ต้องใช้ศิลปะเขียนไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ คำถามผมคือ ถ้าเราไม่ได้เขียนเพื่อสะท้อนปัญหาเพื่อนำมาพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ แล้วเราประเมินไปเพื่ออะไร”
สิ่งเหล่านี้สร้างแรงกดดันให้กับครูอัตราจ้าง และครูประถมศึกษาจำนวนมาก มีหลายคนที่ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ในการเป็นครูที่ดี อุทิศความรู้ให้กับเด็กๆ แต่เมื่อเจอภาวะที่เป็นอยู่ ส่งผลให้ครูหลายคนหมดหวัง ถอดใจ บางคนเกิดอาการเครียด เป็นโรคซึมเศร้าจากการโทษตัวเอง ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ไม่ดี จนต้องตัดสินใจลาออกทั้งที่รักในอาชีพนี้
เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก บรรดาคุณครูจึงหวังว่าเสียงสะท้อนเหล่านี้จะไปถึงหูของผู้บริหารในกระทรวง หยุดมอบคำว่าเสียสละ อดทน มาให้กับครู แต่คืนศักดิ์ศรี และเวลาในการสอน กลับคืนมาก่อนที่จะสายเกินไป