“คืนครูให้นักเรียน” นโยบายทิพย์ที่ครูไทย อยากได้เป็น “ของขวัญวันครู” มากที่สุด

‘ครูขอสอน’ รวมเสียงครูตัดเกรด ‘ศธ.-หน่วยบริหาร’ หวิดสอบตก ชี้ รัฐลอยตัวเหนือปัญหาด้วยมายาคติ “ครูคือผู้เสียสละ” ย้ำ! ของขวัญที่ต้องการ “ลดงานเอกสาร-ประเมิน-สำรวจซ้ำซ้อน” เพื่อประโยชน์นักเรียน เชื่อ “เปลี่ยนระบบงานครูได้ = การศึกษาเปลี่ยนได้”

16 ม.ค. 2565 เครือข่าย ครูขอสอน จัดกิจกรรมเนื่องในวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2565 ผ่านระบบเฟซบุ๊กไลฟ์ชื่อ “คืนปากให้ครูคืนหูให้กระทรวง” สะท้อนปัญหาและข้อเสนอที่เครือข่าย ครูขอสอน, insKru, อะไรอะไรก็ครู, ครูโชว์ของ และก่อการครู จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นครูไทยที่มีต่อการทำงานของผู้เกี่ยวข้องในปี 2564 และสะท้อนภาพฝันต่อวิชาชีพครูที่ไม่อยากให้ภาครัฐเพิกเฉย และมองข้ามปัญหาที่ครูเผชิญอยู่

วันครู ครูขอสอน

ความคิดเห็นของครูทั่วประเทศกว่า 1,000 คน สะท้อนผ่านแบบสำรวจออนไลน์ ซึ่งได้ประเมินผลการทำงานของครูร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์, ผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งประเมินสภาพจิตใจและทบทวนการทำงานของตนเองในปีที่ผ่านมา โดยสรุปออกมาในรูปแบบ “สมุดพกเสียงครู ปีการศึกษา 2564 : เมื่อครูได้ตัดเกรดคนข้างบนบ้าง” เพื่อแสดงให้เห็นว่าครูไทยพอใจผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแค่ไหน ดังนี้

ด้านการทำงานร่วมกับครูของ “กระทรวงศึกษาธิการ” เกี่ยวกับนโยบายคืนครูสู่ห้องเรียน, สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับครูไทย, ทักษะการรับฟัง แก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ผลประเมินของครูต่อให้เกรดเฉลี่ย 1 (เกรด D) เนื่องจากในแบบประเมินอ้างอิงตามคำสั่งกระทรวงฯ ที่มีนโยบายห้ามครูตัดเกรด 0 ร. มส.

ด้านการทำงานร่วมกับครูของ “เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์” เกี่ยวกับรูปแบบการทำงานอย่างเป็นระบบและการสนับสนุนโรงเรียน, ทักษะการให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาความสามารถครู, การมุ่งดูผลลัพธ์จากผู้เรียนมากกว่าการเรียกร้องเอกสาร ผลประเมินของครูให้เกรดเฉลี่ย 1.66 (เกรด D+) โดยครูพอใจการให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาความสามารถอยู่พอสมควร

ด้านการทำงานร่วมกับครูของ “ผู้บริหารโรงเรียน” เกี่ยวกับทักษะการรับฟังเสียงของครู, การบริหารจัดการที่เน้นผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นที่ตั้ง, การสร้างบรรยากาศแห่งความสุขในการทำงานให้ครู, ทักษะการพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นผู้นำทางวิชาการในโรงเรียน ผลประเมินของครูให้เกรดเฉลี่ย 1.62 (เกรด D+) เป็นที่น่าสังเกตว่ามุมมองครูต่อผู้บริหารโรงเรียนให้คะแนนเพียงระดับกลางค่อนไปต่ำ ทั้งที่ทำงานใกล้ชิดกันมากที่สุด

ด้านความพึงพอใจต่อ “วัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน” เกี่ยวกับการมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์, ดำเนินงานด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส, แนวทางการทำงานสอดคล้องกับคุณค่าที่ครูยึดถือ, มีพื้นที่สำหรับการสนทนาเพื่อพัฒนาครู และมีความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในองค์กร ผลประเมินของครูให้เกรดเฉลี่ย 1.8 (เกรด D+) เป็นที่น่าสังเกตว่า ครูไทยไม่ค่อยมีความสุขกับระบบงาน

ด้านพื้นที่ช่วยครูเรียนรู้ในปี 2564 พบว่า พื้นที่ซึ่งทำให้ครูเกิดการเรียนรู้มากที่สุด 36% คือ โครงการอื่น ๆ ตามความสมัครใจ รองลงมา คือบทสนทนากับเพื่อนครูในโรงเรียน 30% และบทสนทนากับเพื่อนครูนอกโรงเรียน26% ส่วนโครงการของกระทรวงศึกษาธิการและเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้เพียง 7% ครูขอสอน สะท้อนว่าผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่ามายาคติ เรื่องครูไทยไม่อยากเรียนรู้และไม่พัฒนาตนเองไม่เป็นความจริง เพียงแต่ครูส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเรื่องการบังคับหรือนับชั่วโมงเข้าร่วมโครงการของกระทรวงฯ และเขตพื้นที่ฯ 

“จะเห็นว่าพื้นที่ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้ 30% เกิดจากสนทนากันทั้งในและนอกโรงเรียน น่าสนใจ ว่าการมีเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปปฏิบัติเป็นผลดีต่อเด็ก ๆ อยากเสนอว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ครูมีเวลาพูดคุย พัฒนาจะทำได้ต้องลดภาระงานอื่นที่นอกเหนืองานสอน สิ่งนี้ไม่ต้องใช้งบฯ เยอะเลย”

ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน กล่าว

นอกจากนี้ แบบสำรวจยังได้บ่งบอกความต้องการของครูเกี่ยวกับของขวัญที่อยากได้ผ่านการ “รายงานพฤติกรรมกระทรวงศึกษาธิการ” โดยระบุว่า นโยบายที่ออกมาไม่ค่อยมีที่น่าจดจำ ส่วนใหญ่ที่จำเพราะยังทำไม่ได้ เช่น ลดภาระงานครู คืนครูสู่ห้องเรียน ลดเอกสาร 

ขณะที่ นโยบายที่ครูมองว่าควรปรับปรุงมากที่สุด คือ การประเมินวิทยฐานะ แม้จะเห็นความพยายามในการปรับเกณฑ์ให้เน้นความสำคัญของผู้เรียน แต่สุดท้ายผู้บริหารยังคงดูจากเอกสารและให้คะแนนงานที่นอกเหนือการสอนมากกว่า สะท้อนว่าวิธีการประเมินยังคงไม่สอดคล้องการปฎิบัติงานจริง อันดับ 2 คือ นโยบายที่สั่งการสำรวจข้อมูล รายงานต่าง ๆ ที่ซ้ำซ้อน และไม่ได้รับการตอบสนองจากสิ่งที่รายงานไป อันดับ 3 คือ การประเมินการประกวด รวมถึงโครงการโรงเรียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพระราชทาน ที่ครูสะท้อนว่าไม่ตอบโจทย์ของครูและผู้เรียนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เช่น การประกวดร้องเพลง MV ครูไทยยิ้มได้เมื่อภัยมา

ทั้งนี้ ครูที่ตอบแบบสำรวจและเครือข่ายครูขอสอน มองว่าของขวัญ 6 ข้อที่กระทรวงฯ ประกาศมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ เป็นหน้าที่ครูต้องทำอยู่แล้วไม่ใช่ของขวัญตามคำกล่าวอ้าง โดยของขวัญที่ครูต้องการจากกระทรวงฯ มากที่สุด คือ การลดภาระงานครูที่นอกเหนือจากการสอนและดูแลช่วยเหลือนักเรียน 

“เสนอให้มีการบรรจุเจ้าหน้าที่สนับสนุนการสอน เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ ครูจะได้เต็มที่กับการสอน การพัฒนาตนเอง และการจัดการเรียนรู้ เป็นการคืนครูสู่ห้องเรียนจริง ๆ อันดับต่อมาคือการลดงานเอกสาร การประเมิน การสำรวจที่ซ้ำซ้อนมากเกินความจำเป็น อีกทั้งโครงการและนโยบายต่าง ๆ ที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการ สอดคล้องกับบริบทและเกิดประโยชน์กับผู้เรียนควรยกเลิกไป นโยบายเหล่านี้กลายเป็นผลงานของผู้บริหาร แต่ครูกับนักเรียนไม่ได้อะไร”

ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน กล่าว
วันครู ครูขอสอน

ในส่วนข้อเสนอที่ครูอยากเห็นร่วมกัน คือ ขอให้มีระบบและผู้บริหาร ที่เป็นธรรม โปร่งใส แก้ปัญหาวัฒนธรรมที่ให้อำนาจผู้บริหารมากเกินไปจนขาดการมีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียงของครู และไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ โดยระบุว่า ระบบอุปถัมภ์และการขาดธรรมาภิบาล ได้ลดทอนประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาและขวัญกำลังใจของครู รวมถึงขอการประเมินวิทยฐานะและผลการปฎิบัติงานที่เป็นธรรม สะท้อนถึงการปฎิบัติงานสอนที่ส่งผลต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง มีระบบที่สนับสนุนการทำงาน การจัดการเรียนรู้อย่างเพียงพอ

“สุดท้ายสิ่งที่ครูอยากขอคือการรับฟังและจริงใจในการแก้ปัญหา โดยรัฐไม่ได้ปล่อยให้โรงเรียน ให้ครูเผชิญปัญหาโดยลำพัง ลดการสั่งการ เพิ่มการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้กับครู อย่างไรเราก็เป็นทีมเดียวกัน ที่อยากเห็นประโยชน์สูงสุดเกิดกับผู้เรียน”

ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน กล่าว

กิจกรรม “คืนปากให้ครูคืนหูให้กระทรวง” ยังได้สรุปสถานการณ์เกี่ยวกับครูในระบบการศึกษาช่วงปีที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงปรากฏการณ์ติดแฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก ในสังคมออนไลน์ หลังเกิดกระแสสังคมให้ความสนใจครูคนหนึ่งซึ่งโพสต์ใบลาออก ระบุเหตุผลว่าไม่ไหวกับระบบประเมินต้องนำเอาเวลาสอนไปทำรายงาน และเครือข่ายครูขอสอน ได้เปิดวงคุยผ่านคลับเฮาส์ ที่นำไปสู่การติดแฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก ของครูทั่วประเทศในวงกว้าง สะท้อนปัญหาที่แต่คนเผชิญอยู่อีกหลายมิติ เช่น ระบบอำนาจนิยม ความสัมพันธ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย การดึงออกจากงานสอนไปจัดซุ้มจัดบอร์ด แบ่งเวรทำความสะอาดโรงเรียน การอยู่เวรที่เสี่ยงอันตราย ฯลฯ

มีการกล่าวถึงรูปแบบการแก้ปัญหาของฝ่ายบริหาร ภายหลังมีครูโรงเรียนขนาดเล็กโพสต์คำสั่งที่ระบุถึงการควบงานหลายตำแหน่ง โดยเพิ่มอัตรากำลังช่วยครูคนนั้นภายหลังสังคมให้ความสนใจ สะท้อนถึงระบบบริหารขาดการวางแผนและการสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ยังมีครูอีกส่วนใหญ่ที่ยังรอการช่วยเหลือในลักษณะเดียวกัน

“เราพยายามส่งเสียงสื่อสารปัญหาเหล่านี้มานานแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ จัดของขวัญให้ครู 6 โครงการเต็ม ๆ ตั้งคำถามว่านี่เป็นของขวัญหรือไม่ เรารู้สึกว่าหน่วยเหนือมีความพยายามแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง ด้วยโครงการระดับอีเวนต์”

วันครู ครูขอสอน

ทั้งนี้ ครูขอสอน ได้อธิบายถึงชื่อกิจกรรม “คืนปากให้ครูคืนหูให้กระทรวง” ว่าเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นว่าระบบบริหารการศึกษาไทย ครูถูกทำให้พูดไม่ได้ คนที่พูดหรือออกมาเคลื่อนไหวให้เกิดการแก้ไขปัญหามีราคาและต้นทุนที่ต้องจ่าย ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยเหนือ รวมถึงหน่วยอำนวยการคือรัฐ มักฟังเสียงสะท้อนของครูเป็นเสียงรบกวน จึงอยากให้เกิดการรับฟังอย่างจริงจัง 

“วันครูปีนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ มีครูออกมาตั้งคำถามถึงความเป็นครูสวนทางการนำเสนอเรื่องครูผ่านคลิปวิดีโอ เรื่องสั้น หนังโฆษณา ที่ถูกทำให้โรแมนติก ให้สังคมรู้สึกว่าปัญหาการศึกษาทุกอย่างจะแก้ได้ด้วยความเสียสละ มันถูกใช้เป็นเครื่องมือที่รัฐหยิบฉวยเพื่อสร้างค่านิยมและคำสั่งการให้ครูต้องเสียสละ โดยที่รัฐลอยตัวหนีปัญหา”

ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน กล่าว

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของครูที่มีต่อการทำงานของผู้เกี่ยวข้อง เครือข่ายครูขอสอน ได้เปิดตัวผลงานเพลงและมิวสิกวิดีโอชื่อ “ไม่ฟังใช่ไหม… ได้” แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าที่ผ่านมาได้ออกมาสื่อสารปัญหามากมาย แต่เหมือนไม่มีใครฟัง เพราะยังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และพวกเขาจะส่งเสียงต่อไปด้วยความเชื่อว่า ถ้าระบบงานของครูเปลี่ยนได้ การศึกษาไทยก็เปลี่ยนได้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม