กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา เผยโจทย์ปี 65 เร่งเพิ่มทักษะ ‘ครูอาชีวะ’

หนุน ‘ครู’ เป็น Facilitator สร้างความรู้-ทักษะ ผ่านโมเดล 3 ประสาน “รัฐ  ภาคการศึกษา  เอกชน” แก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมขาดแรงงานศักยภาพสูง

วันนี้ (13 ม.ค. 2565) รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แนะภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน จับมือพัฒนาศักยภาพการผลิตครูอาชีวะผ่านระบบ “เทรนนิง” (Training) เพื่อเสริมทักษะให้กับครูอาชีวะเท่าทันโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ ทั้งความรู้ด้านวิชาการและทักษะทางวิชาชีพในอุตสาหกรรม พร้อมหนุนแนวคิดแปลงครูเป็นฟาซิลิเทเทอร์ (Facilitator) ทำหน้าที่ช่วยชี้แนะนักเรียนทั้งความรู้และทักษะร่วมกับสถานประกอบการในการพัฒนานักเรียน/นักศึกษาสายอาชีพให้มีคุณภาพ เพื่อป้อนตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน

รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

รศ.ศักรินทร์ เปิดเผยว่า หนึ่งในกลไกสำคัญของการผลิตนักเรียน/นักศึกษาอาชีวะ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคนี้ คือการมีบุคลากรครูที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งทางด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับทักษะทางอุตสาหกรรม โดยรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า มีบุคลากรประเภทข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด จำนวนเพียง 14,693 คน ในขณะที่จำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษามีจำนวนสูงถึง 1,481,055 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ 1:100 จากจำนวนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางด้านอาชีวศึกษา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการผลิตแรงงานสายอาชีพเพื่อตอบสนองต่อสถานประกอบการในประเทศ เพราะฉะนั้นการเร่งผลิตครูอาชีวะให้มีคุณภาพจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ภายใต้กิจกรรมการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน หรือ บิ๊กล็อกที่ 4 ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น หวังช่วยลดปัญหาบริบททางศักยภาพแรงงานไทย

รศ.ศักรินทร์ กล่าวว่า การผลิตครูอาชีวะที่มีคุณภาพในยุคปัจจุบัน จะต้องดำเนินการไปพร้อมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคการศึกษา และ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับวงการอาชีวศึกษา โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้กับทั้งครูผู้สอนและนักเรียนอาชีวะเพื่อให้สอดรับกับโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนี้

ภาครัฐ เน้นการสร้างแรงจูงใจ ผ่านสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่ครูอาชีวะ

ภาคการศึกษา เน้นปรับสมรรถนะความรู้ทางวิชาการและทักษะในอุตสาหกรรมให้ทันกับยุคสมัย

ภาคอุตสาหกรรม/สถานประกอบการ ในฐานะผู้ทีมีประสบการณ์ในวิชาชีพและชำนาญเรื่องทักษะในสายงานจะต้องเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ การอบรม (Training) ให้กับครูผู้สอนและนักศึกษา

“การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้ สร้างประโยชน์ร่วมกันให้กับทุกภาคส่วน ทั้งด้านภาคอุตสาหกรรมที่ได้แรงงานคุณภาพ มีทักษะสูง ภาคการศึกษาได้รับประโยชน์ในเชิงความร่วมมือและการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และภาครัฐแก้ปัญหาการผลิตบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ”

รศ.ศักรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม ที่จะช่วยเสริมศักยภาพและแก้ปัญหาบุคลากรไม่พร้อมรองรับทั้งด้านจำนวนและศักยภาพในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง หรือ TIME (Total Innovation Management Enterprise) ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เป็นโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีความรู้เชิงวิชาการควบคู่ไปพร้อมกับทักษะด้านอุตสาหกรรมพัฒนา ตลอดจนสร้างรูปแบบการทำงานอันก่อให้เกิดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน การสร้างและการนำไปใช้ประโยชน์ขององค์ความรู้จนนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“สำหรับคุณสมบัติครูอาชีวะในยุคปัจจุบันนั้นต้องมีทักษะในเชิงฟาซิลิเทเทอร์ (Facilitator) หรือ ผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียน ทั้งในแง่ของการให้องค์ความรู้ทางวิชาการแก่นักเรียน และการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่มีสมรรถนะความสามารถสูงจากสถานประกอบการ เพราะฉะนั้นแล้วสถาบันการผลิตครูอาชีวะ ควรที่จะส่งเสริมให้มีการ Up-Skill Re-Skill และ Add-Skill ทักษะของครูอาชีวะให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อพัฒนาทั้งหลักสูตรและความสามารถให้ไปควบคู่กันนำไปสู่การขยายผลต่อการพัฒนาบัณฑิตอาชีวะให้มีศักยภาพสอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการในประเทศ”

รศ.ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม