ลูกเสือสากล ต้องเปลี่ยนตามโลก ไม่แช่แข็งการศึกษา

กลุ่มครูขอสอน ชวนมองเป้าหมายการเรียน “วิชาลูกเสือ” ให้ไกลว่า “เครื่องแบบ” หลายประเทศไม่ให้ความสำคัญมาก เพราะเกินจำเป็น และอาจตัดโอกาสเด็ก แนะ ปรับเป็นชมรมให้เรียนตามที่ตัวเองสนใจจริง ๆ

จากปรากฏการณ์ โซเชียลถกประเด็น “ชุดลูกเสือ-เนตรนารี” แพงเป็นภาระผู้ปกครองหรือไม่ และบางความเห็นมองไปถึง การยกเลิกกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี ได้หรือไม่ แน่นอนว่าหากยกเลิกจะมีผลกระทบในวงกว้างของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำกิจกรรม และเครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารี

The Active สัมภาษณ์ ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หัวหน้างานลูกเสือของโรงเรียน และกลุ่มครูขอสอน เปิดเผยข้อมูลกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์จากแวดวงลูกเสือ-เนตรนารี และความยากของการยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว ทั้งในมิติการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ครอบงำระบบการศึกษาไทย รวมไปถึงกลุ่มคนที่ยังคงยึดมั่นกิจการลูกเสือ พร้อมตั้งคำถามสำคัญ หากล้มเลิกแล้วมีผลกระทบมากมาย ดังนั้น ควรมีอยู่ โดยปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเรียน และการใช้ประโยชน์ได้จริงจากกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี

“กิจการลูกเสือ มีองค์กรอยู่ทุกประเทศ คำขวัญ คือ Scouts Creating a better world ลูกเสือเพื่อโลกที่ดีกว่า มีเป้าหมายว่าทำอย่างไรให้เด็กแก้ปัญหาชุมชน และทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น… กิจกรรมลูกเสือ ไม่ใช่การแช่แข็ง แต่การเปลี่ยนแปลงตามโลก คำถามคือ ลูกเสือ-เนตรนารีไทย เป็นแบบไหน?”

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

เครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารี กับ สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

ครูทิว วิเคราะห์ต่อว่า คำถามเรื่อง ความสิ้นเปลืองของเครื่องแต่งกายลูกเสือ-เนตรนารี นั้นดังขึ้นอีกครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 ผู้ปกครองหลายคนได้รับผลกระทบจากสภาพทางเศรษฐกิจ และลักษณะการเรียนแบบออนไลน์ ก็ทำให้การตั้งคำถามว่า “ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน หรือ เครื่องแบบก็เรียนได้” มีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะแม้ระบบการศึกษาบ้านเราจะมีเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี แต่ก็ยังไม่มากพอ จากข้อมูล โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานปีงบประมาณ 2564 ตัวเลขเงินอุดหนุนก็ยังคงเท่าเดิมในรอบ 10 ปี (ทศวรรษ) ดังนี้

  • ระดับชั้น อนุบาล 300 บาท /ปี
  • ระดับชั้น ประถม 360 บาท /ปี
  • ระดับชั้น ม.ต้น 450 บาท /ปี
  • ระดับชั้น ม.ปลาย 500 บาท /ปี
  • ระดับชั้น เงินอุดหนุนรายหัว

ลูกเสือ-เนตรนารี หยั่งรากลึก ชี้หากจะไปต่อ ต้องปรับหลักสูตร

ย้อนกลับไปช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กรณีการแต่งชุดไปรเวท และตั้งคำถามกับค่าใช้จ่ายชุดนักเรียนมีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์เรื่องเครื่องแต่งกาย รวมถึงเสื้อผ้าหน้าผม โดยครูทิว-ธนวรรธน์ มองว่า นี่เป็นความตื่นตัวทางการเมืองที่ทำให้ประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุผลที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก มีอยู่ 3 ประเด็น คือ

  1. ลูกเสือ เนตรนารี เป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐที่เข้มข้น โดยเฉพาะรัฐไทย ยุครัชกาลที่ 6 แก่นของลูกเสือทำให้อุดมการณ์รัฐจับตัวกับกิจกรรมลูกเสือได้อย่างแนบเนียน โรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกลดทอนมิติทางการเมือง กลับเป็นพื้นที่ช่วงชิงอุดมการณ์บางอย่าง โดยใช้ลูกเสือกล่อมเกลาและสร้างอำนาจรัฐ โดยกิจกรรมลูกเสือได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบการบังคับเรียนทั้งหมดในช่วงปี 2516 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของประเทศเช่นกัน
  2. ยกเลิกยากเพราะยังมีคนในสังคมอีกหลายกลุ่มที่ยึดมั่นกับกิจการลูกเสือ เป็นคล้าย ๆ กับลัทธิ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจในกระทรวงศึกษาธิการ
  3. งบประมาณ และผลประโยชน์ จากกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านี้ เช่น งบฯ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ, งบฯ กระทรวงศึกษาและหน่วยงานรัฐ ที่ตั้งมาเพื่อจัดโครงการเกี่ยวกับลูกเสือ และหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือพิเศษ รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกเสือ สังคมไทยบังคับเรียนลูกเสือนานเกือบ 50 ปี นักเรียนทุกคนต้องเรียนลูกเสือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก หรือ ไปต่อ ของกิจกรรม ลูกเสือ-เนตรนารี ก็คือ ร้านค้าที่ผูกขาดเครื่องแบบชุดนักเรียน, ธุรกิจค่ายลูกเสือ ค่ายทหาร-ตำรวจ ค่ายกิจกรรมเยาวชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นค่ายลูกเสือ สโมสรที่รับทำงานเป็นวิทยากร รวมไปถึงงบประมาณที่ใช้อบรมครูที่ไม่มีวุฒิ ให้สามารถสอนกิจกรรมลูกเสือได้ โดย เงินที่ใช้อบรม ชั้นต้นอยู่ที่ 1,500-2,000 บาท/หัว ชั้นสูงอยู่ที่ 3,500-4,000 บาท/หัว เป็นผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ดังนั้นถ้ายกเลิกจะล้มครืนเป็นโดมิโนกันอยู่ในแวดวงราชการ

ครูทิวตั้งคำถามว่า การเรียนกิจกรรมลูกเสือ ได้ประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ของใคร? ถ้าพูดถึงประโยชน์ของนักเรียนก็ยังถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์น้อย เด็กชอบหรือไม่ไม่รู้ แต่การเข้าค่ายก็อาจจะเป็นประสบการณ์หนึ่งของเขา แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ใช้ประโยชน์ได้น้อย เพราะนักเรียนถูกบังคับเรียนทุกคน ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ จะได้ประโยชน์เฉพาะคนที่สนใจจริงเท่านั้น แถมชั่วโมงสอนไม่เพียงพอ

ครูทิวเล่าว่าใน 1 คาบเรียนมักหมดไปกับการตรวจชุดแต่งกาย ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนการสอนได้จริง เด็ก ๆ แค่รู้ว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เรียกว่าอะไร แต่ไม่มีเวลาพอที่จะไปเจอกับสถานการณ์ให้ทดลอง หรือดึงทักษะที่มีออกมาฝึกใช้ประโยชน์ได้จริง เรียกว่าเป็นเหมือนกระบวนการผิวเผิน พอเป็นพิธี

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่าควรทำเป็นชมรมตามความสนใจเหมือนในต่างประเทศ จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เป็นกลไกถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐอย่างที่ไทยกำลังเป็น

กิจกรรมหน้าเสาธง ลูกเสือ-เนตรนารี เน้นถ่ายทอดอุดมการณ์รัฐ เป็นคนดีมากกว่าเป็นคนมีทักษะ (Skill)… กิจกรรมลูกเสือได้ประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ของใคร? เพราะประโยชน์นักเรียนก็ยังถือว่าน้อย…

เวลานี้มีแค่ 2 ประเทศ ไทย กับ อินโดนีเซีย ที่บังคับให้เรียนลูกเสือ-เนตรนารี ประเทศอื่น ๆ เขาทำเป็นชมรม เครืองแบบมีหลากหลาย ให้นักเรียนได้เรียนตามที่ตัวเองสนใจจริงๆ”

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

ลูกเสือไทย เทียบสากล เป้าหมายเราตรงกันอยู่ไหม?

ครูทิว เล่าเสริม ถึงแนวคิดเริ่มต้นจากการสอนลูกเสือจากหนังสือ Scouting for Boys ที่ผู้เขียนเน้นการเล่าเรื่องผ่านการอยู่แคมป์ และพูดถึงประสบการณ์ในประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย แอฟริกา ฯลฯ ทำให้ค้นพบ ทักษะของเด็ก ๆ ที่แตกต่างกัน โดยหนังสือยังเน้นการสอนวิธีเดินป่า การปฐมพยาบาล ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของวิชาลูกเสือ โดยผู้เขียนจะย้ำว่า ลูกเสือ ไม่เหมือน ทหาร โดยลูกเสือเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ค้นพบตัวเอง แต่เป็นกิจการของผู้ใหญ่ ที่ต้องช่วยทำให้พวกเขาค้นพบตัวเอง โดยมีหัวใจสำคัญ คือ “ผจญภัย ได้เพื่อน เถื่อนธาร การสนุก สุขสม” โดยรวมแล้วผู้เรียนจะต้องตระหนัก และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ

“หลายประเทศ เครื่องแบบนักเรียนไม่สำคัญนัก เพราะเกินจำเป็น และถูกมองว่า อาจจะตัดโอกาสเด็ก ทำให้เขาไม่ถึงการศึกษาได้เพียงเพราะไม่มีเครื่องแบบนักเรียน หรือเพียงกลัวการถูกทำโทษ ถูกประจาน โรงเรียน และผู้มีอำนาจในระบบการศึกษาไทย จึงควรจะยืดหยุ่นเรื่องนี้ได้แล้วหรือไม่ ?”

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

ครูทิวทิ้งท้ายว่า ถ้าไม่ยกเลิก ควรจะปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งหลักสูตร และเครื่องแต่งกาย ไม่ให้ระเบียบเยอะแยะจนเกินไป อย่าทำให้ 50-60 นาที ต้องหมดไปกับการตรวจเครื่องแบบนักเรียน และเสนอให้ทำเป็น ชมรม เพราะ “ลูกเสือ-เนตรนารี” ไม่เหมาะกับการบังคับเด็กทุกคน เพราะจะทำให้กิจกรรมไม่ได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเครื่องแบบที่เป็นระเบียบ มีต้นทุนที่จ่ายได้

โดย ครูทิว เทียบวิธีคิดแบบ Bio Power จาก มิเชล ฟูร์โก ก่อนจะจบบทสัมภาษณ์ว่า “การที่ใครก็ตามที่บังคับ ทรงผม เครื่องแบบ เครื่องแต่งกาย การควบคุมเนื้อตัวร่างกายของใครก็แล้วแต่ มันก็ไม่ยากเลยที่จะควบคุมความคิดได้” ถ้าหากยังจะมีกิจกรรมลูกเสือ ควรเริ่มตั้งคำถามว่า สอดคล้องกับหลักการ หรือ สิ่งที่ควรรเป็นไหม คนที่รัก และกอดกิจการลูกเสือไว้ต้องพิสูจน์ให้คนอื่นที่ไม่เข้าใจว่า กิจกรรมนี้ดีอย่างไร หรือจริง ๆ แล้วกับมาผิดทาง…

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน